สะเทือนโลกเมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สั่งตัดงบประมาณ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID :United States Agency for International Development ) องค์กรให้เงินช่วยเหลือประเทศโลกที่สามด้านต่าง ๆ โดยสั่งหยุดปฏิบัติงานและให้ปิดหน่วยงานทันที เป็นระยะเวลา 90 วัน อ้างว่าต้องการให้สอดคล้องกับนโยบาย "America First"
แม้ศาลสหรัฐฯ (Federal Court) จะเข้าแทรกแซงเพื่อระงับคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล
![ที่มา: Wikimedia](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaoQEAfWbAlXs3j8kOu6Td9O.png)
ที่มา: Wikimedia
ที่มา: Wikimedia
อ่านข่าว: ศาลสหรัฐฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามพักงาน จนท. USAID
ไม่เพียงหน่วยงาน USAID ที่อยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งให้เงินสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา แต่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC:The United States Centers for Disease Control and Prevention ) และวารสารวิชาการ MMWR เป็นกระบอกเสียงของ CDC ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณ สุขมาตั้งแต่ปี 1952 เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการเฝ้าระวังโรคระบาดและโรคติดต่อแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็น "คลังข้อมูล" ทั้งในเชิงสถิติและคำแนะนำให้กับรัฐบาล ข้าราชการประจำ และประชาชน ยังถูกแทรกแซงงานวิจัย" ทั้งที่ ๆงานวิชาการควรต้องเป็นอิสระ และปราศจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง
อ่านข่าว: ทรัมป์ "ล้วงลูกงานวิจัย" จุดบอด "วิชาการ" ในมืออำนาจนิยม
แม้ว่า เคยมี การสำรวจความคิดเห็นของสถาบันคลังสมอง Chicago Council on Global Affairs ย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 แสดงให้เห็นว่า มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อการลดค่าใช้จ่าย
แต่ประเด็นนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจเช่นนี้หรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวถูกมองว่า เป็นหน่วยปฎิบัติการจิตวิทยาการเมือง แต่อาจกลับมา ทิ่มแทง ผู้นำสหรัฐฯ ในภายหลังได้
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaoQEAfWbAlWBtBlEoAGtSXB.jpg)
บทความวิจัย Foreign Aid and Soft Power: Great Power Competition in Africa in the Early Twenty-first Century เขียนโดย Robert A. Blair Robert Marty และ Philip Roessler ชี้ว่า การให้เงินช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ (Foreign Aid) โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือ สิ่งตอบแทน เป็น Soft Power รูปแบบหนึ่ง เพราะปราศจากการบังคับขู่เข็ญ (Non Coercive Power) ให้เงินไปไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน หากแต่ผู้รับรู้สึกว่า "เป็นบุญคุณ" จะได้รับการนับถือยอมไม่ได้
สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่ให้ความช่วยเหลือและได้รับการยอมสยบอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่นการให้ความช่วยเหลือของ USAID ต่อแอฟริกา พบว่า ประเทศดังกล่าวเลือกที่จะสนองตอบต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ มากกว่า "จีน" ที่ให้ความช่วยเหลือมากกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแบบ "ให้เปล่า" และ "ปราศจากเงื่อนไข" ต่างจากจีน ที่มีความข้อจำกัดเล็กๆ น้อยๆ และแฝงนัยความเป็น "เจ้าอาณานิคม" ตามข้อตกลง
![ที่มา: Foreign Aid and Soft Power: Great Power Competition in Africa in the Early Twenty-first Century](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaoQEAfWbAlc2EZySrvMMqWt.png)
ที่มา: Foreign Aid and Soft Power: Great Power Competition in Africa in the Early Twenty-first Century
ที่มา: Foreign Aid and Soft Power: Great Power Competition in Africa in the Early Twenty-first Century
โดยเฉพาะ สหรัฐฯ ในฐานะการเป็นผู้ประกาศความเป็น "ประชาธิปไตย" เพื่อให้ได้รับการยอมรับโลก ยิ่งทำให้ ประเทศต่าง ๆ อยู่กับสหรัฐฯ อย่างแนบแน่น รวมถึงความช่วยเหลือด้าน "มนุษยธรรม (Humanitarian)" ทำให้สามารถครองใจประเทศโลกในที่สามได้
Colin Alexander เสนอในบทความวิจัย The Soft Power of Development: Aid and Assistance as Public Diplomacy Activities ว่า Foreign Aid ได้ประโยชน์ "ทั้งขึ้นทั้งล่อง" คือ นอกจากจะได้สมุนผู้จงรักภักดีโดยไม้ต้องบังคับแล้ว ยังสามารถที่จะ "ทวงบุญคุณ" ในภายหลัง เพื่อสอดรับกับนโยบาย Hard Power ได้ เช่น ในศึกสงคราม สามารถเกณฑ์กำลังพลจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือให้มาร่วมเป็นพันธมิตรรบพุ่ง หรือ "ตายแทน" ประชาชนของสหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทย ในฐานะผู้รับงบประมาณความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้านการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา(DA : Development Assistance) ซึ่งงบที่ได้รับส่วนใหญ่ เน้นให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) สำนักข่าว หรือ สถาบันต่าง ๆ จำนวน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบฯ ทั้งหมด 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบฯ 2023 หรือคิดเป็นร้อยละ 50 จากสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือของ USAID ต่อไทย
![ที่มา: USAID](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaoQEAfWbAlfEFltB28wCkVX.jpg)
ที่มา: USAID
ที่มา: USAID
หลังจากหน่วยงานดังกล่าวรับงบฯ DA จาก USAID มักจะต้อง ใช้ผ่าน NGOs เพื่อ โน้มน้าวให้เห็นว่า เข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริม ในการแก้ไขปัญหา เช่น ศูนย์ผู้ลี้ภัยชายแดน สาธารณสุข และ มนุษยธรรม รวมถึง การนำเสนอภาพว่าเป็น "ฮีโร่" หรือตำรวจโลกที่คอยเฝ้าระวังภัยจากภยันตรายทั้งปวง หรือ สร้างภาพเป็น "American Dream"
กล่าวได้ว่า Foreign Aid สร้าง ความสยบยอม ของประเทศผู้รับความช่วยเหลือ ด้วยเม็ดเงินเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดินสหรัฐฯ แต่ทำให้ประเทศโลกที่สาม เช่น แอฟริกา หรือ ไทย ยอมรับได้ง่าย ๆ นับเป็นความหลักแหลมในการใช้ Soft Power ลักษณะนี้
บทความ U.S. Foreign Aid Has Always Been Too Easy of a Target เขียนโดย Paul Poast ชี้ว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ทรัมป์ตัดสินใจเชนนี้ เพราะ ระยะหลัง ๆ Foreign Aid ไม่สามารถทำงานในลักษณะ Soft Power ได้อีกต่อไป หมายความว่า บรรดาประเทศที่รับความช่วยเหลือ ต่าง "แข็งขืน" เพิ่มขึ้น ไม่ยอมทำตามสหรัฐฯ ทั้ง ๆ ที่รับเงินมาเต็มกระเป๋า
สังเกตได้จาก หลาย ๆ ประเทศ รับความช่วยเหลือ "สองทาง" หมายถึง รับทั้งสหรัฐฯ และ จีน แต่แนวนโยบายกลับ "แบ่งรับแบ่งสู้" ไม่ยอมลงหลักปักฐานกับมหาอำนาจขั้วใด ดังนั้น ในฐานะผู้ให้เงิน สหรัฐฯ ย่อมคิดหนักว่า ที่จ่ายไปคุ้มค่าหรือไม่ในทาง "เกียรติยศ (Prestige)" จำนวนเงินไม่ได้มาก แต่กลับไม่ยอมโอนอ่อน ทำให้สหรัฐฯ "เสียรังวัด" มากพอสมควร
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCaoQEAfWbAlfuMzHBb4iNU2e.png)
เช่น ไทย ในฐานะรับงบฯ USAID ในหมวด DA ต่างวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ อย่าง รุนแรง นับตั้งแต่การถอนฐานทัพออกจากประเทศในช่วงปี 1975 รวมถึง การหันหน้าเข้าหาจีนมากยิ่งขึ้น ผ่านความต้องการเข้าร่วม เส้นทางสายไหม (BRI) หรือ ความต้องการเข้าร่วม กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS)
Paul Poast กล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ ลดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด และเลือกที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบการเมืองบนความเป็นจริง หรือ "Realpolitik" มาพอสมควร เห็นจาก การสนับสนุนยูเครน หรือ การลดเงินช่วยเหลือให้องค์การระหว่างประเทศ เท่ากับว่า แม้แต่สหรัฐฯ เอง ก็ไม่มีความเชื่อมั่นว่า Foreign Aid จะเป็นนโยบายต่างประเทศที่สร้าง Soft Power ได้อย่างยั่งยืน
จึงทำให้ "สถานะ (Status)" ของสหรัฐฯ ในฐานะ "พญาอินทรี" ต้อง "สั่นคลอน" อย่างหนัก หากยังคงจ่ายเงินช่วยเหลือผ่าน USAID ต่อไป และการเข้ามาของทรัมป์ ที่มีคุณลักษณะการบริหารแบบ Realpolitik มองโลกผ่านเลนส์นักธุรกิจ ใช้วิธีคิดแสวงหากำไรและความได้เปรียบเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจ หาก Foreign Aid จะถึงกาลอวสาน