วันนี้ (20 ก.พ.2568) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เปิดเผยถึงกรณีที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสเฟซบุ๊กส่วนตัวให้เปิดเผยการทำงานของสำนักงานประกันสังคม
- หลังเกษียณเลือก "บัตรทอง หรือ "ประกันสังคม" สิทธิไหนดีกว่ากัน
- เลือกตั้ง "บอร์ดประกันสังคม" สำคัญอย่างไร ?
เรื่องแรก เป็นเรื่องของคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคมที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ส่งผลกระทบทำให้สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมไม่เทียบเท่าสิทธิบัตรทอง ของ สปสช.
นายบุญสงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการการแพทย์สำนักงานประกันสังคม พิจารณาทุกอย่างภายใต้กรอบของระเบียบและเป้าหมายเพื่อสิทธิประโยชน์ต่อผู้ประกันตน และพยายามพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง โดยสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงสิทธิรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึง 7 กรณี คือ คลอดบุตร , สงเคราะห์บุตร ,เจ็บป่วย ,พิการ ,ว่างงาน ,เกษียณ ,และเสียชีวิต
เจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคมต้องการเฉลี่ยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องการจ่ายเงินสะสมในบั้นปลายชีวิต (บำเหน็จ-บำนาญ) เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ยืนยันว่า คณะกรรมการการแพทย์ทำงานภายใต้กรอบกติกาที่กฎหมายกำหนด โดยแต่ละการประชุม ทางบอร์ดแพทย์จะนำเรื่องต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน แต่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม กับสิทธิบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนละทิศทางกัน
สิทธิบัตรทอง จะดูเรื่องรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่สิทธิประกันสังคมดูแลทั้ง 7 กรณี ซึ่งจะต้องเฉลี่ยเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบออกไปในทุก ๆ กรณี ปัจจุบันการรักษาพยาบาลของประกันสังคมก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าสิทธิบัตรทองของสปสช. เลย กำลังพิจารณาตามความเป็นจริง
นายบุญสงค์ ยังระบุว่า กำลังให้ทาง สปส.เตรียมชี้แจงว่า หากจะเทียบเคียงการรักษาพยาบาลของประกันสังคมกับสิทธิบัตรทองของ สปสช. แตกต่างอย่างไรบ้าง และให้ทางบอร์ดแพทย์ประกันสังคมได้ออกมาชี้แจงด้วย ซึ่งบอร์ดแพทย์ประกันสังคม มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝั่งนายจ้างและผู้ประกันตน นอกจากนี้ในปี 2568 กำลังเตรียมการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านให้กับผู้ประกันตน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม)
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม)
ประเด็นถัดมา กรณีการดำเนินงาน Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้านของ สปส.อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่กำหนดไว้ แต่ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการฮั้วหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การทำ Wep App กำลังให้ทาง สปส. ดำเนินการและจะแจ้งออกมาให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการส่งงานล่าช้าโดยข้อระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ กรณีที่ส่งงานช้าต้องมีค่าปรับอยู่แล้วในสัดส่วนเงินที่ต่างกัน แต่ในกรณีทาง สปส.ได้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากกระทำโดยมิชอบ ทางตนและเจ้าหน้าที่จะโดนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ จึงยืนยันได้ว่า ดำเนินการตามระเบียบแน่นอน แต่ทั้งนี้อาจจะมีเงื่อนไขในช่วงโควิด-19
ขอยืนยันว่า ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ งบประมาณรายจ่ายของสำนักงานฯ ทุกกระบวนการดำเนินตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดงบประมาณที่จ่ายออกไปได้ผ่านการอนุมัติจากคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ รวมถึงบอร์ดประกันสังคม ในการพิจารณาอนุมัติ และยืนยันพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ ที่สำคัญ ทุกอย่าง ทุกเม็ดเงิน ทุกงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ใช้จ่ายตามระเบียบ
ส่วนกรณีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 ในช่วงเวลา 4 ปี อาจเพิ่มในช่วงเปลี่ยนผ่านเว็บแอปฯงบประมาณ 850 ล้านบาท จากเดิมที่เราใช้ระบบทำด้วยมือ (Manual system) ต้องใช้การวอล์กอินเข้ามา เราต้องเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนสะดวกขึ้น จ่าย/โอนเงินผ่านธนาคารได้เลย

น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน
น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน
รวมถึงเปลี่ยนระบบจากระบบ Sapiens เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ที่เราใช้มานานและต้องเช่าทุกปี เปลี่ยนมาเป็นระบบที่ สปส.จัดทำเอง รวมถึงส่วนหนึ่งที่มียอดผู้ป่วยโรค ICD เพิ่มขึ้น และช่วงโควิด-19 ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนระบบงานของประกันสังคม อยู่ภายใต้การให้บริการผู้ประกันตนให้เข้าถึงบริการได้รวดเร็ว โดยจะพัฒนาในด้านของ E-service ให้มากขึ้น และทำข้อมูลให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้เป็นระบบข้อมูล Sapiens แต่หากระบบที่กำลังดำเนินอยู่เสร็จสิ้นแล้ว ระบบ Data ของสปส. จะสามารถให้บริการประชาชนเข้าถึงได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านระบบหลังจาก 30 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่การตั้งข้อสังเกตกำหนดการดูงานต่างประเทศอังกฤษ-สก็อตแลนด์ เวลา 1 สัปดาห์ของคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคมและผู้บริหาร แต่เห็นว่าเป็นการไปดูงานเพียงแค่ 2 วัน นายบุญสงค์ กล่าวว่า อาจเป็นตารางร่างไว้เบื้องต้น เพื่อเสนอให้บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ เวลาไปดูงานจริง จะเป็นอีกตารางหนึ่ง แต่ตนเชื่อมั่นว่า ทุกครั้งที่ไปดูงานต่างประเทศ ได้ประโยชน์จริงและมีการจัดทำรายงานศึกษาทุกครั้ง ซึ่งบางครั้งแทบไม่มีเวลาทานอาหาร หรือ พักผ่อน
เราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว รมว.แรงงาน และผม รวมถึงเจ้าหน้าที่พร้อมชี้แจง ผมทำงานด้วยเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน เราไม่ได้มีประโยชน์อื่นใดเข้ามาแอบแฝงและทำภายใต้กฎหมายกำหนด หากจะมีการตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ก็พร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียด
อ่านข่าว : ประกันสังคมเพิ่มช่องทางจ่ายเงินสบทบ ม.39-ม.40 ผ่านแอปฯเป๋าตัง
"พิพัฒน์" ยันไม่เคยยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จำเป็นทำปฏิทิน
"ประกันสังคม" แจงสิทธิกรณีเจ็บป่วยรักษา - บำนาญชราภาพ