วันนี้ (11 ม.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งจากหลายพื้นที่ ที่ จ.พิษณุโลก สภาพคลองบางแก้วที่เคยเป็นคลองหลักสำหรับเก็บกักน้ำทำการเกษตรใน อ.บางระกำ อยู่ในสภาพแห้งขอดจากภัยแล้ง ที่ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง นายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากขณะนี้น้ำในเขื่อนเหลือเพียงร้อยละ 39 ต้องสำรองเพื่ออุปโภค-บริโภคเท่านั้น
ที่ จ.พิจิตร ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนาน เริ่มส่งผลกระทบกับธุรกิจด้านการเกษตรที่มียอดจำหน่ายลดลงกว่าร้อยละ 50 ทำให้ผู้ประกอบการต้องงดการสต็อกสินค้าทั้ง ปุ๋ย สารเคมี เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งงดให้สินเชื่อหรือเครดิตกับเกษตรกร
ที่ อ.เมืองเชียงราย ชาวนาบางส่วนใน ต.ห้วยสัก ใช้เวลาว่างช่วงที่ไม่มีน้ำทำนา จึงหาไม้มาใช้เพาะเห็ดลมและเห็ดขอนขาว ซึ่งเป็นเห็ดประจำถิ่น ไว้กินและขายหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ชาวบ้านบอกว่าภัยแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงและมาเร็วกว่าทุกปี
ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง จำใจต้องปล่อยให้ต้นข้าวแห้งตายหลายร้อยไร่ หลังคลองธรรมชาติแห้งขอดจนสูบน้ำมาหล่อเลี้ยงนาข้าวไม่ได้ เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองเหลือน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 36 น้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา
โคกระบือในพื้นที่ ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย กว่า 1,000 ตัว กำลังขาดแคลนหญ้าสด เกษตรกรต้องใช้หญ้าแห้งและฟางแห้งที่เก็บไว้มาเลี้ยงแทน ขณะที่บางส่วน ทยอยขายก่อนกำหนดเพราะกลัวว่าภัยที่รุนแรงปีนี้ จะเลี้ยงต่อไปไม่ได้
ผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจภัยแล้งใน จ.มหาสารคาม เพื่อหาแนวทางรับมือ รวมทั้งขอความร่วมมือ เกษตรกรในพื้นที่ ให้งดสูบน้ำเพื่อการเกษตร และใช้น้ำอย่างประหยัด หลังเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีน้ำใช้ได้อีกเพียง 700 ล้านลูกบาศก์เมตร จำเป็นต้องกักเก็บไว้เพื่ออุปโภคบริโภคเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่าที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่ จ.อ่างทอง นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ขณะนี้ จ.อ่างทอง ได้รับน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนนาข้าวบางส่วนที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างหาน้ำจากบ่อทรายของชาวบ้านมาช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้