ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เบื้องหลังปัญหา "อิสราเอลยึดปาย" เสียงสะท้อนคนพื้นที่ต้องเผชิญ

สังคม
19 ก.พ. 68
13:50
4,410
Logo Thai PBS
เบื้องหลังปัญหา "อิสราเอลยึดปาย" เสียงสะท้อนคนพื้นที่ต้องเผชิญ
อ่านให้ฟัง
12:23อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวอิสราเอลที่เข้ามาอาศัยในปาย กำลังเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ วัฒนธรรมของเมืองเล็กแห่งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ขยายตัวขึ้น การครอบงำทางสังคมสร้างความตึงเครียดในชุมชน ชาวบ้านขอรัฐตรวจสอบปิดช่องโหว่การทำธุรกิจที่แย่งอาชีพ รายได้คนในพื้นที่

ปัญหาการเข้ามาทำกินหรือท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอิสราเอล ที่มีจำนวนมากในพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กำลังสร้างความเดือดร้อนให้คนไทยและชาติอื่น ๆ ที่เที่ยวและอาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีเสียงเรียกร้องให้ทางการเข้าจัดการ

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวบ้านที่นี่ หลายปีที่ผ่านมา "ปาย" ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากเมืองสงบ เต็มไปด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรมของชาวไทยพื้นเมือง กลายเป็นเมืองที่ถูกกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอิสราเอล เข้ามาครอบงำในหลาย ๆ ด้าน

อ่านข่าว : เสน่ห์ "ปาย" เมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์คนไทยหลายคนที่อาศัยที่ปายมากว่า 10 ปี หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาชาวอิสราเอลไม่ได้เพิ่งมีตามข่าวที่เพิ่งดัง "แต่มีมานานมากแล้ว" นักท่องเที่ยวชาตินี้เข้ามาใช้ชีวิตในปายเหมือนเป็นบ้านของตัวเอง บางคนทำธุรกิจ บางคนให้เช่าที่พักระยะยาว และบางคนถึงขั้นตั้งรกรากที่นี่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชุมชนไทยอย่างมีนัยสำคัญ

"ปาย" เปลี่ยนไป จากเมืองสงบสู่ศูนย์กลาง นทท.ต่างชาติ

คำบอกเล่าจากคนท้องถิ่น "ปาย" เคยเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีเสน่ห์จากธรรมชาติและวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวไทยพื้นเมือง นักท่องเที่ยวที่มาเยือนส่วนใหญ่ต่างต้องการการพักผ่อนที่สงบ เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และซึมซับบรรยากาศของเมืองที่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ อย่างไรก็ตาม แต่ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ก็ขยายตัวเข้าสู่ "ปาย" อย่างรวดเร็ว และได้เปลี่ยนปายไปอย่างสิ้นเชิง

จากเมืองที่เงียบสงบ ตอนนี้ปายกลายเป็นเหมือนต่างประเทศไปแล้ว คนไทยเองยังรู้สึกแปลกแยกจากเมืองของตัวเอง 

กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีอิทธิพลเยอะในปาย พวกเขาไม่ได้มาแค่ท่องเที่ยวระยะสั้น แต่มีจำนวนมากที่พำนักอยู่ยาวเป็นเดือนหรือหลายปี โดยใช้วีซานักท่องเที่ยวหรือวีซานักเรียน ที่ช่วยให้สามารถอาศัยอยู่ในไทยได้เป็นเวลานานขึ้น จากเมืองที่เคยมีนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ ปัจจุบันบางพื้นที่ในปายกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนอิสราเอล โดยมีร้านอาหาร เมนู และป้ายร้านที่เขียนเป็นภาษาฮีบรู

ถนนคนเดินปายทุกวันนี้ ร้อยละ 90 คือคนอิสราเอล ทั้งคนเที่ยว คนซื้อ คนขาย มีครบ เราอยู่ที่นี่มานานจนแยกได้ว่า ฝรั่งคนไหนคือชาติอะไร และพฤติกรรมบางอย่างก็ชี้ชัดได้เลยว่า เขาคือคนอิสราเอล

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม คนไทยดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในปายต้องเผชิญกับการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคย ขณะที่บางคนได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจท่องเที่ยว หลายคนกลับรู้สึกว่าถูกผลักออกจากพื้นที่ของตนเอง

อ่านข่าว : กางข้อมูล "คนอิสราเอล" ในไทย พบปี 67 เข้าไทยกว่า 2.8 แสนคน

"ทัวร์ศูนย์เหรียญ" เงินทองหมุนเวียนแค่ในกลุ่มอิสราเอล

หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากการเข้ามาของชาวอิสราเอลคือ การที่พวกเขาเริ่มครอบครองเศรษฐกิจของปาย พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงนักท่องเที่ยว แต่ยังเข้ามาเปิดกิจการเอง ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อทำธุรกิจในเมืองนี้ นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลส่วนใหญ่เลือกพักในโรงแรมและโฮสเทลที่ดำเนินการโดยชาวอิสราเอลเอง รับประทานอาหารในร้านของพวกเขา และใช้บริการที่จัดโดยเครือข่ายของพวกเขา ทำให้เงินหมุนเวียนภายในกลุ่มของพวกเขามากกว่าที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของคนไทย

ผู้ประกอบการท้องถิ่นกล่าวว่า ชาวอิสราเอลบางคนใช้วิธีการเช่าที่ดินจากคนไทยในราคาถูก จากนั้นรีโนเวตและปล่อยให้เช่าในราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาติเดียวกัน บางรายเปิดกิจการโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี ถือหุ้นในธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมายไทย แต่แท้จริงแล้วทุกอย่างถูกบริหารและดำเนินการโดยชาวอิสราเอลเอง

ที่เห็นปายเปลี่ยนแปลงแบบชัด ๆ ก็ช่วงหลังโควิด ธุรกิจคนไทยที่ล้มก็มีคนต่างชาติมาซื้อต่อ ไม่เฉพาะชาวอิสราเอล ชาติอื่นก็ซื้อ แต่แค่ทุกวันนี้ชาวอิสราเอลมีจำนวนเยอะกว่าเพื่อน

ธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กของคนไทย เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และโฮสเทลราคาประหยัด ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขยายตัวของธุรกิจที่ดำเนินการโดยชาวต่างชาติ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ทำให้คนไทยหลายคนต้องล้มเลิกกิจการของตัวเอง นักท่องเที่ยวไทยเอง ก็ยังหาที่พักราคาเหมาะสมไม่ได้ ราคาถูกปรับเพิ่มทีร้อยละ 20-50 ทุกอย่างถูกจับจองไปหมดแล้ว คนไทยกลายเป็นผู้มาอาศัยแทนที่จะเป็นเจ้าของพื้นที่ของตัวเอง 

ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ?

แม่ค้าที่ขายของในถนนคนเดินปาย เล่าว่า ปายเคยเป็นเมืองที่เงียบสงบและเต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวพื้นเมือง แต่เมื่อชาวอิสราเอลหลั่งไหลเข้ามา สิ่งที่ตามมาคือพฤติกรรมที่ไม่เคารพต่อวัฒนธรรมไทย พวกเขามักจะพูดเสียงดังในที่สาธารณะ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมารยาทแบบไทย เช่น การยกมือไหว้ หรือการให้เกียรติผู้สูงวัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย

เราวางของขายแบกับดิน คนอิสราเอลเขาใช้เท้าชี้ว่าจะเอาชิ้นไหน แต่สื่อสารกับเขาไม่ได้ เราก็ไม่รู้จะบอกเขายังไงว่าการใช้เท้าคือพฤติกรรมไม่สุภาพของคนไทย 

นอกจากเรื่องมารยาทแล้ว พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอิสราเอลในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก็น่าเป็นห่วง หลายครั้งที่พวกเขาแต่งกายไม่เหมาะสมเมื่อเข้าไปในวัด หรือแม้แต่ถอดเสื้อเดินในที่สาธารณะโดยไม่สนใจว่ามันขัดกับวัฒนธรรมไทย บางครั้งพวกเขายังแสดงกิริยาที่ถือว่าไม่สุภาพ เช่น นั่งไขว่ห้างต่อหน้าพระสงฆ์ หรือใช้เท้าชี้สิ่งของ ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้ามในวัฒนธรรมไทย

ส่วนเรื่อง Chabad House หรือโบสถ์ยิวของพวกเขา เขาก็ติดป้ายไม่ให้คนไทยและชนชาติอื่น ๆ เข้าไป เป็นสถานที่ที่เขารวมตัวกัน ในุมมมองของคนที่ปาย การเข้าศาสนสถานก็ไม่ผิดอะไร แต่เราสงสัยว่าเขาได้พื้นที่มาได้อย่างไรมากกว่า การใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่เหมาะสมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ชาวอิสราเอลบางกลุ่มมักใช้เสียงดังในร้านอาหาร เปิดเพลงเสียงดัง หรือแม้แต่จับกลุ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม สิ่งนี้ทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสงบรู้สึกไม่พอใจ

อ่านข่าว : อิสราเอลเปลี่ยน "ปาย" เมืองท่องเที่ยวที่เริ่มไม่สงบ

หมอ-ตำรวจ "ปาย" ทำงานหนักมาก 

การเดินทางในตัวเมืองปาย ส่วนใหญ่คนจะใช้จักรยาน และ จักรยานยนต์ เพราะถนนแคบและโค้งเยอะ ผู้ประกอบการให้เช่ารถจักรยานยนต์ในปาย เล่าว่า แต่นักท่องเที่ยวอิสราเอลจำนวนมากขี่รถจักรยานยนต์ไม่เป็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง พวกเขาบางคนไม่มีใบขับขี่สากล ขับรถด้วยความเร็วสูง และ บางครั้งขับย้อนศรเพราะไม่เข้าใจกฎจราจรไทย

ไปดูเคสอุบัติเหตุที่โรงพยาบาลปายได้เลย มากันวันละ 20-40 เคส สงสารหมอ-พยาบาลมาก ต้องเจอต่างชาติรถล้มทุกวัน บางคนก็ล้มเอง บางคนก็ขี่ไปชนคนอื่น

นอกจากการขับขี่ที่ประมาทแล้ว นักท่องเที่ยวบางรายยังปฏิเสธที่จะสวมหมวกกันน็อก หรือปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับเมื่อถูกจับได้ว่าทำผิดกฎจราจร ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ต้องทำงานหนักมาก นักท่องเที่ยวบางคนคิดว่าพวกเขาสามารถทำอะไรในปายก็ได้ 

และยังมีข้อสังเกตที่นักท่องเที่ยวชาวไทยรวมถึงผู้ประกอบการในปายระบุถึง ตำรวจที่ไปยืนเฝ้าหน้าโบสถ์ยิว ว่าใครเป็นผู้สั่งการ ให้นายตำรวจชั้นปฏิบัติการต้องอำนวยความสะดวกทั้ง ๆ ที่ชาวอิสราเอลในพื้นที่หลายคนก็บอกว่า ภายในโบสถ์ไม่ได้จัดงานรื่นเริงสังสรรค์ใด ๆ 

ตำรวจเขาได้แต่ยิ้ม ๆ ไม่ตอบอะไร แต่เราก็เดาได้เองว่า เขาก็คงถูกสั่งมาอีกที อยากฝากไปถึงคนสั่งเขาก็แล้วกันว่า ทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ สงสารผู้ปฏิบัติงาน

ปัญหาทางกฎหมาย-บทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติอื่น ๆ ในปายไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องพฤติกรรม แต่ยังรวมถึงช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้พวกเขาสามารถทำธุรกิจและอยู่อาศัยระยะยาวได้ง่ายเกินไป บางคนใช้ช่องโหว่ของระบบ เช่น การแต่งงานกับคนไทยเพื่อขอวีซาระยะยาว หรือการใช้ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของที่ดินแทนตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามชาวต่างชาติถือครองที่ดิน

หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงไม่เข้ามาตรวจสอบและควบคุมให้เข้มงวดขึ้น มีข้อสงสัยว่าอาจมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าหน้าที่บางกลุ่มกับชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในปาย

ปกติ อิสราเอลอยู่ในไทยได้ไม่กี่เดือน แต่บางคนใช้วีซานักเรียนก็อยู่ได้ 1 ปีแล้วไม่ได้เรียนอย่างที่ขอวีซามา แล้วก็มีอีกหลายคนที่ใช้ Border run คือพอวีซาหมดก็ข้ามฝั่งไปชายแดน ออกไทยปุ๊บก็กลับเข้าไทยปั๊บในวันเดียว แค่นี้ก็อยู่ไทยได้ยาวขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่ผิดกฎหมายด้วย

ชาวอิสราเอลอาจเป็นประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาให้เห็น แต่จริง ๆ แล้วมีหลายชาติที่เข้ามาทำในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบัน กลุ่มชาวต่างชาติอื่น ๆ ก็เข้ามาใช้ช่องโหว่ของกฎหมายไทยเพื่อทำธุรกิจในปายโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี รวมถึงคนไทยจากพื้นที่อื่นที่เข้ามาซื้อที่ดินและทำธุรกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดั้งเดิม

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในปายควรต้องพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่โฟกัสที่กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว ทางภาครัฐควรมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการถือครองที่ดิน การเปิดธุรกิจของชาวต่างชาติ และการรักษาความเป็นอยู่ของชุมชนไทยให้คงอยู่ต่อไป ศิลปินวาดรูปขายใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวปิดท้าย

อ่านข่าว : "โรม" รับลูกอิสราเอลยึดปาย-สส.กล้าธรรม เชื่อไม่กระทบมั่นคง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง