ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กปน.เตือน 11 พื้นที่เสี่ยงน้ำประปาเค็ม-กร่อย กนช.ถกนัดแรก-เยียวยาเกษตรกรวันนี้

สังคม
22 ก.ค. 58
03:30
413
Logo Thai PBS
กปน.เตือน 11 พื้นที่เสี่ยงน้ำประปาเค็ม-กร่อย กนช.ถกนัดแรก-เยียวยาเกษตรกรวันนี้

กปน.ประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11 จุด ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำประปาเค็ม วันที่ 30-31 ก.ค.2558 ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย เหลือพื้นที่ฝนแล้ง 7 จังหวัด กรมชลประทานเตรียมจ่ายน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างวันนี้ (22 ก.ค.)

วันนี้ (22 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประปานครหลวง (กปน.) ประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร รวม 11 จุด คือ สุขุมวิท, สมุทรปราการ, ทุ่งมหาเมฆ, พญาไท, สุวรรณภูมิ, บางเขน, พระโขนง, แม้นศรี, ลาดพร้าว, มีนบุรี และประชาชื่น ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำประปามีรสกร่อยและเค็มขึ้น ในช่วงวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง ระบุว่า ภาวะน้ำกร่อยในบางพื้นที่เกิดจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและผ่านพ้นช่วงวิกฤตแล้ว เพราะหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกลงมา รวมถึงมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์  คาดว่าอีก 2-3 วัน ระบบน้ำจะสมดุล ค่าความเค็มลดลงเหลือ 0.25 กรัม/ลิตร ซึ่งตามปกติค่าความเค็มจะสูงได้ไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร และน้ำประปายังคงใช้ได้ตามปกติและมีเพียงพอกับความต้องการ แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีใช้ในยามฉุกเฉิน

ปภ.เผยสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายหมดทุกจังหวัดแล้ว โดยเหลือพื้นที่ที่มีภาวะฝนแล้งเพียง 7 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ ชลบุรี สุโขทัย ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ รวม 29 อำเภอ 177 ตำบล 1,518 หมู่บ้าน ผู้ได้รับผลกระทบกว่า 190,000 ครัวเรือน

โดยกระทรวงมหาดไทย หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมชลฯ เตรียมปล่อยน้ำให้นาข้าวที่ตั้งท้อง

กรมชลประทานเตรียมจ่ายน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสิงห์บุรี โดยจะส่งน้ำให้ตามลำดับความสำคัญ เริ่มจากข้าวที่อยู่ในระหว่างตั้งท้อง สวนไม้ผล และสวนกล้วยไม้ พื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ และพื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ขณะเดียวกันจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 90-95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้อยู่ใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากที่สุด

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติประชุมนัดแรกวันนี้ (22 ก.ค.)

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จะประชุมนัดแรกเพื่อหาทางเยียวยาเกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะที่เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) ที่ประชุมครม.ออกมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง เพื่อสร้างพื้นที่เก็บน้ำเพิ่ม แก้ไขปัญหาการใช้น้ำในระยะยาว

ครม. เห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 มาตรการ โดยในปี 2557-2569 จะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม ด้วยการขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง บ่อพักน้ำในไร่นา และขยายอ่างเก็บน้ำ โดยใช้งบประมาณปี 2559 จำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลือจะใช้งบต่อเนื่องในงบปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีพื้นที่เก็บน้ำเพิ่ม แก้ไขปัญหาการใช้น้ำระยะยาว  พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องการจ้างงานและเตรียมอนุมัติงบประมาณให้จังหวัดละ 10 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการปลูกพืชทดแทน พืชหมุนเวียน แทนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนที่จะชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกข้าวและพืชอื่นๆ เป็นรายโครงการต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง