ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา! โควิดหลังสงกรานต์เสี่ยงพุ่งเทียบชัดปี 67 เตือนกลุ่มเสี่ยง

สังคม
14 เม.ย. 68
08:06
4,058
Logo Thai PBS
จับตา! โควิดหลังสงกรานต์เสี่ยงพุ่งเทียบชัดปี 67 เตือนกลุ่มเสี่ยง
"หมอยง" เตือนโควิด 19 หลังสงกรานต์เสี่ยงตัวเลขพุ่ง เหตุคนรวมตัวทำกิจกรรมทั้งเล่นน้ำ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เทียบชัดปี 2567 ตัวเลขสูงขึ้น แนะกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง แต่แนวโน้มเสียชีวิตต่ำ ไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่

วันนี้ (14 เม.ย.2568) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า  โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์

จากข้อมูลของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ลัย ได้ทำการศึกษาฤดูกาลระบาดของโควิด 19 ในปีที่แล้ว 2567 จะเห็นได้ชัดเจนมากดังแสดงในรูปที่ได้ทำการศึกษาตลอดปีมากกว่า 8,000 คน

การระบาดไม่เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไปที่มักจะระบาดในฤดูฝน หรือหลังเปิดเทอมของนักเรียน เช่นไข้หวัดใหญ่ แต่โควิด 19 การระบาดจะเกิดขึ้นก่อนตั้งแต่เดือนเม.ย. และระบาดมากในช่วงสงกรานต์ เพราะมีการรวมคนหมู่มาก

เทศกาลสงกรานต์ จะเป็นเทศกาลที่มีการรวมคนหมู่มาก มีการเคลื่อนย้ายของประชากรสูง มีการรดน้ำดำหัว ขอพรผู้สูงอายุ ที่อาจจะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้

ภาพกราฟของโควิดหลังช่วงสงกรานต์  (เพซบุ๊ก :Yong Poovorawan)

ภาพกราฟของโควิดหลังช่วงสงกรานต์ (เพซบุ๊ก :Yong Poovorawan)

โรคโควิด 19 ติดต่อได้ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ แต่ความรุนแรงในปัจจุบันนี้ ไม่แตกต่างกัน โอกาสที่จะลงปอดเกิดขึ้นได้น้อย และอัตราการเสียชีวิตในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ถ้าเปรียบเทียบกับการระบาดในปีแรกๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับโรคไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน

หลังเทศกาลสงกรานต์คงจะมีผู้ป่วยเป็นโควิด 19 เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษา ก็รักษาตามอาการ ยกเว้นผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่องผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน คนท้อง ที่อาจจะจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส หรือดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน

กิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

กิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

กิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย พบว่าสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย JN.1* ยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก พบจำนวน 1,454 คน คิดเป็นสัดส่วนสะสม 64.97% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในไทย ส่วนสายพันธุ์ XEC* และ LP.8.1* สัดส่วนที่พบยังคงน้อยกว่า 10% สายพันธุ์ KP.2, KP.3.1.1 และ LB.1 เริ่มพบตั้งแต่ช่วงต้นปีและมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัดส่วนที่พบของแต่ละสายพันธุ์ยังน้อยกว่า 10% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมมือกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลกลาง GISAID อย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันประเทศไทยเผยแพร่จีโนม จำนวนสะสม 47,494 คน นับตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเดือน ม.ค.2563 ถึง 31 มี.ค.ที่ผ่านมา

อ่านข่าว

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด - โอมิครอน JN.1 ไทยพบ 64.97%

 สภาพอากาศวันนี้ "เหนือ-กลาง" พายุฝนฟ้าคะนอง-ลมแรง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง