ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตไข้หวัดใหญ่ญี่ปุ่น! นักท่องเที่ยวเสี่ยงแค่ไหนและควรทำอะไร ?

ต่างประเทศ
4 ก.พ. 68
08:54
1,077
Logo Thai PBS
วิกฤตไข้หวัดใหญ่ญี่ปุ่น! นักท่องเที่ยวเสี่ยงแค่ไหนและควรทำอะไร ?
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ บาร์บี้ ซู นักแสดงชื่อดังเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากและการขาดแคลนยาในการรักษา ทำให้ระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นเผชิญความท้าทายอย่างหนัก

วันนี้ (4 ก.พ.2568) การเสียชีวิตของ บาร์บี้ ซู (Barbie Hsu) นักแสดงชื่อดังชาวไต้หวันจากภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น สร้างความเสียใจให้กับแฟน ๆ ทั่วเอเชีย โดยเฉพาะในจีนและไต้หวัน ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากซีรีส์ยอดนิยม รักใสใสหัวใจ 4 ดวง เมื่อปี 2544 เธอเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นหลังมีอาการป่วยหนักระหว่างทริปท่องเที่ยวช่วงวันหยุด แต่ไม่สามารถฟื้นตัวได้และเสียชีวิตลงจากภาวะปอดบวมที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่

การเสียชีวิตของเธอเกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความรุนแรงของโรคในปีนี้ และความพร้อมของระบบสาธารณสุขญี่ปุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

อ่านข่าว : ไข้หวัดใหญ่ปิดตำนาน "ซานไช่" รักใสใสหัวใจ 4 ดวง วัย 48 ปี

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

 

"คิวชู" พื้นที่ระบาดไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น

เว็บไซต์ Nippon.com รายงานว่าช่วงปลายปี 2567 ญี่ปุ่นพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงกว่าปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างวันที่ 23-29 ธ.ค.2567 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวน 317,812 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบเก็บข้อมูลปัจจุบันในเดือน เม.ย.2542 (15 ปี) โดยอ้างอิงจากรายงานของสถานพยาบาลที่กำหนดไว้ 5,000 แห่งทั่วประเทศ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 64.39 ราย/สถานพยาบาล ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมที่ 57.09 ราย ในเดือน ม.ค.2562

คิวชูเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดต่อสถานพยาบาล ได้แก่

  • โออิตะ 104.84 ราย
  • คาโงชิมะ 96.40 ราย
  • ซากะ 94.36 ราย
  • คุมาโมโตะ 92.56 ราย
  • มิยาซากิ 90.24 ราย

ยกเว้นเพียง 4 จังหวัด ได้แก่ อาคิตะ, ยามากาตะ, โทยามะ และ โอกินาวะ ทุกจังหวัดมีอัตราผู้ป่วยเกินระดับเตือนภัยที่ 30 ราย/สถานพยาบาล

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ผ่อนปรนโควิด-19 ทำไข้หวัดใหญ่ระบาด ?

จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากการเดินทางและการพบปะกันมากขึ้นในช่วงวันหยุดส่งท้ายปี เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า การเปิดพรมแดนและการเดินทางระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศอาจถูกนำเข้ามาและแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเดินทาง กิจกรรมเฉลิมฉลองในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ประชาชนมีโอกาสใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

ศาสตราจารย์ ฮิโรยูกิ คุนิชิมะ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เซนต์มารีอันนา ระบุว่า ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนอ่อนแอลง เนื่องจากไม่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่มาระยะหนึ่ง เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ในปี 2563-2565 ทำให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกัน เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งช่วยลดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปด้วย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สำนักข่าว Kyodo news+ ยังรายงานการขาดแคลนยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Sawai Pharmaceutical Co. และ Chugai Pharmaceutical Co. ได้ประกาศระงับการจำหน่ายยา Tamiflu และยาสามัญที่มีตัวยาเดียวกันชั่วคราว เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ต่อมา Sawai วางแผนที่จะกลับมาจัดหายาได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ. ขณะที่ Chugai ระบุว่าจะระงับการส่งยาบางส่วนจนถึงปลายเดือน ก.พ.

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ระบบการรักษาพยาบาลและข้อควรรู้ในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูง แต่สำหรับ นักท่องเที่ยวต่างชาติ การเข้าถึงการรักษาอาจมีความท้าทายหลายประการ เช่น

  • ค่ารักษาพยาบาลสูง หากไม่มีประกันการเดินทาง อาจต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก
  • อุปสรรคด้านภาษา แม้ในเมืองใหญ่จะมีแพทย์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่ในพื้นที่ชนบท โรงพยาบาลหลายแห่งใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก
  • การจองคิวและเวลารอ โรงพยาบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องนัดหมายล่วงหน้า โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพของญี่ปุ่น
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรทำหากป่วยในญี่ปุ่น

  • ตรวจสอบว่าประกันการเดินทางครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ นักท่องเที่ยวควรมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาในต่างประเทศ เพราะค่ารักษาในญี่ปุ่นอาจสูงมาก
  • ค้นหาโรงพยาบาลหรือคลินิกที่รับผู้ป่วยต่างชาติ จาก เว็บไซต์ของสถานทูตไทยในญี่ปุ่นและองค์กรทางการแพทย์ เช่น Japan National Tourism Organization (JNTO) มีข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยต่างชาติ โทร. 050-3816-2787 ซึ่งเป็นสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว หรือ กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น เว็บไซต์นี้มีข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุขภาพของญี่ปุ่นอย่างละเอียด รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
  • หากไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ควรมีแอปพลิเคชันแปลภาษาหรือบัตรคำศัพท์ทางการแพทย์ติดตัว
  • เตรียมยาและเวชภัณฑ์พื้นฐาน เนื่องจากมีรายงานปัญหาการขาดแคลนยา นักท่องเที่ยวควรพกยาพื้นฐาน เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ติดตัวไปด้วย
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

การเสียชีวิตของ บาร์บี้ ซู ท่ามกลางการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคในปีนี้ และเป็นเครื่องเตือนใจว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และการป้องกันตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาว

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลและขาดแคลนยา ทำให้การเข้าถึงการรักษาสำหรับนักท่องเที่ยวอาจเป็นเรื่องยากขึ้น การเตรียมพร้อมล่วงหน้า เช่น ทำประกันการเดินทาง ศึกษาระบบสาธารณสุข และพกพายาสำรอง จะช่วยให้นักเดินทางสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น

อ่านข่าวอื่น :

"ทรัมป์" สั่งพักขึ้นภาษี 1 เดือน แคนาดา-เม็กซิโก เล็งเจรจาเพิ่ม

บุกทลายบ่อนใหญ่ จ.นครนายก จับนักพนันกว่า 100 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง