หลังจากบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกพากันปรับตัวลดลงอย่างหนัก หลังการเกิดขึ้นของ AI ต้นทุนต่ำ สัญชาติจีนที่ชื่อ DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพที่มีฐานอยู่ในเมืองหางโจว ทางตะวันออกของจีน เสมือนแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเทียบเคียงกับความสามารถของผู้นำด้าน AI ของสหรัฐได้ด้วยต้นทุนเพียงเศษเสี้ยว เมื่อเทียบกับการลงทุนของบริษัทอเมริกัน
อ่านข่าว: "DeepSeek" สะเทือนวงการ "AI" และ "สถานภาพ" การเมืองโลก
ปรากฎการณ์แมงเม่าบินเข้ากองไฟ แม้ตัวหุ้นจะดึงดูดนักลงทุนต่าง ๆ ให้เข้าร่วมลงทุนเพื่อเก็งกำไร ในตลาดหลักทรัพย์ เพียงคลิกนิ้วดียว อาจจะสร้างความร่ำรวยให้มหาศาล แต่มีจำนวนไม่น้อยที่หนี้สินล้นพ้นตัว บางรายอบจนหันทางถึงขั้นก่ออัตวินิบาตกรรรม
อ่านข่าว: บทเรียน "นิวตัน" อัจฉริยะดาราศาสตร์ "ติดดอย" แมงเม่าตลาดหุ้น
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ ส่วนมาก มักจะทำการศึกษาวิธีการเล่นหุ้นผ่าน "ผู้เชี่ยวชาญ" เป็นหลักเพื่อเรียนรู้แนวทางการลุงทุน การวิเคราะห์หุ้น หรือ แนวโน้มอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง ทั้งหมดล้วนคือ "มายาคติ" ทั้งสิ้น เพราะตลาดเก็งกำไรต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้อง "วัดดวง" ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แม้แต่น้อย
อ่านข่าว: "ราคาทอง" พุ่งกระฉูด ฉุดความเชื่อมั่น "นโยบายทรัมป์" สั่นคลอน
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXFjH8WI1jFS96C.jpg)
"เก่งหลังเกม" มายาคติ "นักวิเคราะห์" ตลาดหลักทรัพย์
นาสซิม ทาเล็บ (Nassim Nicholas Taleb) นักคณิตศาสตร์เชื้อสายเลบานอน เสนอไว้ใน หนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ถึงสิ่งที่เรียกว่า "หงส์ดำ (Black Swan)" เพราะสมัยก่อน หงส์ ที่มนุษย์รู้จัก มีแต่สีขาว แต่เมื่อ เจมส์ คุ๊ก (James Cook) ค้นพบทวีปออสเตรเลีย ก็พบว่ามีหงส์สีดำ อยู่เกลื่อนกราด
เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า อะไรที่มนุษย์คาดว่า ทราบอย่างแท้จริง ทราบอย่างถ่องแท้ ราวกับว่ามีญาณวิเศษ ทำนายส่ิงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จริง ๆ แล้ว กลวง อย่างมาก เพราะอนาคตเป็นส่ิงที่ไม่แน่นอน และเป็นเรื่องของ ปาฏิหาริย์ ล้วน ๆ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXPEddVbq37HHpt.png)
ในตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน ในแต่ละวัน ดัชนีสามารถขึ้นหรือลงย่อมได้ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่บรรดานักวิเคราะห์ กูรูหุ้น หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ได้เขียนออกมาประหนึ่ง "ทราบล่วงหน้า" ว่าหุ้นนั้น ๆ จะขึ้นหรือลง คำถาม คือ พวกเขา "ทำนาย" ความไม่แน่นอนนี้ได้อย่างไร ? ทำให้กลุ่มเหล่านี้ มีลักษณะ "เก่งหลังเกม" ค่อนข้างมาก
ประเด็นนี้ นาสซิม ทาเล็บ เสนอมายาคติของการวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ไว้ 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก "Hindsight Bias" หมายถึง การเขียนวิเคราะห์เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ราวกับว่า เหตุการณ์นั้น สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า มีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งดังกล่าวขึ้น แต่คำถาม คือ เงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อเหตุการณ์นั้น ๆ จริงหรือไม่ ? อย่างไร ?
เช่น การพุ่งทะยานฟ้าของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐอเมริกา หลายฝ่ายอาจพิจารณาว่าเป็นเพราะ AI แต่จริง ๆ การ Disrupt เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น การมาถึงของ iPhone รุ่นแรก หรือ รถยนต์ไฟฟ้า แต่หุ้นเทคฯ กลับไม่พุ่งทะยานเท่า ดังนั้น การยกสาเหตุว่าเป็นเพราะ AI จึงเข้าข่าย Hindsight Bias
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXIgeNUQalxyPay.jpg)
ประเด็นต่อมา "Illusion of Causality" หมายถึง เมื่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น มนุษย์จะสรรหา "สาเหตุ" บางอย่าง เพื่อนำมาอธิบายให้ได้ แต่ไม่ได้คาดคิดว่า บางอย่าง ไม่มีสาเหตุ อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ เช่น การพบกันของเพื่อนสมัยอนุบาล หลังจากไม่ได้เจอกันมามากกว่า 20 ปี เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่า เป็นเพราะ "ทฤษฎีมาร์กซิสต์" หรือ "ภาวะโลกเดือด" เป็นแน่
และประเด็นสุดท้าย "Narrative Fallacy" หมายถึง การคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากสิ่งนี้แน่ ๆ และจึง "หาเหตุผลสนับสนุน" มาอธิบายให้เกิดความเป็นเหตุเป็นผล สอดคล้อง และฟังขึ้น ให้กลายเป็น "เรื่องเล่า" ในภายหลัง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXHX0st2g1KCVjF.png)
ดาเนียล เคห์นมาน (Daniel Kahneman) เสนอไว้ใน หนังสือ Thinking, Fast and Slow โดยยกตัวอย่าง "Google" ที่มักจะมีเรื่องเล่า ที่ว่า นักศึกษา Stanford University ที่บริหารบริษัทนี้ให้มาไกลถึงฝั่งฝัน ชนิดที่ว่าผู้ก่อตั้งก็ไม่อาจทำได้อย่างเขา ประเด็นนี้ Google เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง ประหนึ่งว่า ความสำเร็จของบริษัทที่ได้รับมานั้น "โรยด้วยกลีบกุหลาบ" กลับกัน Google เลือกที่จะไม่อธิบายเงื่อนไขอื่น ๆ ที่อาจจะนำบริษัทไปสู่ความหายนะได้
พวกท่านคุยโวถึงบทบาทของทักษะ และดูแคลน โชคชะตา ว่ามีส่วนสำคัญให้ประสบความสำเร็จ … บันทึกเรื่องราว จึงแสดงออกถึง การหยั่งรู้อย่างไร้ที่ติ
เมื่อเข้าใจมายาคติทั้ง 3 ประการ จะพบว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นพื้นที่ของ "การวัดดวง" ล้วน ๆ ไม่ว่าใครหน้าไหน ย่อมไม่สามารถที่จะ "รู้ทัน" ตลาดไปได้ กระนั้น โอลิเวอร์ กือเด (Olivier Guedj) และ ฌ็อง-ฟิลลิปป์ บูเชา (Jean-Philippe Bouchaud) ศึกษาอย่างจริงจัง ในประเด็นที่ว่า บรรดานักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ "เก่งหลังเกม" เป็นส่วนใหญ่หรือไม่ ?
![](https://news.thaipbs.or.th/media/BRpLwT0TYaGXOF4tVvjLb8o17DPukSTAhGrXFAw7D4BtB.jpg)
บทความวิจัย Experts’ earning forecasts: bias, herding and gossamer information ที่ทั้งสองเขียน ได้หยิบยกกลุ่มตัวอย่าง จากสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ระหว่างปี 1987-2004 พบว่า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่คาดคะเนผลตอบแทนได้ "ย่ำแย่" อย่างมาก
ส่วนใหญ่มักจะเกิด "พฤติกรรมเลียนแบบ (Herding Effect)" ต่อกันและกันของกูรุหุ้น หมายความว่า หากมีผู้เชียร์ว่า หุ้นนี้ดี ผู้อื่นก็จะแห่กันเชียร์ และคาดคะเนว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีงาม พวกเขา "โลกสวยขั้นสุด (Over-optimistic)" จนกระทั่งผลลัพธ์ออกมาว่า "ผิดพลาด" โดยเฉพาะ นักวิเคราะห์จากสหรัฐฯ ที่โลกสวยเป็นพิเศษ และเชียร์หุ้นจน "หายนะ" มาไม่น้อย แต่กลับไม่ได้มีการพูดถึง
"หลักฐานเงียบงัน" อวยกำไร ขาดทุนหมกเม็ด
ดังจะเห็นได้ว่า มายาคติตลาดหุ้นทั้ง 3 ประการ ของ นาสซิม ทาเล็บ เปิดช่องให้พิจารณาว่า นักวิเคราะห์หุ้นนั้น มีลักษณะ "เก่งหลังเกม" ผลลัพธ์เปิดเผย จึงหาเหตุผลสนับสนุน เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่ดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นหรือลง สามารถอธิบายได้ ทั้งที่จริง ๆ ตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องของ ดวง ล้วน ๆ
หากมีนักวิเคราะห์ รวมถึงผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนไม่น้อย ที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ "อย่างต่อเนื่อง" เช่น วอร์เรน บัฟเฟต (Warren Buffet) หรือ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เหล่านี้ จะเรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ หรือ มีฝีมือ กันแน่ ?
ประเด็นดังกล่าว นาสซิม ทาเล็บ เสนอ "มายาคติที่สี่" ของตลาดหุ้น ได้แก่ "Silent Evidence" หมายถึง อะไรดี ๆ ให้โอ้อวด อวยยศ แต่อะไรแย่ ๆ ให้กลบไว้ใต้พรมให้มิด นักวิเคราะห์จำนวนมาก หากคาดคะเนดัชนีตลาดหุ้น หรือกำไรจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้ถูกต้องแม่นยำ มักจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ สามารถคุยใหญ่คุยโตได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ "จำนวนที่คาดคะเนผิดพลาด" คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรจากการคาดคะเนที่ถูกต้อง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXMWt4qG9cW5lGF.jpg)
หนังสือ Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets เขียนโดย นาสซิม ทาเล็บ ยกตัวอย่าง "การโยนเหรียญ" หากให้ "คนเดียว" ทายหัว-ก้อย ย่อมเป็นการยากที่จะทายถูกเกิน 8 ครั้ง แต่ให้โยนหัว-ก้อย "หลาย ๆ คน" อัตราสำเร็จก็จะเพิ่มมากขึ้น
นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ในโลกใบนี้ มีมหาศาล หากคนใดคนหนึ่งทายถูก ย่อมเป็นที่สนใจ แต่หากทายผิด แต่มีผู้อื่นทายถูก ผู้คนก็จะหันเหความสนใจไปหาผู้ที่ทายถูกเรื่อย ๆ จนลืมไปว่า ผู้ที่ทายผิด มีมากกว่าผู้ที่ทายถูก เสมอ
"คุณลองไปถามโบรกเกอร์ใน Wall Street กับพนักงานขับแท็กซี่นิวยอร์ก ให้ลองทำนายหุ้น จะพบว่า อัตราสำเร็จไม่ต่างกันเลย" นาสซิม ทาเล็บ ทิ้งท้าย
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCZziXfSzeGXDpQvQgi9AWf3v.jpg)