ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แบบไหนง่ายกว่า? มะเร็งตามสิทธิ-มะเร็งรักษาทุกที่

สังคม
10 ก.พ. 68
17:22
180
Logo Thai PBS
แบบไหนง่ายกว่า? มะเร็งตามสิทธิ-มะเร็งรักษาทุกที่

นโยบาย "มะเร็งรักษาทุกที่" หรือ Cancer Anywhere เป็นนโยบายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นมะเร็ง สามารถเลือก (ร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้) ว่าจะเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลใดก็ได้ ที่มีศักยภาพและรอคิวไม่นานโดยผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เรียกว่า "ข้ามเขต-ข้ามจังหวัดได้"

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การรับบริการ "ข้ามเขต-ข้ามจังหวัดได้" กลับสร้างความยุ่งยาก โดยเฉพาะ "ใบส่งตัว" ที่เชื่อมกับ 30 บาทรักษาทุกที่ หากผู้ป่วยมะเร็งจะเข้ารับบริการโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ จะต้องไปขอใบส่งตัวจากคลินิกปฐมภูมิต้นสังกัดตามสิทธิ 

สอดคล้องกับช่วงปลายปี 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ รายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568

รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร จนกลายเป็นประเด็นหลัก ทำให้โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ ต้องออกมาประกาศว่า การรักษามะเร็งรักษาทุกที่ จะต้องมีใบส่งตัวเท่านั้น

หากไล่เลียงไทม์ไลน์ ปัญหาที่เกิดขึ้น สปสช.ไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จนถึงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาความพยายามแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องใบส่งตัวการเบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังเป็นปัญหาทั้งโรงพยาบาล-ผู้ป่วย

อ่านข่าว วายร้ายเงียบ "มะเร็ง" ไทยป่วยรายใหม่พุ่ง 1.4 แสนคน

ทำให้มีการผ่อนผันการใช้เกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่จากเดิมที่จะบังคับใช้ต่อไปอีก 3 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2568

ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ภาพ สปสช.)

ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ภาพ สปสช.)

ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ภาพ สปสช.)

กระทั่งมีการตกผลึกในการประชุมเมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา นำโดยผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข กรณีการรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Anywhere) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

มีมติให้โรงพยาบาลใช้หลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับเดิม ปี 2566-2567 ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 

จากนั้นนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.ได้รับทราบข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าว และได้ลงนามคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย.2568 ซึ่งจะมีผลทำให้กลับไปประกาศหลักเกณฑ์ ฉบับเดิมปี 2566-2567

อ่านข่าว 30 บาทรักษาทุกที่ทำคนไข้สับสน สปสช.ย้ำเร่งแก้ปัญหาใบส่งตัว

มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

ข้อมูลจากมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง อธิบายถึงมะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อมไว้ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาครอบคลุมทุกกระบวนการ รวมถึงตรวจติดตาม ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และใกล้บ้าน ได้อย่างรวดเร็ว
  • ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ รองรับการส่งต่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลต่างพื้นที่ที่มีความพร้อมโดยไม่ต้องใช้ "ใบส่งตัว" และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
  • ลดเวลารอคอย เนื่องจากกระบวนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีสิทธิบัตรทอง 
  • ลดปัญหาการส่งตัว การส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งทำได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาทำใบส่งตัว โดยจะมีเจ้าที่ประสานงานให้
  • ไม่ต้องเดินทางเพื่อขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลต้นสังกัด เนื่องจากมีการใช้ระบบฐานข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล
  • ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
  • การอนุญาตให้หน่วยบริการเบิกจ่ายค่าดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งจาก สปสช. โดยตรง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากต้นสังกัด ครอบคลุมการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การติดตามผลการรักษา แต่การเปลี่ยนแปลงใหม่ (เดิมตั้งแต่ 1 ม.ค.68) ระบบที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจะถูกจำกัดเฉพาะในส่วนของ การให้ยาและการฉายแสง  

อ่านข่าว ถ้าเราเป็น “มะเร็ง” ต้องรักษายังไงบ้าง

เมื่อ 26 พ.ย.2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า สปสช.ยังคงดำเนินการตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ แต่กำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ เฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งนี้รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568

สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายเนื่องจากพบว่า การจ่ายเงินจากกองทุน Cancer Anywhere พบว่าไม่ได้จ่ายเฉพาะการรักษามะเร็งอย่างเดียว แต่จ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่อง investigation (สอบสวนโรค )

โรคอื่นที่ไม่สัมพันธ์กับการรักษามะเร็งในครั้งนั้นมากกว่า 50% ดังนั้นเพื่อให้การจัดการงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนของการเบิกจ่ายงบในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายใหม่

โดยแยกรายการเบิกจ่ายการรักษาโรคแทรก โรคร่วม หรือโรคอื่นๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ออกจากการจ่ายมะเร็งรักษาทุกที่ ซึ่งโรคเหล่านี้ เป็นค่าบริการที่อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จัดสรรให้กับหน่วยบริการไว้อยู่แล้ว และจ่ายเฉพาะบริการที่เกี่ยวกับมะเร็ง ได้แก่ เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษา

กลับไปใช้เกณฑ์เดิมปี 2567

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ชี้แจงเงื่อนไขการจ่ายที่จะมีการเปลี่ยนแปลงให้กับหน่วยบริการไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 พบว่ามีข้อเสนอแนะให้มีการปรับเงื่อนไขใหม่ เนื่องจากความกังวลว่าจะกระทบการให้บริการแก่ผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

ส่วนกรณีเงื่อนไขการจ่ายรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2568 สปสช.ได้หารือร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อทบทวนเงื่อนไขการจ่ายเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วยและการให้บริการของหน่วยบริการ 

จากนั้นเมื่อ 6 ก.พ.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ได้รับรายงานจากล่าสุด นพ.จเด็จว่า 

วันนี้รวมถึงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการตามนโยบายนี้ ได้ตามแนวทางบริการเดิมที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวรับรองสิทธิในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากหน่วยบริการประจำ โดย สปสช.เป็นรับผิดชอบดูแลการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายตามนโยบาย เช่นเดิม หน่วยบริการสามารถเบิกได้ทั้งค่ารังสีรักษา ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด โรคแทรกซ้อนของมะเร็ง และโรคอื่นที่คนไข้มะเร็งเป็นร่วม

สำหรับการส่งข้อมูลผู้ป่วยนั้น มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ TCB Plus ของสถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์ และ Health Link ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ลงทะเบียน รับส่งต่อ และดูข้อมูลผู้ป่วยอยู่แล้ว โดยทาง รพ.รับส่งต่อสามารถดูข้อมูลผู้ป่วยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ได้

ขณะนี้สปสช.ลงนามคำสั่งยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์มะเร็งรักษาทุกที่ฉบับใหม่ ที่จะบังคับใช้ 1 เม.ย.นี้แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้กลับไปประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับเดิมปี 2566-2567 ได้ส่งหนังสือแจ้งเวียนหน่วยบริการทั่วประเทศรับทราบแล้ว

โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง "รังสีรักษา"

จากข้อมูลพบว่าทั่วประเทศมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา จำนวน 41 แห่ง ที่พร้อมให้บริการและรองรับนโยบาย Cancer Anywhere โดยสามารถแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ตามภูมิภาค

ภาคเหนือ

  • รพ.มหาราชนครเชียงใหม่
  • รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่
  • รพ.ลำปาง
  • รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก
  • รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • รพ.รังสีวิทยาพิษณุโลก 

ภาคอีสาน

  • รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น
  • รพ.ขอนแก่น
  • รพ.ร้อยเอ็ด
  • รพ.มะเร็งอุดรธานี
  • รพ.สกลนคร
  • รพ.มหาราชนครราชสีมา
  • รพ.สุรินทร์
  • รพ.มะเร็งอุบลราชธานี

ภาคกลาง

  • รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์
  • รพ.มะเร็งลพบุรี
  • รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี จ.ปทุมธานี
  • รพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี

ภาคตะวันตก

  • รพ.ราชบุรี
  • รพ.สมุทรสาคร

ภาคตะวันออก

  • รพ.มะเร็งชลบุรี
  • รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี
  • รพ.แคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา จ.ชลบุรี
  • รพ.วิภารามอมตะนคร
  • โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพระยอง

กรุงเทพมหานคร

  • รพ.ศิริราช
  • รพ.จุฬาลงกรณ์
  • รพ.รามาธิบดี
  • รพ.ราชวิถี
  •  รพ.ภูมิพลอดุลยเดช
  • รพ.พระมงกุฏเกล้า
  • รพ.วชิรพยาบาล
  • รพ.จุฬาภรณ์
  • รพ.ศูนย์มะเร็งกรุงเทพมหานคร
  • รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒนโอสถ
  • สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
  • โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

อ่านข่าว

ไขข้อสงสัย "วัคซีน HPV" เหมาะกับใคร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง