วันนี้ (10 ก.พ.2568) ตัวแทนผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย พร้อมสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ติดเชื้อ ชมรมมะเร็งเต้านม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นัดรวมกันที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ สปสช.เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่อง "ใบส่งตัว" ที่ซับซ้อนและสร้างความยุ่งยากให้กับกลุ่มผู้ป่วย
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiW6jKHtAU1IvpDFsF1sJf0U.jpg)
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่เป็นนโยบายที่ดี แต่ชื่อนโยบายอาจจะสร้างความสับสน เพราะคำว่าทุกที่ตามนโยบายนี้ หมายถึงหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ รวมถึงร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วม และเป็นเพียงทางเลือกใหม่เสริมจากขั้นตอนการรักษาเดิมที่มีอยู่ แต่ในการรักษาที่หน่วยบริการที่รับส่งต่อ ยังต้องใช้ใบส่งตัวผู้ป่วยอยู่ ทำให้เกิดความสับสน
นอกจากนี้การรับยาที่หน่วยบริการประจำของผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ยังเป็นปัญหา ด้วยมีการจ่ายยาที่จำกัด ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางหลายเที่ยว ดังนั้นจึงมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอให้มีการพัฒนาระบบบริการที่ดีกว่านี้ เนื่องจากเราเป็นผู้ป่วย เป็นผู้ที่อยู่ปลายทางที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้อยากให้มีการจัดคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาโดยมีเครือข่ายประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมด้วย
"ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พวกเรายืนเคียงข้างกับระบบบัตรทองมาตลอดและพร้อมที่จะปกป้อง ดังนั้นจึงอยากให้มีการพัฒนาระบบที่ดี โดยเฉพาะกรณีมีนโยบายใหม่ๆ อยากให้มีการทำงานหลังบ้านให้เรียบร้อยก่อน และค่อยประกาศให้ประชาชนรับบริการซึ่งเรารอได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องได้รับผลกระทบและลดความขัดแย้ง"
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiW6jKHtAU1BB6ObsagKgzOL.jpg)
สปสช.เร่งหาทางออกระบบการเบิกจ่าย
รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยที่เกิดขึ้น โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของใบส่งตัวนี้ มีความเกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นหน่วยบริการ ผู้รับบริการที่เป็นผู้ป่วย และระบบการเบิกจ่ายต่างๆ โดยปัญหาเหล่านี้ สปสช. อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ดีในส่วนของโรคมะเร็งรักษาทุกที่ เชื่อว่าน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงแล้ว เนื่องจาก สปสช. ได้ให้กลับไปใช้ประกาศฉบับเดิม โดยกรณีของการดูแลค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำแล้ว รวมถึงครอบคลุมการดูแลในส่วนการรักษาผู้ป่วยนอกที่จำเป็น โดย สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามจะมีการทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพด้านมะเร็งเพิ่มเติม เพื่อลดความสับสนกรณีการขอใบส่งตัวผู้ป่วยมะเร็ง โดยยืนยันว่า สปสช. อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiW6jKHtAU0884w1pU53OcZ2.jpg)
ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งรักษาทุกที่ ณ วันนี้ สปสช. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้ป่วยตามนโยบายนี้ โดยหน่วยบริการประจำไม่ต้องตามจ่ายแล้ว แต่ในส่วนของการส่งต่อในโรคอื่นๆ นั้น ยังต้องทำการสื่อสารเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการรับส่งต่อยังมีกังวลต่อการเบิกจ่าย ด้วยมองว่างบประมาณมีจำกัด รวมถึงภาระการตามจ่ายของหน่วยบริการประจำ โดยในส่วนนี้ สปสช.จะดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วต่อไป
อย่างไรก็ดี กรณีผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ ไม่ได้ส่งไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ทำให้มีปัญหาการเดินทางนั้น ตรงนี้ผู้ป่วยสามารถยืนยันขอรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ยกเว้นหากมีความสะดวกไม่ต้องรอคิว ซึ่งก็อาจเป็นส่วนที่พิจารณา
"โรงพยาบาลแต่ละสังกัดแตกต่างกัน และโรงพยาบาลบางแห่งดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่พี่พักผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ทุกแห่งมีโควตา เพื่อมาตรฐานในการรักษา ถ้าประชาชนขอย้ายกลับยังโรงพยาบาลว่ามีโควตาหรือไม่ ซึ่งมีโรงพยาบาลแจ้งโควตาเข้ามาก็สามารถย้ายได้"
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiW6jKHtAU1Fn6l8x0jjBIG3.jpg)
ผู้ป่วยสะท้อนปัญหา "ใบส่งตัว"
ผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ ระบุว่าตั้งแต่เปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิในรูปแบบโมเดล 5 หรือการจ่ายตามรายการบริการ การขอใบส่งตัวยากมากต้องขอล่วงหน้า 7-14 วัน เจ้าหน้าที่คลินิกหน่วยบริการปฐมภูมิเปลี่ยนผู้บริหารเดิมจะรักษากับราชวิถี ซึ่งคลินิกจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย ซึ่งหมอจะพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเหมือนกับโรงพยาบาลเดิมหรือไม่ ทำให้เกิดความกังวล ทั้งนี้มีความหวังว่าจะเปลี่ยนระบบให้ดีขึ้น ซึ่งการออกใบส่งตัวดูเหมือนจะแย่ลงกว่าเดิม
ในช่วงแรกจะมีบางคลินิกไม่ส่งเลย สุดท้ายก็มีการแก้ปัญหาเรื่องเงินที่จ่ายให้คลินิก พอเปลี่ยนปีงบประมาณ คลินิกไม่ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐบาล แต่จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย ซึ่งผู้ป่วยต้องแก้ปัญหาโดยการจ่ายเงินเอง
อยากให้ สปสช.แก้ปัญหา และกรณีที่เปลี่ยนสถานพยาบาลผู้ป่วยจะทำอย่างไร
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpDiW6jKHtAU1HjZJBv10h0dQo.jpg)
ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ ระบุว่าประชาชนสับสนว่าจะอย่างไรกับการรักษา ทุกครั้งที่ไปรักษาไม่จ่ายเงิน เข้าถึงยา สิทธิการรักษา แต่ทุกวันนี้แพทย์จ่ายยาให้ 7 วัน ทำให้ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย และต้องการไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่คลินิกไม่ยอมออกใบส่งตัวให้ อีกทั้งการออกใบส่งตัวมีกำหนดวันออกใบส่งตัว และจำกัดจำนวนต่อวัน วันละ 7-10 คน จึงทำให้ผู้ป่วยบางคนต้องมารอคิวตั้งแต่ 05.00 น. ของแต่ละวัน
อ่านข่าว :
ถ้าเราเป็น “มะเร็ง” ต้องรักษายังไงบ้าง