ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทรัมป์ "ล้วงลูกงานวิจัย" จุดบอด "วิชาการ" ในมืออำนาจนิยม

ต่างประเทศ
10 ก.พ. 68
15:45
118
Logo Thai PBS
ทรัมป์ "ล้วงลูกงานวิจัย" จุดบอด "วิชาการ" ในมืออำนาจนิยม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เพียงวันแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการ "โดนัลด์ ทรัมป์" ไม่แค่เข้าแทรกแซงการทำงานทุกหน่วยงานภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเข้าไปล้วงลูกแก้กฎหมาย ในกระทรวงยุติธรรม ปมเอกสารลับ แทรกแซง Federal Reserve หรือ Fed รวมทั้ง "หน่วยงานวิจัย" ก็ไม่ได้ยกเว้น

ทั้งยังลามไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ และนานาประเทศที่สหรัฐ ฯ เคยให้การสนับสนุน และเป็นแหล่งทุนให้มาอย่างยาวนาน หลาย ๆ ดาบที่ "ทรัมป์" ฟันฉับลงไป นอกจากงานสิ่งแวดล้อมแล้ว มีงานวิชาการด้านสาธารณสุข ที่เรียกเสียงฮือฮา คือ คำสั่งระงับบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่

อ่านข่าว: "ทรัมป์" ลงนามคำสั่งคว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ

Morbidity and Mortality Weekly Report หรือ "MMWR" วารสารวิชาการสาธารณสุข สังกัด Centers for Disease Control and Prevention หรือ "CDC" องค์กรอิสระด้านการควบคุมโรคและสุขอนามัย โดยทรัมป์สั่งให้ระงับการเผยแพร่บทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ "ไข้หวัดนก" พร้อมกับแนะนำแกมบังคับให้ทำงานวิจัยด้าน "ไฟป่า" แทน

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

วารสารวิชาการ MMWR เป็นกระบอกเสียง ของ CDC เผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 1952 จุดประสงค์ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการเฝ้าระวังโรคระบาดและโรคติดต่อแก่ประชาชน และยังเป็น "คลังข้อมูล" ทั้งในเชิงสถิติและคำแนะนำให้กับรัฐบาล ข้าราชการประจำ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณสุขมาช้านาน

จริงอยู่ที่ CDC แม้จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ยังต้องฟังคำสั่งจากฝ่ายการเมือง ในฐานะผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ทั้งในด้านของ "การสร้างองค์ความรู้" ซึ่งถือเป็น "พื้นที่สงวน" ที่ต้องปลอดจากการแทรกแซงทั้งปวง ไม่เช่นนั้น ความรู้ที่ผลิตออกมา จะมีคำครหาได้ว่า "ขาดความเป็นกลางทางวิชาการ (Subjectivity)"

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

"ทรัมป์" "ชี้นำ" วิชาการ ชีวิต​ประชาชน "ดีขึ้น" ?

ความรู้ ย่อมเป็น ความรู้ โลกวิชาการจะดำรงความบริสุทธิ์ในฐานะ "พื้นที่แสวงหาปัญญา" ได้ จะต้องปราศจากการแทรกแซง หรือคุณค่าว่าด้วยประโยชน์ใช้สอย จาก "วิชาชีพ" เช่น การเป็นข้าราชการ หรือพนักงานของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะ วิชาวิทยาศาสตร์ (Science) ต้องตระหนักให้มาก ๆ เพราะเป็นส่วนสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนความรู้ที่ใช้สอยได้ง่ายที่สุด

ผศ.ดร. พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในงานเสวนา "ธเนศปั่นป่วน" ความว่า "นักวิชาการ ต้องทำงานวิชาการอย่างแท้จริง … ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็น เนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ อะไรทำนองนี้"

ส่วน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน กล่าวไว้ในวิดีโอ เพนกวินถาม-ธงชัย วินิจจะกูลตอบ: ว่าด้วยการศึกษาและวิชาประวัติศาสตร์ ความว่า "หากเรียนเพื่อประโยชน์ใช้สอย คณิตศาสตร์ ในตัวมันเอง เรียนไปเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร"

บทความวิจัย Rethinking Science as a Vocation: One Hundred Years of Bureaucratization of Academic Science เขียนโดย อี ยูนา (You-Na Lee) และ ยอห์น วอลช์ (John P. Walsh) เสนอว่า สำหรับ มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) พหูสูตทางรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาแล้ว วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) เป็นข้อยกเว้น

พื้นฐานหลักวิชาเหล่านี้ ระบุไว้ว่า ให้ทำเพื่อผู้คน สร้างชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เช่น สาธารณสุข ดังนั้น วิธีคิดด้านการทำวิจัย ก็จะต้องสนองตอบต่อการยกระดับคุณภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

ที่มา: Wikimedia

กลับมาที่กรณีของ ทรัมป์ กับ CDC ในเมื่อการวิจัยภายใต้หลักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ต้องทำเพื่อประชาชน ดังนั้น การที่ทรัมป์ "ชี้นำ" โดยกำหนด "เป้าหมายงานวิจัย" จึงไม่อาจที่จะกล่าวโทษอย่างสาดเสียเทเสียได้เต็มปาก อย่าลืมว่า CDC ไม่ได้มีอำนาจที่จะ "กำหนดนโยบาย" ด้วยตนเอง ต้องกระทำร่วมกับ "ฝ่ายบริหาร" ดังนั้น หากรัฐบาล "เห็นควร" ให้สิ่งใดเป็น "Priority" สิ่งนั้นย่อมหมายความว่า "กระทบ" ชีวิตที่ดีของประชาชน

โอเล เวเวอร์ (Ole Wæver) ระบุไว้ในงานวิจัย Securitization and Desecuritization ว่า รัฐบาลเป็น "ผู้ผูกขาด" การกำหนดว่า สิ่งใดกระทบหรือท้าทาย "ความมั่นคง" ของประเทศ และหากสิ่งใด "จำเป็นเร่งด่วน" จริง ๆ รัฐบาลจะใช้ "วิธีการหรือช่องทางพิเศษ" ในการสั่งการให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เช่น การเกิด Covid-19 รัฐบาลส่วนใหญ่ประกาศ "พ.ร.ก. ฉุกเฉิน" แทบจะทันที

กรณีชี้นำประเด็นวิจัยด้านไฟป่า ก็เช่นเดียวกัน ด้วยความที่ทรัมป์ เล็งเห็นว่า ไฟป่านั้น "กระทบความมั่นคงภายใน" ของประเทศ โดยเฉพาะ เหตุการณ์ไฟป่ามหาวิบัติล้างผลาญที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย MMWR ในฐานะ "คลังความรู้และงานวิจัย" ด้านสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะเป็น "หัวเรือ" ในการวิจัยและพัฒนา "แนวทางป้องกันและแก้ไข" ไฟป่า ซึ่งทรัมป์เห็นว่าเร่งด่วนกว่าประเด็นอื่น ๆ ที่ MMWR กำลังกระทำอยู่มาก

ในโลกของทุนนิยมแบบตลาดเสรี ความเป็นวิชาการแบบเพียว ๆ "แทบจะ" ดำรงอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะหลักวิชาใด ๆ ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญ คือ ความเป็นวิชาการ "แบบใด" ที่สมควรแก่การ "สงวนไว้" หรือ "ขึ้นหิ้ง" เสียมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับวิชาการสาธารณสุขสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ "อาจจะรับได้" ในแง่ของการชี้นำวิจัยเพื่อความมั่นคง

หากแต่ทรัมป์ เมาอำนาจ ชี้นิ้วสั่งในประเด็นที่นอกเหนือหรือหลุดโลกไปไกล เมื่อถึงเวลานั้น การวิพากษ์ในประเด็น แทรกแซง โดยฝ่ายการเมือง ย่อมไม่สายเกินไป

แทรกแซง" งานวิจัย "ไข้หวัดนก" เสียมากกว่าดี

ดังจะเห็นได้ว่า ทรัมป์ อาจ "เลือกประเด็น" ที่เล็งเห็นว่ากระทบต่อ "ความมั่นคงภายใน" เป็นที่สุด จึงหยิบไฟป่า ขึ้นมาเป็น Priority เหนือกว่าไข้หวัดนก ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะสถิติของ USGS ระบุว่า ความเสียหายจากไฟป่า มีมากกว่า 40,000 เอเคอร์ และสถิติของ UCLA ระบุว่า มีมูลค่าความเสียหายรวม 75,000 ล้านบาท และ GDP ของประเทศลดลงในอัตราร้อยละ 0.48 เลยทีเดียว แตกต่างกับไข้หวัดนก ที่ตอนนี้ ยังระบาดอยู่ในปศุสัตว์และผู้เลี้ยงเท่านั้น

แต่การกระทำเช่นนี้ของทรัมป์ ผลเสียที่ตามมา คือ การขาดหายไปของงานวิจัยด้านไข้หวัดนก ที่อาจจะส่งผลสืบเนื่องที่ "รุนแรง" ตามมาในอนาคตได้ เมื่อจัด Priority ไปที่ไฟป่าเพียงอย่างเดียว

เท่ากับว่า บรรดานักวิจัยและนักวิชาการประจำ MMWR ต้องทิ้งประเด็นอื่น ๆ มาสนองความต้องการของทรัมป์ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ไข้หวัดนกระบาดเป็นวงกว้างในประชาชนมากยิ่งขึ้น เท่ากับว่า ฝ่ายบริหารและข้าราชการประจำ จะไม่มีข้อเสนอแนะทางวิชาการให้ไปจัดทำนโยบายสาธารณสุขได้เลย

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

ที่มา: Freepik

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความกังวลด้าน "ความน่าเชื่อถือ" ของงานวิจัยจาก MMWR อีกด้วย เนื่องจาก การสร้างสมบารมี และสร้างแบรนด์ของตนเองในฐานะ หน่วยงานวิจัยที่เป็น "อิสระ" จากรัฐบาล มีอำนาจในการคิดหัวข้อวิจัยและออกทุนวิจัยของตนเอง แต่การที่ทรัมป์แทรกแซงเช่นนี้ ทำให้ผู้คน "หมดศรัทธา" ในหน่วยงานได้

อ่านข่าว: ศาลสหรัฐฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามพักงาน จนท. USAID

กระนั้น ความเป็นอิสระทางวิชาการ ได้รับการตั้งแง่จากทรัมป์ ว่าทำงานวิชาการจริง ๆ หรือทำงานวิชาการที่เสนอ "ด้านเดียว" กันแน่ ซึ่งยังต้องจับตาต่อไป ในประเด็นการตัดความช่วยเหลือทางวิชาการของ USAID เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง