ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คดีช่วย “บอส-วรยุทธ” สั่นสะเทือนระบบ “ยุติธรรม”

อาชญากรรม
23 เม.ย. 68
15:53
80
Logo Thai PBS
คดีช่วย “บอส-วรยุทธ” สั่นสะเทือนระบบ “ยุติธรรม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หรือศาลปราบโกง ได้พิพากษาคดี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กับพวกรวม 8 คน เป็นจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา รวมทั้ง 157 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

กรณีทำผิด เปลี่ยนแปลงพยานหลักฐาน คำให้การพยาน และความเร็วรถยนต์ จาก 177 กม.ต่อชั่วโมงครั้งแรกของพนักงานสอบสวน เป็น 79.2 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อไม่ให้ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมงที่จะมีผลทางกฎหมายต่างกัน เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ผู้ต้องหาให้พ้นผิด หรือได้รับโทษน้อยลง จากกรณีขับรถซูเปอร์คาร์ เฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

ศาลพิพากษาจำคุก นายเนตร 3 ปี และจำคุก นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส 2 ปี ฐานความผิดคดีอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนพล.ต.อ.สมยศ ในฐานะ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.ขณะนั้น กับพวก ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์

“ขังระหว่างอุทธรณ์” หมายถึง กรณีศาลยังคงมีความสงสัย จึงไม่ยกฟ้องขาด ให้ออกหมายขังจำเลย ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้จะยกฟ้องแล้ว แต่ให้ขังจำเลยจนกว่าคดีถึงที่สุด ด้วยคดีนี้ ยังต้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อ ยังไม่จบสิ้นกระบวนการศาล

ถือเป็นหนึ่งในคดีมหากาพย์ ด้วยใช้ระยะเวลายาวนานแล้ว และเป็นคดีที่คนไทยทั่วไปให้ความสนใจ รวมทั้งสื่อและชาวต่างชาติ ดังปรากฏว่า ระหว่างที่ตำรวจไทยอ้างว่าหาตัวไม่เจอ ไม่อาจประสานกับอินเตอร์โพลหรือตำรวจสากลได้

แต่ในเดือนเมษายน 2560 นักข่าวเอพี ไปดักรอสัมภาษณ์นายวรยุทธ์ บริเวณหน้าที่พักในกรุงลอนดอน ถามว่า จะกลับไทยไปรับโทษหรือไม่ แต่นายวรยุทธไม่ตอบ และเดินหนีเข้าบ้าน โดยมีบอดี้การ์ด เข้ามากันนักข่าวและไม่ให้ถ่ายรูป

คดีซิ่งรถยนต์หรูชน ด.ต.จนเสียชีวิต เหตุเกิด 3 กันยายน 2555 จะครบ 13 ปีในวันที่ 3 กันยายน 2568 และปกติ ข้อหาสุดท้ายที่ยังลุ้นกันก่อนหน้านี้ คือ ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี จะหมดอายุความวันที่ 3 กันยายน 2570

อ่านข่าว : "สมยศ" โล่งใจศาลยกฟ้องคดี "บอส อยู่วิทยา" ให้กำลังใจอดีตอัยการ

หลังจาก 3 ข้อหา ที่พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องขาดอายุความแล้วทั้งหมด ทั้งขับรถเร็วกว่าที่กำหนด ขับรถเป็นเหตุให้ทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย และขับรถแล้วไม่ลงไปช่วยเหลือแจ้งพนักงาน ส่วนข้อหาขับรถขณะเมาสุรา สั่งไม่ฟ้องตั้งแต่แรก ด้วยข้ออ้างของนายวรยุทธว่าดื่มสุรา หลังการขับชนเพราะเครียดและตกใจ

แต่ข้อหาสุดท้าย ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีการยืนยันว่า อัยการและตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ตั้งแต่ปี 2563 โดยตำรวจได้รับแจ้งว่า อัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ และตำรวจได้แจ้งให้เจ้าตัวทราบ ทั้งเพิกถอนหมายจับไปแล้ว ก่อนทีมโฆษก ตร. จะแถลงในเวลาต่อมาว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจเห็นพ้องตามอัยการ สั่งไม่ฟ้องด้วยเช่นกัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยเหตุผลได้

เท่ากับนายวรยุทธ์ถือเป็นผู้บริสุทธ์ตามกฎหมาย สามารถเดินทางกลับหรือเข้าออกประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกลัวถูกจับกุม

จึงเกิดคำถามค้างคาใจผู้คนจำนวนไม่น้อย แต่ ศ.วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. และอดีตประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 เพื่อหาความกระจ่างเรื่องนี้ ระบุว่า ยังเป็นคำพิพากษาชั้นต้น ยังมีศาลอุทธรณ์และฎีกา

ที่สำคัญ คือศาลปราบโกง ได้เผยแพร่บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษา ของนายอุเทน ศิริสมรรถการ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเห็นว่า จำเลยในคดีนี้ มีการกระทำกันเป็นขบวนการ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งจะเป็นความเห็นที่ศาลชั้นต่อไปต้องพิจารณาประกอบด้วย

สำหรับประเด็นที่หลายภาคส่วนค้างคาใจ เนื่องจากคดีนี้ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น ตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ทั้งตำรวจ คนในเครื่องแบบ นักกฎหมาย ทนายความ หรือนักวิชาการบางคน ต่างกระตือรือร้น รุมช่วยผู้ต้องหาอย่างเห็นได้ชัด มีการนัดหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์

มีพยานอ้างเห็นเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุ ซึ่งเกี่ยวโยงกับคนดังจังหวัดเชียงใหม่ บางคน ก่อนที่พยานคนดังกล่าว จะเสียชีวิตแบบผู้คนสงสัยในเวลาต่อมา ยังไม่นับเรื่องฝ่ายผู้ต้องหา ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการถึง 14 ครั้ง แทนที่จะเป็นฝ่ายผู้เสียหาย ยื่นเรื่อง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมียื่นเรื่องต่อกรรมาธิการกฎหมายฯ สนช. และมีปรากฏชื่อ สว. นักการเมืองและคนดังเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหลายคน

ไม่นับการลงนามตั้ง ศ.วิชา เป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปี 2563 และ ศ.วิชาได้ทำสรุปรายงานให้ทราบภายนกรอบ 30 วันที่กำหนด และมีระบุอักษรย่อของคนที่มีเอี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมระบุชัดในวันแถลงสรุปว่า เป็นการทำสำนวนแบบ “สมยอมไม่สุจริต” ตามทฤษฎีสมคบคิด

ส่งผลให้เกิดข้อค้างคาใจของผู้คนต่อกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้นตั้งแต่นั้น เพราะดูเหมือนจะมีในส่วนคณะกรรมการอัยการ หรือ กอ.เท่านั้น ที่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมสำหรับดำเนินการกับคนในองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ส่วนอื่น ๆ ดูจะออกในทำนองช่วยปกป้องคนในองค์กรเสียมากกว่า

คำพิพากษาของศาลในชั้นต่อไป จึงน่าสนใจและควรต้องจับตาอย่างยิ่ง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว : ศาลสั่งจำคุก 3 ปี "เนตร นาคสุข" ช่วยคดี "บอส อยู่วิทยา"

ตม.1 ตรวจไซต์งานก่อสร้างศาลฯ ไม่พบคนจีนใช้วีซา นศ.ทำงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง