“เลิกแต่งนิยายได้แล้ว”
คำพูดติดปากของ “แบคบอม” แพทย์นิติเวชผู้ยึดถือวิทยาศาสตร์ในการไขความจริง จากซีรีส์แนวสืบสวนเรื่องดังของเกาหลี “Partner For Justice” ซึ่งมักจะพูดถ้อยคำนี้ออกมาทุกครั้ง เมื่อตำรวจที่มาเข้าร่วมติดตามระหว่างการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตพยายามที่จะสันนิษฐานหาสาเหตุการเสียชีวิตด้วยการคาดเดาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
หลายต่อหลายคดีในซีรีส์ที่มีแพทย์นิติเวชเป็นตัวเอกเรื่องนี้ ก็ยากที่จะไขคดีได้สำเร็จ หากใช้เพียงข้อมูลที่ได้จากการชันสูตรเท่านั้น แต่ต้องนำไปประกอบกับบริบทแวดล้อมอื่นๆด้วย ทั้งสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับผู้คน และประวัติของผู้เสียชีวิต
และข้อเท็จจริงที่พบในหลายต่อหลายคดี ก็ไม่เป็นไปตามข้อสันนิษฐานเบื้องต้น มีทั้งที่เลวร้ายกว่าที่คิดไว้ และมีทั้งบางคดีที่ไม่เลวร้ายอย่างที่คิดไว้อย่างที่ตั้งสมมติฐานไว้
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7Th3Ia6pXDc2K5UCHIycPT.jpg)
“ผลการตรวจจากแพทย์นิติเวช ยังไม่ใช่สิ่งที่จะนำสรุปได้ 100% มันเป็นวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่ก็ยังเป็นแค่หนึ่งในข้อมูลหรือจิ๊กซอว์อีก 1 ชิ้นที่นำไปใช้ประกอบเพื่อคลี่คลายข้อสงสัย”
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์นิติเวชที่มีประสบการณ์ยาวนาน ยืนยันว่า เนื้อหาที่ถูกนำเสนอผ่านซีรีส์ Partner for Justice เป็นวิธีการทำงานซึ่งบุคลากรในวิชาชีพแพทย์นิติเวชจะต้องถือเป็นหลักสำคัญ คือ อย่ารีบด่วนสรุปจากประสบการณ์หรือความเชื่อของตัวเองเท่านั้น โดยมีตัวอย่างหลายคดีใหญ่ ที่ข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้คนละทางเลย
“ต้องยอมรับว่า สิ่งที่แพทย์นิติเวชจะตรวจพบจากการชันสูตรศพ อาจจะยังไม่สามารถนำมาสรุปเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวได้ และยังอาจจะต้องพลิกกลับไปที่การใช้ดุลพินิจอยู่ดี ... แต่มันก็จะช่วยให้การใช้ดุลพินิจยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่หนักแน่นมากขึ้น เมื่อนำสิ่งที่ตรวจพบไปใช้ร่วมกับการประมวลสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ ที่เรียกว่า crime scene reconstruction เช่น ใช้ร่วมกับการจำลองเหตุการณ์ การลองคิดย้อนเหตุการณ์ไปทีละ step คล้ายๆภาพ flashback ในหนังฆาตกรรมที่มีภาพเหตุการณ์ปรากฎขึ้นในหัวตัวแสดง” คุณหมอภาณุวัฒน์ อธิบาย
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับหลักการข้อนี้ คือ หนึ่งในคดีใหญ่ระดับชาติ ซึ่งผลของคดี อาจจะไปขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของแพทย์
“เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ในห้องของตัวเอง ดูเหมือนจะเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะถือปืนซึ่งเป็นอาวุธสังหารอยู่ในมือ แต่รูปแบบการกระเด็นของหยดเลือดในที่เกิดเหตุทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรมอำพรางกันแน่ ซึ่งหนึ่งในข้อสันนิษฐานก็คือ ถ้าเป็นฆ่าตัวตาย จะต้องไม่เกิดหยดเลือดกระเด็นไปในลักษณะนี้ ... แต่เมื่อมาดูในทางวิชาการ ก็จะพบว่า การเกิดหยดเลือด ยังไปขึ้นอยู่กับอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบด้วย คือ เขาตายทันทีหรือไม่ เพราะการตายทันที กับยังไม่ตายมันที ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการไหลของเลือดต่างกันมาก ... ดังนั้น จึงต้องนำไปสู่การใช้ดุลพินิจโดยการนำผลชันสูตรมาประกอบกับการประมวลสถานการณ์จากที่เกิดเหตุ”
“อีกคดีหนึ่ง มีคนตกจากตึกสูงลงมาเสียชีวิต แพทย์นิติเวชตรวจพบมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ... เมื่อได้ข้อมูลนี้ ก็นำไปสู่การสันนิษฐานได้ว่าผู้เสียชีวิต อาจจะหมดสติไปก่อนแล้วจากความเมา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกจับโยนลงมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจอีกเช่นกัน เพราะบางคนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงระดับ 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เรายังเห็นว่าเค้าสามารถร้องเพลง เฮฮาในวงเหล้าได้ จึงแปลได้ว่าผู้ตายอาจจะยังไม่หมดสติ แต่อาจจะเมาจนพลัดตกลงมาเองก็เป็นได้” ดังนั้นทฤษฎีในหน้ากระดาษอาจไม่สอดคล้องกับสภาวะจริงที่เกิดเสมอไป เนื่องจากปัจจัยของคนเมาไม่ได้เพียงขึ้นกับระดับแอลกอฮอล์ที่บริโภคเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับร่างกายบุคคลว่าปรับกับระดับแอลกอฮอล์ได้มากน้อยเพียงใด
2 เคสตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า ผลการตรวจของนิติเวชยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย ยังต้องนำไปประกอบกับการประมวลที่เกิดเหตุ ยังต้องสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาจากข้อมูลบวกจินตนาการที่สามารถเป็นไปได้มากที่สุด และท้ายสุดก็ยังต้องหาข้อสรุปโดยใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนอยู่ดี
แม้จะยังไม่ใช่ทั้งหมดของการทำให้ความจริงปรากฎ ... แต่งานของแพทย์นิติเวช ก็ทำให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายอย่าง และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ด้วยเพียงการใช้ดุลพินิจ เช่น การระบุเวลาที่เสียชีวิต
![แก้วกาแฟ หลักฐานที่แพทย์นิติเวช ต้องนำไปตรวจสอบในคดีชาวเวียดนามวางยาที่โรงแรมดังกล่าวกรุง](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7Th3Ia6pXNHc48NenHrqGk.jpg)
แก้วกาแฟ หลักฐานที่แพทย์นิติเวช ต้องนำไปตรวจสอบในคดีชาวเวียดนามวางยาที่โรงแรมดังกล่าวกรุง
แก้วกาแฟ หลักฐานที่แพทย์นิติเวช ต้องนำไปตรวจสอบในคดีชาวเวียดนามวางยาที่โรงแรมดังกล่าวกรุง
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ เป็นหนึ่งในแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรในคดีมีชาวเวียดนามเสียชีวิต 6 คน ในห้องพักของโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อกลางปี 2567 โดยพบว่าผู้เสียชีวิตทุกคนได้รับสารไซยาไนด์เข้าไปในร่างกาย
“จริงๆแล้ว ก่อนตรวจ ยังมีความเป็นไปได้หลายทาง ... คือ ฆาตกรรมหมู่โดยคนอื่นที่ไม่อยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิต หรือเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ หรือแม้แต่อาจมีหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นผู้ลงมือก่อเหตุฆาตกรรมเอง ... แต่ในช่วงแรก ถ้าเราดูข่าวว่า มีอีก 1 คน ซึ่งเป็นชาวเวียดนามมาจองห้องเช่นกันแต่ไม่เข้าพัก ก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัย หรือยังมีไกด์ที่ไปซื้อยาชูกำลังมาให้กลุ่มผู้เสียชีวิต ก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัย ... ดังนั้น เป็นธรรมดาที่เราก็อาจมีความสงสัยคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เสียเสียชีวิตมากกว่า ... แต่งานนิติเวช ต้องหาหลักฐานที่หนาแน่นกว่านั้น และร่างของผู้ตายก็มีคำตอบอยู่บ้าง” แพทย์นิติเวช อธิบายหลักคิด
“เหตุการณ์ที่มีคนตายพร้อมกันทีเดียว มักทำให้เรานึกถึงการได้รับสารพิษเสมอ เมื่อในร่างของผู้เสียชีวิตบ่งบอกว่ามีลักษณะคล้ายถูกพิษ และในที่เกิดเหตุมีร่องรอยของไซยาไนด์ ไซยาไนด์จึงเป็นปัจจัยแรกที่ถูกนำมาตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต สิ่งที่แพทย์นิติเวชบอกได้ก่อนเลย คือ ทั้ง 6 คน เสียชีวิตเพราะไซยาไนด์ แต่เราบอกไม่ได้ว่า ไซยาไนด์มาจากไหน ก็ยังบอกไม่ได้ว่าใครเป็นคนวางยา”
หนึ่งในทีมแพทย์ที่ร่วมตรวจชันสูตรในคดีนี้ เล่าต่อว่า แต่เมื่อดูประกอบกับหลักฐานในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะกล้อง CCTV หน้าห้องที่ทั้ง 6 คนเสียชีวิต ซึ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่า ผู้เสียชีวิตเข้าไปในห้องกันเพียง 6 คน และตลอด 2 วันก่อนจะพบศพ ก็ไม่มีใครเข้าไปในห้องนี้เลย ทำให้ข้อสันนิษฐานเรื่องการถูกวางยาโดยคนอื่นนอกจาก 6 คนนี้ จบไป ... เหลือแค่ 2 ทาง คือ ฆ่าตัวตายหมู่ หรือ หากมีฆาตกร ต้องเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เสียชีวิต
“สิ่งที่ทีมแพทย์นิติเวชตรวจเจอ อาจจะพอให้ความกระจ่างได้มากขึ้นไปอีกหน่อย คือ เวลาการเสียชีวิต”
“เราตรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย เสียชีวิตมาแล้วประมาณ 12-24 ชั่วโมง แต่มี 1 ใน 6 ศพ ที่อยู่ในสภาพ Fresh กว่าศพอื่น ร่วมกับท่าของศพที่ตายแตกต่างไปจากศพรายอื่น ซึ่งหมายความว่า อาจจะเสียชีวิตภายหลังคนอื่นๆ ในระยะที่ห่างกัน 4-5 ชั่วโมง และในที่สุด คดีก็ถูกสรุปว่า 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิต เป็นผู้ก่อเหตุ โดยมีปมเรื่องหนี้สิ้นเป็นสาเหตุสำคัญ”
เคสนี้ ก็จะทำให้เราเห็นความสำคัญของการระบุเวลาการเสียชีวิต และทำให้เห็นด้วยว่า เราต้องไม่รีบสรุปตามสมติฐานข้อใดข้อหนึ่งก่อนที่จะได้พิสูจน์หาหลักฐานที่หนักแน่นขึ้น เพราะสิ่งที่เราเชื่อว่ามีความเป็นได้มากที่สุด อาจจะผิดก็ได้
“ถ้าเรารีบสรุป เราก็อาจจะจับกุมผู้บริสุทธิ์มาคุมขังชั่วคราวไปก่อนแล้วก็ได้”
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7Th3Ia6pXT406o4q8ApXnm.jpg)
แม้ นพ.ภาณุวัฒน์ จะอธิบายถึงคดีที่ถูกคลี่คลายได้ด้วยการระบุเวลาเสียชีวิต แต่ก็ยังอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ในหลายกรณี “เวลาการเสียชีวิต” ก็ยังเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้อีกเช่นกัน เพราะยังต้องขึ้นกับปัจจัยอื่น อย่างถ้าเจอศพได้เร็ว ก็จะระบุเวลาเสียชีวิตได้ใกล้เคียงความจริงมาก สามารถบอกได้เป็นหลักชั่วโมง เช่น เสียชีวิตมาแล้ว 8-12 ชม. ... แต่ถ้าเจอศพช้าไปมากๆ การระบุเวลาเสียชีวิต ก็จะบอกได้แค่เพียงว่า ตายมาแล้วประมาณกี่วัน หรือเป็นหลักสัปดาห์
ศพที่พบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ก็เป็นปัจจัยที่ นพ.ภาณุวัฒน์ อธิบายต่อว่า ส่งผลต่อการระบุเวลาเสียชีวิตอย่างมาก ... เช่นมีเคสในต่างประเทศที่พบว่า กว่าศพจะเป็นโครงกระดูกทั้งหมดในเวลาถึง 2 ปี เพราะอากาศเย็น แห้ง แต่กลับมีเคสในประเทศไทยเคยเจอศพที่เหลือแต่โครงกระดูกทั้งที่เพิ่งเสียชีวิตไปแค่ 2 เดือน เพราะไปอยู่ในที่อากาศร้อน มีแมลงเยอะ มีสัตว์มาแทะเล็มช่วยเร่งเวลา ... ดังนั้นแต่ละพื้นที่ที่เจอศพ ก็จะทำให้การคำนวณเวลาตายแตกต่างกันไปอีก ดังนั้นหลักวิชาการตามตำราอ้างอิง อาจใช้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์ อาจแตกต่างไปตามภูมิประเทศ และสภาพอากาศ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7Th3Ia6pXOjtnkjPOE3HDx.jpg)
ดังนั้น แม้กระบวนการของ “นิติเวช” จะเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อนำมาใช้ใน “กระบวนการยุติธรรม” ก็จะยึดถือข้อมูลของนิติเวชแบบเพียว ๆ ไม่ได้ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการดูสภาวะแวดล้อม และตำรวจต้องไปสอบสวนหาข้อมูลจากคู่กรณี
ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ย้ำหนักแน่นว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้านิติเวช ถูกมองว่าถูกต้องที่สุด เถียงไม่ได้ แต่จริงๆแล้ว แพทย์นิติเวชสามารถเลือกสรุปผลตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หรือเลือกพูดตามกระแสกดดันของสังคมก็อาจกลายไปเป็นการเปลี่ยน แปลงข้อเท็จจริงในคดีได้ และอาจไปส่งผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์
มีคดี ผู้หญิงเสียชีวิตด้วยรูปแบบคล้ายการผูกคอตาย ... ญาติของผู้เสียชีวิตไปเจอศพ และไม่เชื่อว่าเธอจะฆ่าตัวตาย แต่เชื่อว่าถูกฆาตกรรมแน่นอน และพอเรื่องนี้ถูกสื่อสารออกไปพร้อมนำมาประกอบกับเหตุการณ์ที่ผู้เสียชีวิตมีเหตุทะเลาะกับแฟนก่อน แฟนของผู้เสียชีวิตก็จะถูกสังคมตีตราว่าเป็นฆาตกรไปเลย ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎ
แพทย์นิติเวช จึงต้องระวังที่จะสรุปผลในคดีลักษณะนี้ เพราะมีอารมณ์ ความรู้สึก และความเชื่อที่เกิดจากการรับข่าวสารของสังคมมาเป็นแรงกดดันร่วมอยู่ด้วย เราก็ต้องนำหลักวิชาการที่หนักแน่นมาอธิบาย และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม”
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDh7Th3Ia6pXFN34WXkKh9ire.jpg)
“หลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์” คือหลักสากลของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องพึงระวังมากที่สุด คือ กระบวนการยุติธรรมต้องไม่นำผู้บริสุทธิ์มาลงโทษโดยเด็ดขาด และมีประโยคที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นคำขวัญด้วยว่า “ถ้ายังไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดใครได้อย่างชัดเจน แม้ต้องปล่อยคนทำผิด 10 คน ก็ยังดีกว่าจับกุมผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียวมาลงโทษ” นี่เป็นหลักที่ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ยืนยันว่า ยิ่งเป็นวิชาชีพนิติเวชที่ทำงานด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ยิ่งต้องยึดถือเป็นแนวทางสำคัญในการทำงานและสื่อสารออกไป
“ถ้าเรามองว่า “นิติเวช” เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เพราะหลักฐานจากการชันสูตรที่เราตรวจพบจะช่วยให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย เราก็ยังต้องยึดหลัก “สันนิษฐานว่าบริสุทธิ์” ไว้ด้วย”
“กระบวนการยุติธรรม ที่นำตัวผู้บริสุทธิ์ไปลงโทษ หรือที่เราเรียกง่ายๆกันว่า “จับแพะ” เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากงานนิติเวชอย่างเด็ดขาด” ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ทิ้งท้าย
เมื่อคดีดังต่างๆล้วนถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสังคม เมื่อคำพิพากษาผ่านโลกเสมือนกลายเป็นแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่การทำงานของแพทย์นิติเวช ... เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกสั่นคลอนผ่าน Social Media เกิดอะไรขึ้นกับงานแพทย์นิติเวชในปัจจุบัน
รายงาน Exclusive ความยุติธรรมกับงานนิติเวช EP.1 นิติเวชเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ใช่ผู้พิพากษา ... ช่วยไขความจริง ไม่ใช่ประกอบสร้างความจริง โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
โปรดติดตามใน EP.2 เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกบีบให้เดินตามหลังความเชื่อ
อ่านข่าว:
เปิด 4 ข้อเสนอ "หลิว จงอี" รัฐบาลไทย ยังโยนวุ่น "ตัดไฟ" เมียนมา
เหยื่อแก๊งค้า "อะไหล่มนุษย์" โรงงานรีดไข่ (สาวไทย) ในจอร์เจีย