สัมพันธ์ไทย-จีนต้องปรับเปลี่ยนบริบทใหม่ เนื่องจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทั้งในและนอกภูมิภาค นอกจากนี้ภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติได้กลายเป็นปัจจัยใหม่ทำให้ไทยและจีนต้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ต่อต้านภัยคุกคามใหม่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ปีนี้เป็นปีสำคัญ ไทย-จีน ฉลองครบรอบ 50 ปี มิตรภาพการทูตอันยาวนาน ถือได้ว่าเป็นปีทอง ทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญกับแนวโน้มความร่วมมือในอนาคต ท่ามกลางการขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน และยังมียุโรป รัสเซีย อินเดีย ที่ต้องการต่อรองแสวงหาพื้นที่เพื่อรักษาดุลอำนาจของโลกหลายขั้ว
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiQDsft03qvNFzwEn5qHabYo.jpg)
สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเดินทางเยือนจีน นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้มีการลงนามใน 14 ข้อตกลง โดยมี นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน ถือว่าเป็นการลงนามข้อตกลงทวิภาคีมากที่สุด เพราะมันควบคุมทุกมิติของสายสัมพันธ์ที่เรียกกันว่า "จีน-ไทย ใช่ใครอื่น พี่น้องกัน" เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทย-จีน
ในประเด็นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย กับคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน
ส่วนด้านการลงทุนสีเขียวข้อตกลงระหว่างกระทรวงพลังงานของไทย กับกระทรวงพาณิชย์ของจีนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และยังมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) กับกระทรวงพาณิชย์ของจีน
ที่น่าสนใจคือจีนยินดีจะแชร์เทคโนโลยีอวกาศและความรู้ทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการสำรวจอวกาศดวงจันทร์ ไทย-จีน ภายใต้โครงการฉางเอ๋อ-ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาของไทย กับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีน นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ไทยกับสำนักข่าวซินหัว เป็นต้น
โดยสรุป ความตกลงไทย-จีนที่สำคัญที่สุด คือพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว แถลงการณ์ร่วมตอกย้ำถึงการพัฒนาสายสัมพันธ์ไทย-จีน สู่ระดับที่สูงขึ้น มีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า โดนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiQDsft03qvOGX1PEyJbDSXr.jpg)
ในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จีนต้องการพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ในภูมิภาคเอเชียและในอาเซียน ไทยจึงเป็นประเทศเหมาะเจาะ และสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์จีนในอนาคตได้อย่างดี ไทยเป็นประเทศที่ไม่เลือกข้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาก็ตาม
ระหว่างการประชุมนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ ได้มีการเน้นถึง image. pngimage.png แผนยุทธศาสตร์จีน-ไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในหลายภาคส่วน รวมถึงเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และการพัฒนาภูมิภาค
เนื่องจากเหตุการณ์แก๊งคอลเซนเตอร์อาละวาดหนัก ทั้งไทยและจีนจึงมีการตอกย้ำเรื่องความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเป็นพิเศษ เช่น การปราบกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซนเตอร์ทั้งหลาย การพนันออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiQDsft03qvNFzwEn5qHabYo.jpg)
ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครองอำนาจ ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์สัมพันธ์ไทย-จีน ให้มีศักยภาพมากขึ้นทั้งในกรอบทวิภาคีและในบริบทของโกลบอลเซ้าต์ซึ่งมีกลุ่มบริกเป็นแกน เนื่องจากในกลุ่มบริกมีสมาชิกหลากหลายความคิด สมาชิกก่อตั้งมีจีนกับอินเดียที่ไทยไว้ใจมากที่สุด
การเยือนระดับสูงครั้งนี้ไทยและจีนได้เพิ่มพูนและรักษาความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ และยังได้ผลักดันความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมไปสู่ระดับที่สูงขึ้น (ระดับสูงสุดคือไม่มีข้อจำกัด มีเพียงสัมพันธ์จีนกับรัสเซียเท่านั้น)
คอลัมน์มองเทศคิดไทย โดย : กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส
อ่านข่าว : โลกจับตา "ทรัมป์" สั่งขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมนำเข้า 25%
ทองคำแท่ง พุ่งแรง 850 บาท ทำ All-time High ใหม่ “รูปพรรณ” ขายออก 47,950