เป็นแผ่นดินไหวด้านเศรษฐกิจ สำหรับการประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน 10 % สินค้านำเข้าสหรัฐ และภาษีตอบโต้ 36-37 % สำหรับประเทศไทย โดยผู้นำคนใหม่แต่หน้าเดิม โดนัลด์ ทรัมป์ ต่างกันเพียงแผ่นดินไหว 28 มี.ค. ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ แต่แผ่นดินไหวด้านเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นที่ทราบกันล่วงหน้า เพียงแต่ตัวเลขสูงกว่าที่คาดคิด
ไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ ปี 2567 เฉพาะแค่ 11 เดือนแรก ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯมากถึง 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับจากอันดับ 12 เมื่อปี 2566 ทั้งปี ที่เกินดุลกับสหรัฐฯที่ 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นเป้าที่ชัดเจนว่าโดนแน่ ๆ
นอกจากนี้ ไทยยังโดนอุ่นเครื่องข้อหาหมั่นไส้จากสหรัฐ กรณีส่งชาวอุยกูร์ 40 คนกลับประเทศจีน ด้วยการประกาศคว่ำบาตรวีซาเจ้าหน้าที่ไทย เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และอาจขยายลามปามถึงฝ่ายการเมืองไทยก็เป็นไปได้
แม้อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย นายทักษิณ ชินวัตร จะแสดงความมั่นใจผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไม่น่าหนักใจ เพราะเป็นผลจากสหรัฐไม่มีข้อมูลที่อัพเดท (ข้อมูลล่าสุด) ต้องใช้ช่องทางการทูตในการเจรจา ได้มีการพูดคุยกัน เชื่อว่าสหรัฐจะเข้าใจ
นายทักษิณ ยังคำพูด Nothing is permanent แปลว่าไม่มีอะไรจริงจังถาวร ซึ่งแนวทางพึ่งพาการเจรจา ก็สอดคล้องกับท่าทีของนายกฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ออกแถลงการณ์เรื่องนี้
โดยตอกย้ำรัฐบาลไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องดังกล่าว ทั้งยืนยันว่าไทยได้ส่งสัญญาณพร้อมจะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย มีมอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่แต่งตั้งขึ้น เมื่อต้นปี 2568 ก่อนทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ” ที่มีสาระเพียงพอให้สหรัฐฯเกิดแรงจูงใจสำหรับเจรจากับไทย
นัยเท่ากับว่า ยังไม่ได้มีการขยับหรือหารือเจรจาเกิดขึ้น นอกจากขั้นตอนจัดเตรียมข้อมูลที่ใช้เวลานานถึง 3 เดือน
จึงเป็นประเด็นคำถาม เรื่องจังหวะก้าวและการเปิดเกมรุกที่ควรต้องเร็วแข่งกับเวลาของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก และทราบกันดีว่า รายได้หลัก 2 ขา เข้าประเทศของไทยนั้น มาจากการส่งออกสินค้า และจากการท่องเที่ยว ซึ่งอย่างหลัง นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ก็ถดถอยลงไปจากเดิมมาก และหลายประเทศใช้มาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนแข่งกับไทย
ยังไม่นับการพูดถึงหัวหน้าทีมเจรจาของไทย ที่นายกฯ บอกว่า เป็นระดับปลัดกระทรวงพาณิชย์และปลัดกระทรวงการคลัง ทั้งที่จะขอเจรจากับรัฐบาลสหรัฐที่เป็นผู้นำโลก
มาตรการกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อไทยมหาศาล ถึงขั้นที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง ยังยอมรับว่า จะกระทบต่อจีดีพีของไทย ราว 1 % แนวทางการรับมือ คือต้องทำให้การส่งออกของไทยเข้มแข็งขึ้น โดยหาตลาดส่งออกใหม่ ซึ่งความจริงแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนผลพวงจากโควิด 19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลทุกชุด ก็พูดทำนองเดียวกัน คือต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ
รัฐมนตรีหลายคน ได้อ้างเรื่องหาตลาดใหม่ๆ บินไปต่างประเทศบ่อย จนบางคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไปถูกประเทศหรือไม่ เพราะตลาดแคบเกินไป และจนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้ผลตามเป้า เพราะเศรษฐกิจโลกเองก็มีปัญหาจากหลายปัจจัย
วิกฤตส่งออกจากมาตรการภาษีสหรัฐครั้งนี้ จึงจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือความสามารถของนายกฯ น.ส.แพทองธาร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะเป็นช่วงเวลา “นารีขี่ม้าขาว” นำพาประเทศฝ่าวิกฤติที่เป็นเรื่องระดับโลก และไม่น้อยกว่า 50 ประเทศต้องเผชิญเหมือนกันหมด จึงเป็นภารกิจที่ใหญ่กว่า สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยเป็น “นารีขี่ม้าขาว” สู้กับภัยน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 พร้อมกับวลี “เอาอยู่” ที่สุดท้าย ที่ยังกลายเป็นวลีที่ผู้คนจดจำถึงทุกวันนี้
และถึงแม้จะมีนายทักษิณ คอยช่วยอยู่ข้างๆ และต้องออกแรงช่วยเต็มที่อยู่ข้างๆ ก็ตาม แต่จะนำพาประเทศ เอาชนะศึกใหญ่ครั้งนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตา ต้องว่ากันอีกยาว
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อีกส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ผู้นำรัฐบาลต้องเพิ่มเข้มข้นจริงจังมากกว่าเดิม อย่างกรณีแผ่นดินไหว นายกฯอาจเริ่มต้นได้ดี ยกเลิกภารกิจที่ภูเก็ตบินกลับกรุงเทพฯ ลงไปดูพื้นที่อาคารสตง.ถล่ม ออกทีวี และตำหนิ ปภ.กับ กสทช. เรื่อง เอสเอ็มเอสล่าช้า
แต่ประเด็นที่กูรูทางการเมืองหลายคน เห็นตรงกันว่า คือขาดความเข้มข้นเด็ดขาดแบบเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนเสียความรู้สึกอย่างมาก เท่ากับสุดท้าย ไม่แคล้วส่อเค้าถูกมองว่าเป็นเพียงสร้างภาพให้ดูเอาจริงเอาจัง แต่กลับไม่กล้าลงโทษอะไร
แล้วจะไปแก้ปัญหาระดับโลกได้อย่างไร
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : "แผ่นดินไหว"ไม่กระทบเงินเฟ้อ สนค.ชี้ 95% ราคาสินค้ายังปกติ