คำสั่ง 66/23 กลับมาเป็นประเด็นบนหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม ที่ประกาศจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายใต้ใหม่ จะลงพื้นที่ชายแดนใต้พร้อมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 23 กุมภาพันธ์นี้
พร้อมตอบคำถามสื่อเรื่องจะนำนโยบาย 66/23 ในอดีตกลับมาใช้ด้วยหรือไม่ ว่าแม้จะเป็นการย้อนหลังไปถึง 40-50 ปี แต่หากเรื่องใดที่เคยใช้ได้ ก็ต้องนำมาพิจารณาโดยต้องดูว่าสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันหรือไม่ แต่คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด
เท่ากับมีนัยว่า แผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ ที่ยาวนานและเต็มไปด้วยความรุนแรง หากนับตั้งแต่ปี 2547 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ พรรคไทยรักไทย ที่ประเดิมจากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ถึงปัจจุบันกว่า 20 ปีแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการระดมความเห็นจากฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหารและตำรวจในพื้นที่ น่าจะมีบางส่วนมาจากโมเดลคำสั่ง 66/23
ซึ่งในอดีต นายภูมิธรรมเป็นผู้ได้รับอานิสงส์จากคำสั่งนี้ เท่ากับมีประสบการณ์โดยตรง และตอนนี้ จะเป็นผู้ใช้คำสั่งดังกล่าวด้วยตัวเอง
เพราะย้อนหลังกลับไป ปี 2523 หลังจากรัฐบาลไทยและกองทัพ ต้องสู้รบทั้งใช้กองกำลัง อาวุธ และงานด้านมวลชน กับพรรคอมมิวนิวสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ที่กำลังแทรกซึมเต็มที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับโหวตจากสภาฯ เดือนมีนาคม
ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลงวันที่ 23 เมษายน 2523 กำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับ พคท. คือใช้หลักการเมืองนำการทหาร แทนการทหารนำ ที่เน้นปราบปรามอย่างเข้มข้นในช่วงก่อนหน้านั้น
คำสั่ง 66/23 เปิดทางผู้มีความเห็นต่างทางความคิดและการเมือง ทั้งสมาชิก พคท. และมวลชนที่หนีการถูกปราบปรามเข้าป่า สามารถวางอาวุธและออกจากป่า เข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาประเทศไทย ได้รับการนิรโทษกรรมในคดีการเมืองทั้งหมด และสามารถเข้าสู่สนามเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย หรือ “สหายใหญ่” อดีตแกนนำนักศึกษาที่ต้องลี้ภัยการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 จนต้องหนีเข้าป่าไปเคลื่อนไหวในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ หรือเขตอีสานใต้ ภายใต้ พคท. กระทั่งย้ายไปเขต สปป.ลาว ก่อนจะออกจากป่าคืนสู่เมือง จึงถือได้ว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่ง 66/23
การลงพื้นที่ปรับเปลี่ยนความเห็นกับทหารและตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมกับนายนทักษิณ 23 ก.พ. จึงยิ่งเพิ่มน่าสนใจเมื่ออาจมีการปัดฝุ่นคำสั่ง 66/23 นำมาปรับใช้ด้วย ท่ามกลางประเด็นคำถามและเสียงวิจารณ์จากนักวิชาการหลายคน ว่าบริบททางสังคมและปัจจัยทางการเมืองปัจจุบัน แตกต่างไปจากเมื่อก่อนชัดเจน
ทั้งยังจะมีตัวแปรสำคัญ คือนายทักษิณ ร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายต่อพื้นที่ชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ด้วย แม้จะในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน แต่ได้เคยสร้างรอยแผลและความทรงจำไว้กับคนในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้
ไม่ว่าจะเรื่องวาทกรรม”โจรกระจอก”จากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง และ 2 เหตุการณ์สำคัญ การปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียง ในเดือนเมษายน 2547 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และมีผู้เสียชีวิตจากการเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี รวม 85 คน
แม้เวลาผ่านไป 20 ปี จนคดีขาดอายุความ แต่ทางการไม่สามารถเอาผิดหรือจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งหรือรับผิดชอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจได้เลยแม้แต่คนเดียว
ในมุมมองนักวิชาการ เรื่องนี้ในมุมมองของ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง จากม.รังสิต เห็นว่า แม้นายทักษิณ จะไปแสดงตนขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แต่จะช่วยให้ความรู้สึกของคนในพื้นที่ดีขึ้นได้จริงหรือไม่
ผศ.วันวิชิต แนะให้จับตาหลังการลงพื้นที่ของนายทักษิณฯและนายภูมิธรรม ว่า 3-6 เดือนหลังจากนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ จะคลี่คลายลงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นคำตอบถึงสำเร็จหรือล้มเหลว รวมทั้งท่าทีของมวลชน
ไม่ต่างจาก รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยงสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ระบุว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ที่ว่า ยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมเลยว่าจะเป็นอย่างไร
ทำให้การลงพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อความสงบและมั่นคงของนายทักษิณและนายภูมิธรรม น่าสนใจว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นและนำไปสู่สถานการณ์อย่างไร ไม่ต่างจากคำสั่ง 66/23 ที่เคยใช้ได้ผลกับ พคท. แต่จะใช้ได้ผลในพื้นที่ 3-4 จังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่
เพราะกับ พคท.เป็นเรื่องความเห็นต่างทางความคิดและโครงสร้างการเมืองการปกครอง ที่คนเห็นต่างต้องโดนไล่ในยุค “ขวาพิฆาตซ้าย” จนต้องหนีเข้าป่า แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นเรื่องความต้องการโอกาสและได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้องเท่าเทียม อันเกิดจากความรู้สึกถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ
เป็นบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกันชัดเจน
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : เช็ก 22 หน่วย 11 จังหวัดเลือกตั้งซ่อม อบจ.-23 ก.พ.
พม.ฝ่าวิกฤตประชากรด้วยนโยบาย 5X5 สร้างพลังผู้สูงอายุ