ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"รางจืด" สมุนไพรฤทธิ์เย็น ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ - ข้อควรระวัง

สังคม
1 ก.พ. 68
08:23
181
Logo Thai PBS
 "รางจืด" สมุนไพรฤทธิ์เย็น ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ - ข้อควรระวัง
"รางจืด" สมุนไพรฤทธิ์เย็น แก้พิษ ล้างพิษ ต้านการอับเสบของร่างกาย และอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์ ต้องรู้ข้อควรระวัง

ฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยหายไปไหนแค่บางช่วงอาจเบาบางลงเพราะสภาพอากาศช่วยพัดพาออกไป แต่หากอากาศนิ่ง ไร้ลมฝน หรือมีแหล่งกำเนิดมลพิษเพิ่มขึ้น ฝุ่นก็กลับมาสะสมใหม่ได้ทุกเมื่อ จึงต้องจัดการที่ต้นตอ เช่น ควบคุมการเผาไหม้ การคมนาคมที่ลดปล่อยมลพิษ ไม่อย่างนั้นฝุ่นจิ๋วก็จะเป็นปัญหาที่วนเวียนอยู่เสมอ

PM 2.5 เป็นอันตรายแบบที่มองไม่เห็น จึงต้องป้องกันตัวเองเสมอ เช่น ใส่หน้ากากกันฝุ่น N95 หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงค่าฝุ่นสูง 

ขนาดของฝุ่นที่เล็กจิ๋ว แต่กลับสร้างผลกระทบต่อร่างกายที่ไม่เล็กเลย ทั้งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ การอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคเรื้อรังได้ หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งสะสมในร่างกาย สร้างผลกระทบระยะยาวและอาจกลายเป็นโรคร้ายตามมาได้ ฉะนั้นการดูแลสุขภาพร่างกายทั้งภายนอกและภายใน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม 

อ่านข่าว : เตือนกทม.ฝุ่นสูงอีกรอบ 30 ม.ค.–5 ก.พ.

ในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุม มีสมุนไพรไทยที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ มะขามป้อม มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอและระคายคอ ส่วน ขมิ้นชัน และ ชาชงรางจืด ช่วยลดการอักเสบของร่างกาย

ส่วนปัญหาผิวที่เกิดจากฝุ่น เช่น ผด ผื่น และอาการคัน ควรใช้สมุนไพรที่ให้ความชุ่มชื้นและลดการอักเสบ เช่น ว่านหางจระเข้ บัวบก และ โลชั่นพญายอ หากมีอาการแพ้หรือผื่นลมพิษ แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี พลู หรือ ขี้ผึ้งพญายอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันและการอักเสบของผิวหนัง

สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีสรรพคุณและวิธีการใช้ อย่างไรบ้าง เริ่มที่ "มะขามป้อม" มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบ การระคายเคือง บรรเทาอาการไอ การรับประทานได้ทั้งแบบ ผลสด ผลแห้ง และชาชง

มาต่อที่ "ขมิ้นชัน" มีสารเคอร์คิวมิน สามารถป้องกันการทำลายเซลล์ ระบบทางเดินหายใจ ต้านการอักเสบของร่างกาย จึงรับประทานขมิ้นชันในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศ ได้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้ง แต่ต้องไม่เกิน 9 กรัม/วัน และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตัน และนิ่วในถุงน้ำดี

สุดท้ายคือ "รางจืด" สมุนไพรประเภทไม้เถาชนิดหนึ่งในการแพทยท์แผนไทย ที่มีสรรพคุณที่โดดเด่น เรื่อง การแก้พิษ ล้างพิษ และต้านการอักเสบของร่างกาย สามารถนำมาใช้ได้ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร แต่ผู้ป่วยที่รับประทานยาอื่นประจำ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ผู้ป่วย ตับ ไต ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน    

"รางจืด" ไม่เพียงมีประโยชน์เรื่องการล้างพิษ แต่ในทางการแพทย์แผนไทย มีการใช้รากและเถารางจืด กินเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใบและรากใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล ทำลายพิษยาฆ่าแมลง ความน่าสนใจของสมุนไพรชนิดนี้มีอีกมาก วันนี้จะพาไปทำความรู้จัก สมุนไพร "รางจืด" ให้ชัดเจนขึ้น 

รู้จัก "รางจืด" สรรพคุณ ข้อควรระวัง 

"รางจืด" มีชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifolia Lindl วงศ์ Acanthaceae นอกจากนี้ ยังมีชื่ออื่น ๆ เช่น ภาคกลางเรียก กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเถาเขียว จ.ยะลา เรียก รางเย็น กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก จอลอดิเออ ซั้งกะ จ.ปัตตานี เรียก ดุเหว่า ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช เรียก ทิดพุด  

รางจืด จัดเป็นไม้เถ้า ลำต้นจะเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้มออกเป็นคู่ตรงข้ามตรงข้อของลำต้น ใบมีลักษณะคล้ายใบย่านางรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายเรียวแหลม เส้นใบมี 5 เส้น ดอกช่อจะออกตามซอกใบใกล่ปลายยอด ช่อละ 3-4 ดอก ส่วนกลีบดอกจะออกเป็นรูปแตร ส่วนที่ใช้ทำเป็นยา คือ ใบ ราก และเถาสด 

รางจืดเป็นพืชพบได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย อินโดจีน ศรีลังกา มาเลเซีย อินโนดีเซีย มณฑลกวางตุ้ง  

ใบรางจืด มีองค์ประกอบทางเคมีมากมาย สรรพคุณฤทธิ์เย็นของใบรางจืดอาจเกิดจากสารเคมีหลายตัว มีสารกลุ่มสเตอรอล (sterols) บีตา-ซิโตสเตอรอล , สติกมาสเตอรอล  แอลฟา-สปนาสเตอรอล และสารกลุ่มฟีนอลิก (phenolics) เช่น เอพิเจนิน กรดแคฟเฟอิก สารกลุ่มแคโรทีน เช่น ลูเทอิน 

ข้อมูลการวิจัยพรีคลินิก พบว่า สารสกัดรางจืดด้วยน้ำมีฤทธิ์ลดพิษของสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต และยังลดพิษของยาฆ่าหญ้าพาราควอต นอกจากนี้ รางจืดยังมีฤทธิ์ต้านพิษแอลกอฮอล์ ต้านการอักเสบ และลดน้ำตาลในเลือด 

รางจืด ยังจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2566 ใน 2 กลุ่มอาการ ได้แก่ ยารักษากลุ่มอาการไข้ ผงใบรางจืดโตเต็มที่ ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน มีชนิดชง และ ชนิดแคปซูล

วิธีคั้นน้ำ "ใบรางจืด" 

1. นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด 2.โขลงให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว 3.กรางหรือคั้นน้ำรางจืด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มล.) วันละ 1 ครั้ง หรือกินเมื่อมีอาการ 

การใช้ "รากรางจืด" ถอนพิษ 

1.นำรากรางจืดที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อยตัดความยาวเท่าที่มือจับได้ถนัด แล้วล้างให้สะอาด 2.โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาดหรือน้ำซาวข้าว 3. ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มล.) วันละ 1 ครั้ง เมื่อมีอาการ 

การต้มน้ำรางจืด 

1.นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด 2.ต้มกับน้ำสะอาดจำนวน 1.5 ลิตร จนเดือด แล้วต้มด้วยไฟอ่อนอีก 10 นาที ผสมกับใบเตยหอมเล็กน้อย เพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายเล็กน้อย หรือใบหญ้าหวานตามชอบ 3. เทใส่แก้วดื่มขณะอุ่น หรือเติมน้ำแข็งดื่มแบบเย็น ก็ได้  ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มล.) วันละ 1 ครั้ง หรือ เมื่อมีอาการ 

ชาสมุนไพรรางจืด

1.นำใบรางจืดมาล้างให้สะอาด หั่นใบรางจืดให้เป็นฝอย 2.นำไปตากแดดให้แห้ง เก็บใส่ภาชนะแห้งปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในอุณฟภูมิห้อง 3.การใช้รางจืดฝอยแห้ง 1-2 ช้อนชา ต้มในน้ำเดือด 250-300 มล.ประมาณ 10 นาที เทดื่มอุ่น ๆ 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาดบดบังอาการของไข้เลือดออก 
  • หากใช้ยาเป็นต่อเนื่อง แล้วอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
  • ควรระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ควรระวังใช้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืด อาจเร่งขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง 

รางจืด แม้จะมีสรรพคุณช่วยขับสารพิษ แต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น ลดประสิทธิภาพของยาบางชนิด หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ควรรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เน้นผักและสมุนไพรที่มีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ผักผลไม้สีส้ม แดง ม่วงน้ำเงิน เช่น กะหล่ำปลีม่วง ส้ม หรือรับประทานบล็อกเคอรี่ และผักใบเขียว 

อ่านข่าว :  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, วารสารการแพทย์แผนไทยฯ  

อ่านข่าว : จะเกิดอะไร? เมื่อร่างกายเจอ "ฝุ่น PM 2.5"

เหลืออีก 89 วินาที! นักวิทย์ฯ เตือนโลกเข้าใกล้จุดจบมนุษยชาติ

เจาะอดีต "วัดพระมหาธาตุฯ เมืองนคร" ก่อนขึ้นแท่น "มรดกโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง