ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.มีมติลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ให้พอกินพอใช้ถึงเดือนสิงหาคม

ภูมิภาค
14 ก.ค. 58
13:54
160
Logo Thai PBS
ครม.มีมติลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ให้พอกินพอใช้ถึงเดือนสิงหาคม

คณะรัฐมนตรีมีมติลดการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่นายกรัฐมนตรีย้ำการบริหารจัดการน้ำหลังจากนี้จะใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ามีความจำเป็นที่คณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติปรับลดการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยจะเริ่มทยอยลดตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2558 จากวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นช่วงที่ฝนจะตก ส่วนภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นจะช่วยเหลือด้วยการจ้างงานและขอความร่วมมือในการลดเพาะปลูกในช่วงนี้

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้งดทำการเกษตร เพราะจำเป็นต้องนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2558 พร้อมสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมมือกับทหารและตำรวจชี้แจงทำความเข้าใจประชาชนไม่ให้สูบน้ำจากคลองชลประทานไปใช้ ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ

มีรายงานว่าเขื่อนภูมิพล ขณะนี้ระบายน้ำอยู่ที่วันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีการทยอยระบายน้ำลดลงให้เหลือวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันระบายน้ำที่วันละ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร จะทยอยลดลงเหลือวันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปัจจุบันระบายน้ำวันละ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะระบายน้ำของทั้ง 2 เขื่อนลดลงเหลือวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ยอมรับว่า แนวทางให้ลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เหลือเพียง 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึงการอุปโภค บริโภค และการผลิตน้ำประปา เป็นอันดับแรก แม้พื้นที่การเกษตรจะได้รับผลกระทบ ก็ยังยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของการบริหารจัดการน้ำ เพราะน้ำต้นทุนก่อนหน้านี้ เหลือใช้ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ให้เกษตรกรเพาะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 แต่ฝนที่ทิ้งช่วงอย่างหนักทำให้น้ำไม่เพียงพอ

สำหรับพื้นที่การเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากการคาดการณ์ของกรมชลประทานในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 800,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ดอนและพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำลุ่มน้ำแม่เจ้าพระยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง