เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2568 เฟซบุ๊ก “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมระบุว่า ได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและจะชี้แจงให้ทราบโดยเร็ว
โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นมากกว่า 6,000 ข้อความและเเชร์ออกไปมากกว่า 8,000 ครั้ง โดยบางส่วนเรียกร้องให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบโครงการรับเหมาของหน่วยงานตัวเอง รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง. กล่าวว่า กำลังรวบรวมข้อมูลให้สื่อมวลชนรับทราบในเร็วๆ นี้ ส่วนการแถลงข่าวต้องรอผลการตรวจสอบของคณะตรวจสอบที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รายงานภายใน 5 วันก่อน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุพบข้อผิดปกติอาคาร "สตง." ถล่ม
มีข้อสังเกตจากนายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ซึ่งระบุว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ ซึ่งได้ทักท้วงมาโดยตลอด เเละเมื่อเดือน ม.ค.2568 สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้างมาครั้งหนึ่ง
รวมถึงปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น เเต่ได้รับเชิญภายหลัง
“อัยการ” ชี้ บ.ผู้รับจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแรงงาน-สร้างตึกใหม่
ส่วนคำถามว่าใครจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก่อสร้างและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น มีความเห็นส่วนตัวของนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กอธิบายว่า ตึกดังกล่าวมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างจากการเสนอราคาต่ำสุดด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท
หากเป็นการทำสัญญาตามปกติของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งกรณีตึกถล่ม ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากการที่ตึกถล่มลงมาเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง หรือเหตุสุดวิสัยจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งหากยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง จะเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง.ไม่ได้ เว้นแต่การที่ตึกถล่มพังลงมานั้นเกิดจากความผิดของ สตง.
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อคนงาน ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคนที่จ้างมาทำงาน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ดังนั้นคนงานที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ก็จะได้รับเงินเยียวยาความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้รับจ้างทำไว้ให้
อ่านข่าว
กทม.อัปเดตตึก สตง.ถล่มพบเสียชีวิตแล้ว 10 คน ยังเน้นหาคนหาย
Traffy Fondue รับแจ้งความกังวลรอยร้าวอาคารแล้ว 5,500 เคส
“กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3” ส่งกำลังใจ เมียนมายอดตายพุ่ง 1,600 คน