เพราะตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว มี สส.และ สว.แสดงตนในห้องประชมเพียง 172 เสียง น้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ.2568 วันแรกที่มีนับองค์ประชุม และมีถึง 204 เสียง เท่ากับสภาล่ม ไปต่อไม่ได้เป็นวันที่ 2
ผลพวงจากยังคงเป็นเกมการเมือง หวังยื้อหรือไม่ อยากให้มีการพิจารณาวาระนี้ด้วยซ้ำไป เหมือนที่แกนนำพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง อดีตรัฐมนตรีกลาโหม อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักฯ และมือกฎหมายคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย แถลงอ้างจุดยืนของพรรคเพื่อไทยไว้ ในการประชุมรัฐสภาวันแรก หลังสภาล่ม เพราะองค์ประชุมไม่ครบ
ต้องการให้ร่างค้างอยู่ในสภาต่อไป ไม่อยากให้ถูกตีตก หากมีการอภิปรายแล้ว มีเสียงลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการ ไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ และในจำนวนนี้ ต้องมีเสียงสว.รวมอยู่ด้วย ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 คนขึ้นไป
นายสุทินพูดชัดเจนว่า ได้ประเมินตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. แล้วว่า โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมาตรา 256 จะผ่านที่ประชุมรัฐสภาเป็นไปได้ยากมาก แต่มีโอกาสตกสูง เมื่อไม่มีโอกาสแล้ว จะยอมจำนนต่อสถานการณ์หรือไม่ เพราะเท่ากับเป็นความล้มเหลว
พรรคเพื่อไทยจึงขอเวลาตั้งหลัก คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ร่างตกไป ให้ค้างอยู่ในสภาฯ นานที่สุด รวมทั้งยอมรับสนับสนุนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่ให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2)
เท่ากับมีนัยสำคัญว่า พรรคเพื่อไทยเลือกแนวทางหนุนญัตติด่วน นพ.เปรมศักดิ์มาตั้งแต่ต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็น สส.ของพรรคประชาชนเป็นใหญ่ ที่พยายามเปิดเกมสกัดญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก แทบไม่เห็นบทบาท สส.พรรคเพื่อไทยเลย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยก็เป็นเจ้าของหนึ่งในสองร่างที่รัฐสภาจะพิจารณา และจุดยืนดังกล่าว ชัดเจนอย่างยิ่งเมื่อมีการนับองค์ประชุมวันแรก
คราวนี้ในวันประชุมรัฐสภาวันที่ 2 คนที่สวมบทเด่นของพรรคเพื่อไทย กลายเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เสนอให้นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และเป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา นับองค์ประชุมสภาตั้งแต่เริ่มต้น
สกัดไม่ให้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ได้อภิปราย ทั้งที่ได้รับอนุญาตจากประธานในที่ประชุมแล้ว
ด้วยข้ออ้างเป็น “เอกสิทธิ์” ของ สส. ที่สามารถเสนอประธานในที่ประชุมโหวตนับเสียงองค์ประชุมได้ตลอด และเป็นนายวันมูหะหมัดนอร์ ที่เห็นสอดคล้องตาม โดยไม่สนใจเสียงประท้วงของ สส.พรรคประชาชน และ สว.พันธุ์ใหม่ อ้างว่าพร้อมจะให้ทุกคนพูดหรือประท้วงได้ ต่อเมื่อเสร็จสิ้นการนับองค์ประชุมไปแล้ว ทั้งแสดงบทเข้ม กดออดเรียกประชุมยาว
กระทั่งผลโหวตเสียงนับองค์ประชุม มี สส.และ สว.แสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุมเพียงแค่ 172 เสียง สมความปรารถนาของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้ร่างค้างคาอยู่ในสภาฯ แทนที่จะถูกตีตก
ท่ามกลางเสียงความไม่พอใจของ สส.และ สว.ที่อยู่ในห้องประชุมรัฐสภา และการแสดงออกของผู้คนส่วนหนึ่งที่อยู่นอกอาคารรัฐสภา ที่ตั้งใจมาสนับสนุนการประชุมรัฐสภาต่อ เพื่อให้เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต่อ หลังจากต้องผิดหวังในวันแรก
ไม่นับประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ที่เฝ้าติดตามการประชุมรัฐสภา ณ สภานที่ที่แตกต่างกันทั่งประเทศ แต่มีความรู้สึกร่วมกัน คือตั้งคำถามโตๆ ว่า บรรดา สส.และสว.ผู้ทรงเกียรติ ที่รับเงินเดือนแพงๆ และมีสวัสดิการรายได้ต่าง ๆ มากมาย ไฉนจึงทำตัวกันแบบนี้ แทนที่จะทำหน้าที่ในบทบาทที่ต่างอาสาเข้ามา
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : ทุนจีนบุกพื้นที่อ่างเก็บน้ำใน จ.ตราด “ปลูกทุเรียน”