แม้นโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ จะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของพรรคการเมือง พรรคหนึ่งพรรคใดของไทย และนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยกล่าวถึง หรือแทบไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก พบมีเพียงหนังสือแจ้งเวียนประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) เรื่องนโยบายยกระดับมาตรฐานศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2567 เท่านั้น
อ่านข่าว: "Soft Power" เกาหลีใต้ "รัฐหนุน-นายทุนนำ" เคล็ดลับความสำเร็จ
ไม่ต้องกล่าวถึงในแวดวง "วิชาการ (Academic)" ว่าจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ แม้จะก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะมีการยกระดับ Soft Power ไทยเพื่อผลักดันในแง่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม บันเทิง ในการหารายได้เข้าประเทศ แต่การมีทักษะด้าน "ภาษาอังกฤษ" ซึ่งเป็นพื้นฐาน (Fundamental)" ที่จะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างการยอมรับ (Recognition) จากสากลโลก โดยเฉพาะการใช้ในแวดลงวิชาการก็ยังติดกับดัก และยังไม่เดินหน้าไปไหน

ยกระดับ "ภาษาอังกฤษ" ต่อยอด "งานวิชาการ"
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเรื่อง สนทนากับธงชัย วินิจจะกูล: ไทยศึกษาในเรดาร์นานาชาติ
โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ได้ให้ความเห็นในหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสารว่า ไทยศึกษา จะแผ่ขยายกว้างไกล เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกได้ ต้อง "คุยกับชาวต่างชาติ" ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือ "รู้ภาษาอังกฤษ" ภาษาสากลที่ใชคุยกัน
เวลาไปสัมมนาวิชาการต่างประเทศ คุยภาษาอะไร? อังกฤษใช่หรือไม่? ดังนั้น เราต้องสร้าง Engage กับสากลโลกมากยิ่งขึ้น เราต้องตีพิมพ์บทความวิชาการภาษาอังกฤษมากขึ้น จึงจะยืนเด่นได้

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย บอกว่า ข้อเท็จจริงในไทยศึกษา มีลักษณะเป็น "อาณาบริเวณศึกษา (Area Studies)" สมัยก่อน ก่อกำเนิดโดยหลักวิชาแบบ "ตะวันตก" คือ ชาวต่างชาติเป็นผู้ลงมือศึกษา "ผู้อื่น (Other)" ที่แตกต่างจากสังคมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อชาตินั้น ๆ ก็ศึกษาได้ หรือภาษาวิชาการเรียกว่า การศึกษา "ความเป็นอื่น (Otherness)"
เช่น David K. Wyatt อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ (Department of History) มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ผู้เชี่ยวชาญไทยศึกษารุ่นบุกเบิก เจ้าของผลงาน Thailand: A Short History หรือ Craig J. Reynolds อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ผู้เป็น Supervisor วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกให้กับ ศ.ดร.ธงชัย ที่ชื่อ Siam Mapped: A History of the Geobody of Siam

ที่มา: Silkworm Books
ที่มา: Silkworm Books
แต่ในช่วงปี 1990 เป็นต้นมา บรรดา "Native" หรือนักวิชาการในประเทศนั้น ๆ (Home Scholars) เริ่มผลิตองค์ความรู้ และงานวิชาการที่ศึกษามาตุภูมิตนเองมากยิ่งขึ้น จนทำให้ตัวผู้เรียนเกิดความ "Proud" ว่า เราย่อมรู้จักประเทศของตนเองดีที่สุด ชาวต่างชาติจะมารู้ดีไปกว่าเรา เป็นไปไม่ได้
ศ.ดร.ธงชัย ย้ำว่า ความเชื่อดังกล่าว ทำให้เกิดสภาวะที่ว่า "เขียนกันเอง อ่านกันเอง" ไม่ยอมตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ นานาชาติจึงไม่อาจรับรู้ได้ว่า อาณาบริเวณศึกษานั้น ๆ ไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว
ชาวตะวันตก จำเป็นต้องทราบเรื่องภายในของประเทศไทยหรือไม่? อยากให้พวกเขารับรู้ต้องทำอย่างไร? ต้องตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ … ในโลกตะวันตก มีผู้รักประเทศไทยอย่างไม่มีเงื่อนไขอยู่ไม่น้อย อยากทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไทยศึกษา บางคนเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมากทีเดียว

ดังนั้น การปิดกั้นตนเองจากภาษาอังกฤษ จึงเป็นมายาคติอย่างมาก ศ.ดร.ธงชัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่กำลังพัฒนาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตน กับ Craig J. Reynolds ที่เป็น Supervisor โดย Reynolds ได้เตือนว่า "ออกจากโลกแบบไทยเสียเถิด (Get out of the Thai World)" เพราะการถกเถียงในวงวิชาการไทย หรือไทยศึกษาที่ถกเถียงโดยนักวิชาการไทย ทำให้ "โลกแคบ" ไม่ได้สนทนากับสากลโลกว่าเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
ผมอ่านสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากไทยศึกษาในประเทศไทย ทำให้เปิดโลกอย่างมาก เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยของผม …อยู่แต่ในไทยอย่างเดียว คับแคบมาก
ศ.ดร.ธงชัย ยกตัวอย่าง เพื่อนอาจารย์ที่เป็นชาวอเมริกัน แต่มีความเชี่ยวชาญ "จีนศึกษา (Chinese Studies)" ระดับชั้นครู บรรดานักศึกษาชาวจีน แห่แหนกันลงทะเบียนเรียนวิชานี้ ไม่ใช่เพราะศรัทธาในความรู้ แต่หลงมัวเมาในมายาคติของตนเองที่ว่า ชาวจีนย่อมรู้จักจีนศึกษาดีที่สุด จึงหวังลงทะเบียนเก็บเกรด แต่พอผลการเรียนออกมาจริง ๆ ติด F ยกชั้น ถึงขนาดมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้สอน

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เป็นเชื้อชาติใด แต่อยู่ที่ว่ารู้ภาษามากน้อยเพียงไร … เพื่อนอาจารย์ผมคนนี้ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาจีน ได้ในระดับหนึ่ง … ในการศึกษาอาณาบริเวณศึกษา ภาษา จึงสำคัญที่สุด
แน่นอนว่า ภาษาที่เป็นสื่อกลางของทั้งโลก คือ ภาษาอังกฤษ ดังนั้น "ข้อได้เปรียบ" ของชาวตะวันตกที่ศึกษาอาณาบริเวณศึกษา หรือ ไทยศึกษา คือ เขาทราบทั้งสองภาษาอย่างดี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ Home Scholars ว่า รู้เพียงภาษามาตุภูมิ เช่น ภาษาไทย แต่อยากให้สากลโลกรับรู้ เข้าใจ หรือยอมรับในพื้นที่ของเรา ถ่ายทอดเพียงภาษาไทย เพียงพอหรือไม่กับ "โลกวิชาการสากล"
"ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งอาณาบริเวณศึกษาที่ไม่ค่อยผลิตงานภาษาอังกฤษ เพราะไม่เน้นสร้างทฤษฎี ตามแนวทางตะวันตก แต่เน้นเก็บข้อมูล ค้นคว้าจดหมายเหตุ เรียกได้ว่าลงลึก รู้จริง ดั่งซามูไรลับคมดาบไปเลย จึงเป็นข้อยกเว้นว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษมากมายเท่าไรนัก … ไทย ไม่ได้มีวิถีแบบนี้ จึงเป็นคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะ Engage เวทีโลก"

อ่านข่าว: "ทุนใหญ่ญี่ปุ่น" ตกขบวน "เทคโนโลยี" สะเทือน "ดุลแห่งอำนาจโลก"
ทั้งนี้ ภาษาสากล ที่ ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึง ไม่ได้หมายเพียง สิ่งที่ใช้สื่อสารเท่านั้น แต่หมายถึง "สื่อกลางในการสื่อสาร" ที่ทำให้เข้าใจหลักการหรือหลักวิชานั้น ในทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ คือ ภาษาอังกฤษ ส่วนทางเศรษฐศาสตร์ คือ "คณิตศาสตร์" ทำให้กลับมาสู่จุดเดิม หากว่า "สื่อกลาง" ยังไม่ทราบ หรือมีความรู้ไม่เพียงพอจะไปผลิตงานวิชาการที่คุยกับนานาชาติได้อย่างไร
ยกระดับองค์ความรู้ "นักวิชาการไทย" สู่โลกสากล
ภาษาอังกฤษ มีความสำคัญมากในโลกวิชาการ โดยเฉพาะ ไทยศึกษา ที่กำลังประสบปัญหาความสนใจจากสากลโลกอย่างหนัก นอกจากจะทำให้ยกระดับองค์ความรู้ คุยกับนานาชาติ มาพัฒนางานวิจัยของตนเอง ยังทำลายมายาคติ "ชาติเรา เรารู้ดีที่สุด" อีกด้วย
ความน่าสงสัย คือ จริงอยู่ ที่เราเห็นปัญหาเรื่องภาษา แต่หากนักวิชาการไทยเข้าใจภาษาอย่างถ่องแท้ จะได้รับการยอมรับจากสากลโลกจริงหรือไม่?

ศ.ดร.ธงชัย ยอมรับว่า ประเทศไทย รับชุดวิธีคิดจากการศึกษาแบบ Colonial Higher Education หรือ ลอกระบบการศึกษาชั้นสูงแบบอาณานิคมมายกกระบิ ทำให้ขาดความสนใจวิชาพื้นฐานที่เป็น "Liberal Arts" หมายถึง ปรัชญา มนุษยศาสตร์ หรือภาษา สนใจเพียงแต่ "วิชาชีพ" ที่ใช้ทำมาหากินได้ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทำให้ "สารตั้งต้น" ที่จะผลิตบุคลากรไทยศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติที่พื้นฐานเหล่านี้แข็งแกร่งนั้น "ยาก" พอสมควร
เกาหลีใต้ ก็ลอกการศึกษาชั้นสูงแบบอาณานิคมไม่แตกต่างจากเรา แต่เขาผลิตบุคลากรคุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับจากสากลโลกได้ ตรงนี้ อยู่ที่การอยากสัมพันธ์ ( Engage) กับสากลโลกล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา อยู่ที่ความต้องการ Engage ล้วน ๆ
อ่านข่าว: เกาหลีใต้ "เร่งเจริญ" สังคมกดดัน "ฆ่าตัวตาย" ติดอันดับโลก
หากจะตั้งข้อสงสัยว่า เราจะทำอย่างไร ให้วงวิชาการไทย "เปิดกะลา" ออกมา สนทนากับสากลโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ศ.ดร.ธงชัย บอกว่า ต้องสร้างบรรยากาศเพื่อให้นักวิชาการไทยอยากจะ Emgage กับสากลโลกและสร้างรากฐานที่ดีขององค์ความรู้ ยกระดับความเข้าใจต่ออาณาบริเวณศึกษาอย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

วิชาการ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องระดับสติปัญญาของปัจเจกบุคคล แต่อีกด้าน เป็นเรื่อง รวมหมู่ (Collective) หมายถึง บรรยากาศต้องอำนวย ส่งเสริม และให้โอกาส ไปหวังพึ่งบางคนที่เก่งเลอเลิศเพียงคนเดียวไม่ได้ … นักวิชาการเก่งขนาดไหน ก็มีเวลา 24 ชม. เท่ากัน
ศ.ดร.ธงชัย ทิ้งท้ายว่า หากไม่สร้างสังคมการถกเถียงที่มากพอ คนเก่งเหล่านี้ก็ไม่รู้จะคุยกับใคร และจะไม่สามารถกระโจนเข้าไปคุยกับสากลโลกได้