วันนี้ (29 มี.ค.2568) วิศวกรอาสากว่า 200 คน ที่เดินทางมาตามคำเชิญของกรุงเทพมหานคร รวมตัวกันและแบ่งกำลัง 20 กลุ่ม กลุ่มละ 7-10 คน กระจายลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคารในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เพื่อประเมินโครงสร้างความเสียหายตามที่ได้รับแจ้งจากประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue
จากข้อมูลพบว่ามีประชาชนแจ้งพิกัดและถ่ายภาพความเสียหายส่งผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่า 1,000 รายการ ในจำนวนนี้มีกว่า 700 รายการที่อยู่ในเคสสีเหลือง และต้องลงพื้นที่ไปประเมินความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาหาข้อสรุปอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พื้นที่รอบนอกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นพบว่ามีอาคารสูง 200 แห่ง ที่ต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและดูแนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้จะอยู่ในย่านดินแดง-ห้วยขวาง โดยพบว่ามีคอนโดมิเนียม 2 แห่งย่านลาดพร้าว ที่ต้องอพยพคนออกทั้งหมด ไม่สามารถให้เข้าพักอาศัยได้ เพราะโครงสร้างไม่ปลอดภัย
ส่วนกรณีเครนหล่นจากคอนโดสูงที่กำลังก่อสร้าง จนมีชิ้นส่วนกีดขวางการจราจรบริเวณทางด่วนดินแดง ขณะนี้ยังไม่เปิดการจราจร เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเข้าเก็บชิ้นส่วนที่กีดขวางเส้นทาง รวมทั้งเร่งนำเครนลงมาจากอาคาร
นอกจากนี้ พบว่ามีประชาชนกว่า 300 คน เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะที่เปิดให้เข้าพัก โดยกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดให้บริการอีก 1 คืน หากพบว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ด้านกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยประสานงานกับสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร ในการเตรียมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร เน้นอาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นลำดับแรก หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย จะเสนอให้ระงับการใช้อาคารและดำเนินการปรับปรุงให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ก่อนเปิดใช้อาคารต่อไป
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) เริ่มตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอแล้วจำนวน 3 หน่วยงาน 9 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 3 อาคาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 2 อาคาร และโรงพยาบาลเลิดสิน 4 อาคาร โดยจะประชุมวางแผนกำหนดแนวทางตรวจสอบอาคารร่วมกัน และตรวจสอบอาคารเพิ่มเติมอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ อาคารกระทรวงพาณิชย์ อาคารกระทรวงมหาดไทย อาคารสำนักงบประมาณ อาคารทำเนียบรัฐบาล อาคารคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ อาคารกรมศุลกากร (คลองเตย) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และกรมสรรพากร (อารีย์)
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง แนะนำให้เจ้าของอาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ที่เป็นของภาคเอกชน ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของการเข้าใช้อาคารตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคาร ต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ตามช่องทางที่กำหนด
ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้ง เพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคาร โดยให้รวบรวมวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาในพื้นที่เข้าร่วมตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน
อ่านข่าว : ปภ.เผยพบสัญญาณชีพ 15 คนติดใต้ซากตึกถล่ม - จนท.เร่งช่วย