วันนี้ (26 มี.ค.2568) รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยผลสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย ปี 2568 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 225,963 ครัวเรือน หรือกว่า 533,024 คน ครอบคลุม 7,429 ตำบลทั่วประเทศ พบว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป มีอัตราการรู้หนังสือเพิ่มขึ้น อยู่ที่ ร้อยละ 98.83 โดยเพิ่มมาจากปี 2561 เกือบร้อยละ 5 และเมื่อนำผลสำรวจนี้ มาจัดอันดับใหม่ ไทยจะขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน
ขณะเดียวกันผลการสำรวจใหม่ จะส่งผลให้การจัดอันดับการรู้หนังสือของคนไทยในระดับนานาชาติ หรือ IMD (International Institute for Management Development) ขยับขึ้นเช่นกัน จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 59 อาจขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 37 ซึ่งสภาการศึกษาจะรีบส่งผลสำรวจใหม่ให้กับยูเนสโก เพื่อใช้พิจารณาในการจัดอันดับในครั้งต่อไป
สำหรับอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 1.17 และอายุ 7 ปีขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 1.16 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะการลืมหนังสือ และกลุ่มไม่มีงานทำ

ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา
ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา
หากแยกตามจังหวัด จะพบว่า มีอัตราการไม่รู้หนังสือน้อยกว่าร้อยละ 1 จำนวน 51 จังหวัด , อัตราไม่รู้หนังสือ ร้อยละ 1-5 มีจำนวน 25 จังหวัด และ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดเดียวที่มีประชากรไม่รู้หนังสือสูงสุดถึงร้อยละ 10 เนื่องจากการเข้าถึงการศึกษามีความยากลำบาก และความเป็นชาติพันธุ์ จึงอาจทำให้มีปัญหาในการอ่านออก เขียนได้
"คนไทยอ่านได้ แต่เราต้องไปเพิ่มเรื่องคุณภาพการอ่าน เช่น การอ่านคิดวิเคราะห์ การอ่านเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรื่อง เพราะมีปัจจัยเห็นข้อความยาวไป ก็จะไม่อยากอ่าน"
กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เตรียมร่วมกับท้องถิ่น ฟื้นคืนห้องสมุดประชาชนกลับมา เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรู้หนังสือและการอ่านที่มากขึ้น และจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกันของชมรมผู้สูงอายุ มีการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
และหลังจากนี้ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จะนำเสนอต่อกรรมการสภาการศึกษา ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา
อ่านข่าว :