ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วายร้ายเงียบ "มะเร็ง" ไทยป่วยรายใหม่พุ่ง 1.4 แสนคน

สังคม
10 ก.พ. 68
17:10
1,523
Logo Thai PBS
วายร้ายเงียบ "มะเร็ง" ไทยป่วยรายใหม่พุ่ง 1.4 แสนคน
สธ.เผยแต่ละปีไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 1.4 แสนคน เสียชีวิตกว่า 8.6 หมื่นคน โดยมีแนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้น

โรคมะเร็ง (Cancer) เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและมีแนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 86,000 คน ขณะที่แต่ละวันมีผู้ป่วยมะเร็ง 386 คนและเสียชีวิต 232 คนต่อวัน

ก่อนหน้านี้ในปี 2565 ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก รายงานว่า พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 19.9 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ประมาณ 9.7 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งปอด, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ ส่วนมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิงคือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งปอด, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมไทรอยด์

ขณะที่ข้อมูลทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาลปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุข้อมูลโรคมะเร็งที่พบมาก 10 อันดับแรกของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ดังนี้

"เพศชาย" ได้แก่ 1.มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, 2.มะเร็งตับและท่อน้ำดี, 3.มะเร็งปอด, 4.มะเร็งต่อมลูกหมาก, 5.มะเร็งช่องปาก, 6.มะเร็งหลอดอาหาร, 7.มะเร็งหลังโพรงจมูก, 8.มะเร็งกระเพาะอาหาร, 9.มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และ 10.มะเร็งช่องปากและคอหอย

"เพศหญิง" ได้แก่ 1.มะเร็งเต้านม, 2.มะเร็งปากมดลูก, 3 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, 4.มะเร็งปอด, 5.มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, 6.มะเร็งตับและท่อน้ำดี, 7.มะเร็งรังไข่, 8.มะเร็งช่องปาก, 9.มะเร็งกระเพาะอาหาร และ 10.มะเร็งไทรอยด์

ส่วนการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของคนไทย ในปี 2565 มีผู้เสียชีวิต 83,334 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 47,153 คน เพศหญิง 36,181 คน โดย 5 อันดับโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งช่องปากและคอหอย และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งตับ

ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า "มะเร็งตับ" ที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับส่วนมากเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้มแหนม ฯลฯ นอกจากนี้การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้

ผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีแต่ละคนอาจแสดงอาการแตกต่างกัน โดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ แน่นท้อง ท้องอืดและท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น

การรักษามะเร็งตับและท่อน้ำดีมีหลายวิธี ซึ่งจําเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง เป็นต้น งดการดื่มสุรา และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับและท่อน้ำดี ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบหรือท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับหรือมะเร็งท่อน้ำดีได้

มะเร็งปอด

"มะเร็งปอด" เป็นมะเร็งที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด โดยประเทศไทยพบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยมะเร็งปอดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งชนิดเซลล์ขนาดเล็ก พบได้ประมาณ 10-15% และมะเร็งชนิดเซลล์ไม่ใช่ขนาดเล็ก พบได้ประมาณ 85-90% โดยปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือด และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลามความรุนแรงต่อชีวิตจึงค่อนข้างสูง หากตรวจให้พบเจอได้ตั้งแต่ระยะแรก จะมีโอกาสรักษาหายสูง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดคือ การสูบหรือรับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมีทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็ง ได้แก่ แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน รังสี ควันธูป ฝุ่นไม้ และมลภาวะทางอากาศต่าง ๆ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีปนเปื้อนหลายชนิดที่เป็นสารก่อเกิดมะเร็ง

สัญญาณเตือนของมะเร็งปอดคือ อาการผิดปกติของการทำงานของปอด เช่น ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสียงหวีด ปอดติดเชื้อบ่อยหรือเรื้อรัง นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการเสียงแหบ เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การรักษาโรคมะเร็งปอดจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสภาวะความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยการรักษาในปัจจุบันประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง และ/หรือการรักษาด้วยยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งอาจต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการรักษา

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

ประเทศไทย "มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง" เป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบมากในคนไทยและมีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี โดยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 4 ในเพศหญิง

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมาจากพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน ตลอดจนการมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ เป็นต้น

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้และพัฒนาจนเป็นมะเร็ง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โดยอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืดและจุกเสียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัย

มะเร็งเต้านม

"มะเร็งเต้านม" พบเป็นอันดับ 1 ในหญิงไทยและทั่วโลก ขณะที่ความก้าวหน้าทางสาธารณสุขทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น ส่งผลทำให้มะเร็งเต้านมมีแนวโน้มอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่มากกว่า 20,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมประมาณ 4,800 คน

สัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง ได้แก่ ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังบวมแดงขึ้น หัวนมบุ๋มหรือถูกดึงรั้ง มีผื่นหรือแผลที่เต้านมและหัวนม มีน้ำหรือเลือดไหลออกจากหัวนม หากสังเกตพบอาการเหล่านี้ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทันที

นอกจากการสังเกตด้วยตนเองแล้วยังสามารถรับการตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ได้ปีละ 1 ครั้ง และสำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ การทำแมมโมแกรมเต้านมปีละ 1 ครั้งจะทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งมีผลการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมได้จริง ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกโอกาสในการหายจากมะเร็งเต้านมจะสูงถึงมากกว่าร้อยละ 95

มะเร็งปากมดลูก

สาเหตุหลักของ "มะเร็งปากมดลูก" เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18 และสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงอื่น ๆ โดยเชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่สามารถติดได้ทั้งที่ผิวหนัง อวัยวะเพศ ในช่องปากและลำคอ โดยปกติผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้ แต่มักจะไม่แสดงอาการ ส่วนมากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราสามารถที่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงออกไปได้ ทำให้การติดเชื้อคงอยู่นานและสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลล์จนเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

การติดเชื้อ HPV ในลักษณะคงอยู่นาน หรือ Persistent HPV ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 95% โดยจะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี หลังการติดเชื้อจนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองและรักษาโรคตั้งแต่ระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง

สำหรับกลุ่มประชากรที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีน HPV ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ได้แก่ เด็กหญิงและเด็กชายที่อายุ 11-12 ปี และหากไม่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุดังกล่าวสามารถฉีดในช่วงอายุ 13-26 ปีได้, 2.ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 27-45 ปี ให้พิจารณาฉีดวัคซีนเป็นคน ๆ ไป ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับและอาจไม่เทียบเท่ากับการฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี

3.ผู้หญิงที่เคยเป็นหรือกำลังมีหูดหงอนไก่ หรือรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก หรือมีผลตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยาปากมดลูกผิดปกติ หรือตรวจพบเชื้อ HPV กลุ่มความเสี่ยงสูง ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับสตรีทั่วไป และ 4. ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจหาเชื้อ HPV กลุ่มเสี่ยงสูงก่อนเริ่มฉีดวัคซีน

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าการฉีดวัคซีนมีผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ หรือมีผลต่อทารก แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรรับการฉีดวัคซีน หากได้เริ่มฉีดไปแล้วให้หยุดฉีดวัคซีนเข็มที่เหลือ ไม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง และให้กลับมาฉีดต่อหลังคลอดจนครบ 3 เข็ม ส่วนหญิงที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่มีผลกระทบหรือผลเสียต่อทารก

อ่านข่าว

ถ้าเราเป็น “มะเร็ง” ต้องรักษายังไงบ้าง

30 บาทรักษาทุกที่ทำคนไข้สับสน สปสช.ย้ำเร่งแก้ปัญหาใบส่งตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง