ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขข้อสงสัย "วัคซีน HPV" เหมาะกับใคร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

สังคม
10 ก.พ. 68
17:59
163
Logo Thai PBS
ไขข้อสงสัย "วัคซีน HPV" เหมาะกับใคร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดตั้งแต่วัยเด็กทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของ มะเร็งปากมดลูก ที่พบมากเป็นอันดับที่ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก และลำดับ 5 ของประเทศไทย ชวนมารู้จักไวรัส HPV ให้ชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจเรื่องวัคซีน HPV ให้มากขึ้น 

เชื้อ HPV คืออะไร  

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อน HPV ย่อมาจาก Human papilloma virus เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุของ มะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสนี้ทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรังและสามารถพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ มีหลากสายพันธุ์มาก แต่สายพันธุ์ที่พบได้มากที่สุดเป็นสายพันธุ์ 16 และ 18 

นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น 

นพ.สกานต์ บุญนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เคยอธิบายไว้ว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ และร่างกายกำจัดเชื้อได้เอง แต่มีเพียง 5-10% เท่านั้นที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงจากร่างกายได้ ทำให้การติดเชื้อคงอยู่นาน (persistent HPV) 

การติดเชื้อ HPV ในลักษณะคงอยู่นานหากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 95% ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15 - 20 ปี หลังการติดเชื้อจนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง

อาการของการติดเชื้อ HPV

การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ ดังนี้

หูดหงอนไก่ 

หูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ เป็นตุ่มเล็ก ๆ ผิวไม่เรียบหลาย ๆ ตุ่ม มีอาการคันได้ สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก

ลักษณะของหูด หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง และหากสัมผัสจะรู้สึกว่าผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ มีได้หลายสี พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก หูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย

นอกจากนี้ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น หูดชนิดแบนราบ - เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หูดฝ่าเท้า - มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน

แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมากที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่ เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้าย ดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

อาการตกขาวผิดปกติ และสัญญาณเตือนอื่น ๆ 

ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV อาจพบอาการผิดปกติของตกขาวร่วมด้วย เช่น

  • ตกขาวมากกว่าปกติ
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น  
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด มีอาการเป็นๆหายๆ
  • หากติดเชื้อที่ทวารหนัก จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ
  • ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง
  • หากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

เมื่อทราบถึงสาเหตุที่ก่อมะเร็งปากมดลูก ทำให้เราสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้จากการฉีดวัคซีน HPV การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และการรักษาโรคตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง การป้องกันตั้งแต่วันนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคนี้

วัคซีน HPV คืออะไร 

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HPV รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HPV ได้อีกด้วย เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก, โรคมะเร็งช่องคลอด, โรคมะเร็งช่องปาก, โรคมะเร็งทวารหนัก หรือหูดที่อวัยวะเพศ เป็นต้น

วัคซีน HPV มีกี่ชนิด 

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันนี้มีอยู่ทั้งหมด 3 ชนิดหลัก ตามจำนวนของสายพันธุ์ที่บรรจุอยู่ในวัคซีน ดังนี้

  • วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) ประกอบด้วย แอนติเจนของเชื้อ HPV 16 และ 18
  • วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent) ประกอบด้วย แอนติเจนของเชื้อ HPV 6, 11, 16 และ 18
  • วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ (nonavalent) ประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อ HPV 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58

อย่างไรก็ตามมีข้อห้ามของการฉีดวัคซีน HPV ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และคนที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง หรือการฉีดเข็มก่อนแล้วทำให้มีอาการแพ้อย่างรุนแรง

วัคซีนชนิด 4 และ 9 สายพันธุ์ มีส่วนประกอบของยีสต์โปรตีน หากมีประวัติแพ้ยีสต์ ควรเลี่ยงการฉีด และหากมีภาวะเจ็บป่วยปานกลางหรือรุนแรงจะมีไข้หรือไม่ก็ตาม ควรเลื่อนฉีดวัคซีน

สำหรับแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูกของกระทรวงสาธารณสุขมีการกำหนดนโยบายให้ฉีดวัคซีน HPV แก่เด็กหญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11-12 ปี โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน

ใครควรฉีด วัคซีน HPV

กลุ่มประชากรที่เหมาะสมกับการฉีดวัคซีน HPV มีข้อแนะนำจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ดังนี้

1. กลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV คือ ผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ได้แก่ เด็กหญิง (วัคซีนชนิด 2, 4 หรือ 9 สายพันธุ์) และเด็กชาย (วัคซีนชนิด 4 หรือ 9 สายพันธุ์) ที่อายุ 11-12 ปี และหากไม่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุดังกล่าวสามารถฉีดในช่วงอายุ 13-26 ปีได้

2. การฉีดวัคซีนใน ผู้หญิง และ ผู้ชาย อายุ 27-45 ปี ให้พิจารณาฉีดวัคซีนเป็นราย ๆ ไป ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับคำอธิบายถึงประโยชน์ที่จะได้รับและอาจไม่เทียบเท่ากับการฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี

3. ผู้หญิงที่เคยเป็น หรือกำลังมีหูดหงอนไก่ หรือรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก หรือมีผลตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยาปากมดลูกผิดปกติ หรือตรวจพบเชื้อ HPV กลุ่มความเสี่ยงสูง ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV  เช่นเดียวกับสตรีทั่วไป

4. ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจหาเชื้อ HPV กลุ่มเสี่ยงสูงก่อนเริ่มฉีดวัคซีน

ผู้หญิงที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV ครบแล้วยังคงต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ด้วย 

ผลข้างเคียงและข้อแนะนำหลังฉีดวัคซีน HPV

การฉีดวัคซีน HPV ถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทั่วไปมีผลข้างเคียงน้อยและสามารถหายได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลมากนัก อย่างไรก็ตาม บางรายอาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยหลังฉีด ซึ่งพบได้ทั่วไป เช่น

อาการบริเวณที่ฉีด ปวด บวมแดง คัน อาการทั่วไปของร่างกาย มีไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ หรืออาเจียน ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้มักหายไปเอง

แม้ผลข้างเคียงจากวัคซีน HPV จะไม่รุนแรง แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำหลังฉีด จะช่วยให้วัคซีนออกฤทธิ์ได้เต็มที่และลดความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์ 

  • หลังฉีดวัคซีนควรนั่งหรือนอนพัก 30 นาที เพื่อเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือแพ้วัคซีน
  • หากเป็นไปได้ ควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองมาด้วย เพื่อช่วยดูแลหากเกิดอาการข้างเคียง
  • งดออกกำลังกายอย่างน้อย 24 ชั่วโมง 
  • หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีน HPV หรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด

วิธีป้องกัน-ลดความเสี่ยงติดเชื้อ HPV 

  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

อ้างอิง : กรมการแพทย์, โรงพยาบาลเปาโล, สมิติเวช

อ่านข่าว : ถ้าเราเป็น “มะเร็ง” ต้องรักษายังไงบ้าง

วันมาฆบูชา 2568 เปิดพิกัดวัดใกล้รถไฟฟ้า "เวียนเทียน-ไหว้พระ"

"นาโอมิ" เยือนไทยพบ "แพทองธาร" ลุยแฟชั่น-ซอฟต์พาวเวอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง