"วันไหลสงกรานต์" คืออะไร มีที่มาและความเชื่อ อย่างไร
"วันไหล" แต่เดิมเรียกว่า "ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล" ถือเป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อกันมาในภาคตะวันออก และภาคกลางบางจังหวัด จะจัดขึ้นหลังจาก "วันสงกรานต์" (13-15 เมษายน) ในแต่ละพื้นที่อาจมีการจัดงานในวันที่ต่างออกไป
นิยมจัดกิจกรรมก่อเจดีย์ทรายบริเวณริมทะเล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในบางพื้นที่จะมีการขุดทรายตามแหล่งน้ำ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทราย เรียกว่า "ก่อพระทรายน้ำไหล" แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเพณีนี้เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา การขนทรายเข้าวัด เปลี่ยนสภาพเป็นการซื้อทรายเข้าวัดแทน ต่อมา จึงถูกเรียกชื่อแตกต่างไป เป็น "วันไหล" หรือ "ประเพณีวันไหล"
แต่ยังคงไว้ซึ่งกิจกรรม ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป การก่อพระเจดีย์ทราย การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การเล่นสาดน้ำและการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ช่วงรำ มวยทะเล รวมถึงการจัดกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ โดยมีการปรับตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ในช่วงวันไหล ผู้คนจะออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมักจะมีการสาดน้ำ การเล่นน้ำด้วยปืนฉีดน้ำ หรือการใช้ขันน้ำสาดใส่กัน นอกจากนี้ยังมีขบวนแห่และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เทศกาลนี้มีความคึกคักและสนุกสนานยิ่งขึ้น
วันไหลสงกรานต์เกิดขึ้นในหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง และอื่น ๆ ซึ่งมีการจัดงานเพื่อให้การเฉลิมฉลองสงกรานต์ยังคงดำเนินต่อ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายทะเลหรือเมืองที่มีการท่องเที่ยวมากมาย
- พิกัดงาน "สงกรานต์ 2568" ทั่วไทย - กรุงเทพมหานคร มีที่ไหนบ้าง
- วิธีเอาตัวรอด เซฟชีวิต เมื่อต้องอยู่ใน "ฝูงชนเบียดเสียด"
รวมพิกัดงาน "วันไหลสงกรานต์ 2568" มีจังหวัดไหนจัดบ้าง
วันไหลสงกรานต์ จังหวัดชลบุรี ปี 2568
ที่เมืองพัทยาและบางแสน เตรียมจัดกิจกรรม วันไหลสงกรานต์ 2568 ที่เต็มไปด้วยความสนุกจากการเล่นน้ำ โดยเฉพาะที่ชายหาดและถนนสายหลัก เริ่มต้นที่ วันไหลพัทยา - นาเกลือ ที่มาพร้อมกิจกรรมสุดมันส์ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาสัมผัสบรรยากาศควันหลงการสาดน้ำแบบจัดเต็ม ร่วมกิจกรรมประเพณีดั้งเดิม และสนุกไปกับประเพณีไทย พิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และกิจกรรมการละเล่นท้องถิ่น ซึ่งพัทยานิยมเล่นน้ำกันในวันที่ 18 – 19 เม.ย.ของทุกปี
วันไหลพัทยา - นาเกลือ 2568
ปีนี้เมืองพัทยาจัดงานประเพณีวันไหลนาเกลือ ในวันที่ 18 เม.ย. ณ สวนสาธารณะลานโพธิ์นาเกลือ มีกิจกรรม พิธีตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ ในช่วงเช้า ขบวนรถบุปผชาติและขบวนแห่พระพุทธรูป เคลื่อนออกจากสวนสาธารณะลานโพธิ์ (แห่รอบบริเวณตลาดนาเกลือ) ให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล
กำหนดการเดินแบบ One way ในช่วงการเล่นน้ำพื้นที่นาเกลือ ตั้งแต่เวลา 14.30-21.30 น. ดังนี้
- ถนนสว่างฟ้า เดินรถทางเดียว จากถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าแยกนำชัย
- ถนนนาเกลือ เดินรถทางเดียว จากแยกนำชัย มุ่งหน้าแยกโพธิสาร
- ถนนโพธิสาร เดินรถทางเดียว จากแยกโพธิสาร มุ่งหน้าถนนสุขุมวิท
- ถนนโพธิ์งาม เดินรถทางเดียว จากแยกลานโพธิ์ มุ่งหน้าแยกมูลนิธิสว่างบริบูรณ์
และในวันที่ 19 เมษายน 2568 ประเพณีวันไหลพัทยา ณ วัดชัยมงคล (พระอารามหลวง)
ช่วงเช้า จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์, พิธีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ - ขบวนรถบุปชาติและขบวนแห่พระพุทธรูป ซึ่งจะเคลื่อนออกจากวัดชัยมงคลไปตามถนนพัทยาสาย 2 จนถึงถนนพัทยากลาง แล้วเลี้ยวลงถนนเลียบชายหาดมุ่งหน้าตรงไปเพื่อเลี้ยวซ้ายกลับสู่วัดชัยมงคลฯ
จะมีการปิดการจราจรบริเวณแยกพัทยาเหนือ, พัทยากลาง, พัทยาใต้ และแยกเทพประสิทธิ์ รวมทั้งปิดการจราจรบริเวณแยกท้อปฯ ลงไปถนนเลียบชายหาด จนถึงหน้าวัดชัยมงคลฯ ซอย 7 - ซอย 13/4 ระหว่างเวลา 15.00 - 24.00 น. พร้อมห้ามจอดรถทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 06.00 -01.00 น.
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน 2568
เทศบาลเมืองแสนสุข ได้กำหนดจัดงานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน ประจำปี 2568 ในระหว่างวันที่ 16-17 เม.ย. ณ บริเวณชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี แล้วมีกิจกรรมอะไรบ้าง
วันพุธที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 07.00 น. - เริ่มการประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน, เวลา 10.00 น. - การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน มวยทะเล(รอบคัดเลือก), เวลา 11.00 น. - สรงน้ำ ปิดทอง พระพุทธรูป ในส่วนของกิจกรรมเวทีหลัก จะมีการแสดงของศิลปินชื่อดัง
วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 ช่วงเช้า ทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน (รอบชิงชนะเลิศ) มวยทะเล วิ่งเปรี้ยว ชักเย่อ สะบ้า ช่วงรำ วิ่งสามขา การแกะหอยนางรม นอกจากนี้ ยังกิจกรรม การแสดงต่าง ๆ บนเวที ทั้งการแสแสดงพื้นบ้าน และการแสดงของศิลปิน ชื่อดังมากมาย
วันไหลสงกรานต์ พระประแดง ปี 2568
"ประเพณีสงกรานต์พระประแดง" ที่หลายคนเรียกว่า "วันไหลพระประแดง" ปีนี้งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จัดเต็ม 3 วัน ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า
สงกรานต์พระประแดง 2568 ปีนี้ขนขบวนแห่สุดอลังการมาอย่างหลากหลาย ขบวนแห่นางสงกรานต์ ซึ่งลักษณะและรูปแบบของรถสงกรานต์ จะประกอบด้วยตัวสัตว์ประจำปี ตัวพญานาค จามร ที่ประดิษฐานเศียรของท้าวมหาพรหม
- ขบวนแห่รถบุปผาชาติ ที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ที่สวยงามตระการตา โดยมีสาวมอญของแต่ละหมู่บ้านนั่งประจำบนรถ ในขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงเป็นประจำทุกปี
- ประเพณีแห่นก - แห่ปลา จัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ร่วมในขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ เพื่อไปทำพิธีปล่อยนก ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม
- การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเน้นความสนุกสนานรื่นเริง จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์ไปด้วย โดยผู้ได้รับตำแหน่งนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชายจะต้องร่วมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง และจะต้องร่วมเล่นสะบ้าโชว์ตามบ่อนสะบ้ารามัญในชุมชนต่าง ๆ
- กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) (มอญ) เรียกว่า (ว่อน-ฮะ-นิ) สะบ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นิยมเล่นทั่วไปตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าได้ลดความนิยมลงจนหาดูได้ยาก
- กิจกรรมการกวนกาละแมขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า "กวันฮะกอ" หรือที่คนไทยเรียกว่า "กาละแม"
- กิจกรรมกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ การละเล่นร้องเพลงรำประกอบเพลงพื้นบ้านของชาวมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ เปิงมาง ปี่ ซออู้ ซอด้วง กลองเล็ก
- กิจกรรมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์จุดสำคัญที่สุด คือการเปิดอุโมงค์ใต้ป้อมแผลงไฟฟ้า ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าชมฟรี
- กิจกรรมพิธีทำบุญเมืองและบวงสรวงรัชกาลที่ 2
หากใครยังไม่มีแพลน ชวนกันไปสนุกกัน งานวันไหลสงกรานต์ 2568 ในพื้นที่ต่างๆ ได้เลย โดยทุกคนจะได้สัมผัสมนต์ความสนุก เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละพื้นที่ และสาดน้ำคลายร้อนกันให้ชุ่มฉ่ำ แล้วเจอกัน
อ่านข่าว
สนุกสุดเหวี่ยงไม่เสี่ยงคุก! เซฟตัวเองเล่นน้ำสงกรานต์ 2568