ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐบาลเปิด "5 มาตรการ" บรรเทาผลกระทบภาษีสหรัฐฯ

การเมือง
20 เม.ย. 68
18:18
142
Logo Thai PBS
รัฐบาลเปิด "5 มาตรการ" บรรเทาผลกระทบภาษีสหรัฐฯ
รัฐบาลเปิด 5 มาตรการ บรรเทาผลกระทบภาษีสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ฝ่าวิกฤตการส่งออก ขณะที่ "ศิริกัญญา" แนะรัฐบาลแพทองธาร กลับไปพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านบาท ก่อนนำเข้าพิจารณาวาระแรก ในวันที่ 28-30 พ.ค.นี้

วันนี้ (20 เม.ย.2568) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออก 5 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวน 3,700 ราย จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ

5 มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1. จัดตั้งคลินิกผู้ประกอบการ (Export Clinic) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ทั้งผู้นำเข้าและส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนทางการเงิน ด้วยมาตรการเยียวยาผ่านการขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุด 365 วัน รวมถึงมาตรการเสริมสภาพคล่องและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2.ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการผ่านช่องทางการติดต่อของธนาคาร รวมทั้งให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาษีแบบตอบโต้ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ

3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ในการนี้ EXIM BANK มีสินเชื่อเพื่อการร่วมงานแสดงสินค้า และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการส่งออก พร้อมเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกไทยด้วยการให้ความคุ้มครอง 75% ของมูลค่าความเสียหายกรณีผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า 4.สนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในระยะถัดไป

และ 5. สนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2567 ไทยมีมูลค่าส่งออก 300,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 18% ของมูลค่าส่งออกรวมเป็นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจำนวน 3,700 รายจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้สามารถรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดและเติบโตอย่างมั่นคงในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ

"ศิริกัญญา" แนะรัฐ ทบทวนกฎหมายงบฯ รับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตถึงการปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK กว่าแสนล้านบาท จะครอบคลุม SMEs ที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมถึงการให้สินเชื่อควรทำเพื่อไปหาตลาดใหม่ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยอาจจะให้ธนาคารอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกันรัฐควรใช้มาตรการที่ส่งเสริม SMEs ผ่านการออกบูธ หรือ โปรโมทสินค้าในต่างประเทศ

รองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุถึง การที่รัฐบาลส่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีมเจรจากำแพงภาษีสหรัฐฯ ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ อาจยังไม่น่าจะเห็นผลได้เร็วหรือจะต้องใช้เวลากว่า 2-3 เดือน ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ย ตามกรอบที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศชะลอกำแพงภาษี 90 วัน จึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่า จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงต่อหรือไม่

น.ส.ศิริกัญญา ยังเสนอแนะรัฐบาล น.ส.แพทองธาร นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ตามกรอบวงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระแรก ในวันที่ 28-30 พ.ค.นี้ กลับไปพิจารณาปรับแก้ให้สอดคล้องกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เพราะเท่าที่ดูเนื้อหาการของบประมาณ ยังคงเป็นไปตามกรอบเดิม หรือ โจทย์เดิม เท่านั้น

อ่านข่าว : องค์กรต้านคอร์รัปชันฯ จี้นายกฯ ตอบ 5 ข้อ กรณีตึก สตง.ถล่ม

“คะเรนนี” จับมือ “ไทใหญ่” ต่อสู้กับทหารเมียนมา

“นิด้าโพล” ระบุ “แพทองธาร” ควรปรับครม.เร็วที่สุด กระทรวงแรกสุดคือ “พาณิชย์”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง