ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนุรักษ์ยังไงไม่ให้สุดโต่ง “โลกนี้ไม่ได้มีแต่เรา” แต่มีอีกหลายคนที่สำคัญอยู่รอบตัว

สิ่งแวดล้อม
21 เม.ย. 68
12:42
266
Logo Thai PBS
อนุรักษ์ยังไงไม่ให้สุดโต่ง “โลกนี้ไม่ได้มีแต่เรา” แต่มีอีกหลายคนที่สำคัญอยู่รอบตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“โลกใบนี้ไม่ได้มีแต่เรา” ฟังผ่านๆ เหมือนคนไม่แคร์อะไร แต่จริง ๆ แล้วเหมือนจะเตือนสติเสียด้วยซ้ำไป

ความขัดแย้ง-มองต่างมุม-หลากความคิด กรณี “ทราย สก๊อต” ก็ยังคงเป็นประเด็นทอร์กออฟเดอะทาวน์ หลายคนมองว่า สิ่งที่ทรายทำถูกต้องแล้ว, ทรายรักธรรมชาติ, ทรายรักทะเล, ทรายปกป้องประเทศไทย, เจ้าหน้าที่หละหลวม, ไกด์ผีเกลื่อนทะเล, นักท่องเที่ยวด้อยคุณภาพ, คนขับเรือเอาแต่ผลประโยชน์ ฯลฯ

นี่คือประเด็นที่กระจัดกระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมองว่า เรื่องนี้มีหลากหลายมุมมอง และหลายคนไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งนี้ หลายคนมีเพียงความเห็น ฯลฯ

แต่ถ้าตอบแบบประนีประนอม อยากจะบอกว่า “ไม่มีใครรักโลกใบนี้น้อยไปกว่ากัน” แค่ว่าเราอยู่ตรงไหนของสถานที่นั้น เราอยู่ตรงไหนของสถานการณ์นั้น และเราทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากกว่า

บทความนี้พยายามหาข้อมูลในเชิงวิชาการ เพื่อมาตอบโจทย์ หรือเพื่อเป็นทางออกหนึ่งว่า เราจะการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรที่ “ไม่สุดโต่ง” แต่สามารถให้เกิดความสมดุลได้ “ในพื้นที่เดียวกัน”

ทั้งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ธุรกิจทัวร์ นักท่องเที่ยว ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะทุกคนต้องใช้ “พื้นที่เดียวกัน” ในการทำงาน การหารายได้ ขณะเดียวกันยังต้องอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้วย

แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ “ไม่สุดโต่ง” สามารถสร้างความสมดุล อยู่ร่วมกันได้ และ “สมประโยชน์ร่วมกัน” ทั้งระหว่าง นักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ธุรกิจทัวร์ นักท่องเที่ยว และชาวบ้านในพื้นที่ มีหลายแนวทางที่นำมาใช้ได้จริง

1.การจัดการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Management)

โดยให้ทุกฝ่ายที่ใช้พื้นที่มีส่วนร่วมในการวางแผน ใช้ และดูแลทรัพยากรร่วมกัน หรือง่ายๆ ก็คือ หากจะต้องทำอะไรขึ้นมา ควรมีการหันหน้ามาพูดคุยกัน หรือนั่งโต๊ะคุยกันทุกฝ่าย
- เปิดเวทีประชุมพูดคุยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ชุมชน ธุรกิจท่องเที่ยว และนักอนุรักษ์
- รับฟังปัญหา ความต้องการ และมุมมองของแต่ละกลุ่ม แต่ละคน
- ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

2.การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable Use)

- ไม่ห้ามใช้ แต่ใช้ให้พอดี และมีระบบควบคุมที่ดี
- จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว (carrying capacity) ให้เพียงพอหรือพอดีในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- ใช้ระบบโควตา เช่น จับสัตว์น้ำตามฤดู ห้ามจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่
- สนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น เดินป่า ดำน้ำ ดูนก วิถีชีวิตชุมชน

3.แบ่งปันประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Benefit Sharing)

- ชุมชนท้องถิ่นควรได้รับผลตอบแทนจากการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว เพราะชุมชนก็มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของพวกเขาเองด้วย
- ตั้งกองทุนหมู่บ้าน จากรายได้การท่องเที่ยว เพราะชาวบ้านทุกคนอาจไม่ได้ประกอบกิจการท่องเที่ยว แต่เขาก็มีส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเขาด้วย
- จ้างคนในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์ พนักงานดูแลอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันในแทบทุกพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว
- ส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น เช่น ของที่ระลึก อาหารพื้นเมือง

4.ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก (Environmental Education)

- สร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
- จัดกิจกรรมสื่อสาร เช่น ดำน้ำดูปะการัง, เดินป่าศึกษาธรรมชาติ, ค่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
- ใช้สื่อออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ ด้วยการให้ข้อมูลเชิงบวก หรือการท้วงติงอย่างสร้างสรรค์
- ใช้การเล่าเรื่อง หรือเนื้อหา ให้คนรู้สึกผูกพันกับพื้นที่ ทั้งพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่โดยรอบ (Buffer Zone)

5.มีกฎกติกา หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

มีกฎกติกาและระเบียบที่ชัดเจน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
- ไม่ใช้มาตรการแบบ “ห้ามหมด” หรือ “ปล่อยหมด” หรือที่เราเรียกว่า “สุดโต่ง” หรือ “สุดขั้ว” ก่อนหน้านี้หลายครั้งในประเทศไทย เคยมีข้อโต้แย้งในประเด็นลักษณะนี้มาแล้ว เช่น คนอยู่กับป่าได้หรือไม่ หรือในป่าอนุรักษ์ไม่ควรมีคนอาศัยอยู่ ทั้งที่ป่าหลายพื้นที่ก็มีคนท้องถิ่นอาศัยอยู่ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วยซ้ำไป
- แม้จะมีกฎหมายหรือระเบียบ ก็สามารถปรับได้ตามสถานการณ์ เช่น กรณีเกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยพิบัติ เช่น ฝนตกหนัก ดินถล่ม คลื่นลมแรง ฯลฯ ในแต่ละพื้นที่ก็สามารถมีประกาศเป็นการเฉพาะได้ หรือ ในบางจุดที่เสี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่า สัตว์ทะเล ก็สามารถห้ามนักท่องเที่ยวได้ เป็นต้น
- มีระบบติดตามตรวจสอบ (Monitoring) และปรับปรุงแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติ เป็นระยะ เพื่อให้ทันสมัย และทันต่อเหตุการณ์

6.มีรายละเอียดเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่

- จัดโซนพื้นที่ (Zoning) เพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น โซนอนุรักษ์ (ห้ามเข้า), โซนท่องเที่ยว, โซนใช้ประโยชน์ร่วมกัน, โซนประโยชน์ใช้สอย (กรณีป่าชุมชน)
- มีเวลาเปิด-ปิด ให้ชัดเจน โดยใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น ติดตั้ง GPS, ทำแอปพลิเคชัน จองเพื่อเข้าท่องเที่ยว-ใช้ประโยชน์ล่วงหน้า
- รายได้จากนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง นำไปบริหารจัดการชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากมองกรณีความสมดุลในการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีหลายกลุ่มใช้งานร่วมกัน เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน นักท่องเที่ยว ดำน้ำ ธุรกิจเรือทัวร์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และนักอนุรักษ์

ซึ่งหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน มีปัจจัยหรือบริบทที่อาจจะแตกต่างจากที่อื่น ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันด้วยเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น
- ชุมชนดั้งเดิมที่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน จะต้องทำอย่างไร หากปัจจุบันทะเลหลายพื้นที่ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลแล้ว
- ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น เช่น การดำน้ำดูปะการัง พายเรือคายัก ว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน อาจส่งผลกระทบต่อปะการัง และสร้างขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้นจะจัดการอย่างไร
- นักอนุรักษ์อาจมองว่า ฤดูท่องเที่ยวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรประกาศปิดพื้นที่เพื่อฟื้นฟูบ้าง แต่ชาวบ้านก็เกรงว่าจะสูญเสียรายได้
- เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ มองว่าทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

หรือหากมองกรณีการท่องเที่ยว ก็อาจจะใช้หลักการหรือวิธีการเช่นที่กล่าวมา ทั้งการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย, การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ, การจัดโซนนิ่ง เพื่อดูแลพื้นที่, การควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว, การจัดการความสะอาด, การจัดการความปลอดภัย และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการ “เปิดใจ” และ “ใช้หลักการ” ร่วมกันมากน้อยแค่ไหนเพราะถึงที่สุดแล้วทุกคนที่นั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกัน ก็ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ เหมือนกัน

- คนในชุมชนต้องการพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ต้องการมีรายได้เลี้ยงปากท้อง
- นักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวในสถานที่สวยงาม อย่างมีความสุข
- อุทยานแห่งชาติต้องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เสียหาย
- นักอนุรักษ์ต้องการให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ทุกคน

ฉะนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นบนบกหรือทะเล ก็จำเป็นต้องมีการจัดการที่สมดุล ระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น

เรื่องนี้ไม่มีใครถูก-ไม่มีใครผิด แต่สิ่งใดก็ตามที่มีเจ้าของตั้งแต่สองคนข้นไป จะตัดสินใจทำสิ่งใด ต้องท่องไว้เสมอ “โลกนี้ไม่ได้มีแต่เรา” (ที่เป็นเจ้าของ)

เรียบเรียง : เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ชงปลด “ทราย สก๊อต” พ้นที่ปรึกษาอธิบดีอุทยานฯ

เบื้องหลังดรามา" ทราย สก๊อต" ที่ปรึกษาบิ๊กอุทยานฯ ทำเกินหน้าที่

ดรามา "ทราย สก๊อต" บิ๊กอุทยานฯ ยันยังไม่ปลดพ้นที่ปรึกษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง