จากกรณีสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด จนส่งผลให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ ติดต่อมาแล้วหลายวัน โดยมีมาตรการที่บรรเทาฝุ่นละอองหลายมาตรการ คือ การลดใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยรัฐบาลออกมาตรการให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีจนถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ รวมถึงการห้ามรถบรรทุกเข้าในพื้นที่ชั้นใน กทม.
- ตรุษจีนกับมลพิษทางอากาศ พลังของต้นไม้ในการลดฝุ่น PM 2.5
- "เอกนัฏ" จ่อคุย "พลังงาน" ซื้อ "กากอ้อย-ใบสด" ผลิตไฟฟ้า
รวมถึงมาตรการลดการเผาในภาคการเกษตร คือ ความเข้มงวดห้ามเผาฟางและะไร่อ้อย ที่ขณะนี้ภาครัฐเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์เฟซบุ๊ก Khwan Saeng ระบุ ถึงสาเหตุที่ยังมีการเผาไร่อ้อย และ ทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้
ทำไมต้องเผาอ้อย
รศ.ดร.ขวัญตรี ระบุในบทความ ถึงสาเหตุที่ยังคงมีการ “เผาอ้อย” มีด้วยกัน 5 สาเหตุได้แก่
1.หากไม่เผาอ้อย คนงานจะไม่ตัดอ้อยเนื่องจากในไร่อ้อยมีหญ้ารก มีต้นหมามุ่ย ใบอ้อยบาดตัว ขนใบอ้อยเข้าตา ต้องสางใบอ้อยก่อนซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งผู้ว่าจ้างอาจมีเงินจ้างแต่ก็หาแรงงานมาตัดอ้อยไม่ได้
2.ค่าตัดอ้อยสดสูงกว่าการตัดอ้อยแบบเผา โดยค่าจ้างแรงงานตัดอ้อยกอง 100 ลำ ค่าตัดอ้อยสด 15-18 บ.ต่อกอง แต่ค่าตัดอ้อยเผา 5 บ.ต่อกอง ต้นทุนต่างกันถึง 3 เท่า ส่วนต่างคิดเป็น 10-15% ของราคาอ้อย
3. เจ้าของอ้อยแปลงขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีแรงงาน ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องขายเหมาแปลง หรือให้โควต้ารายใหญ่มาตัดให้ และไม่มีอำนาจต่อรอง และหากไม่ยินยอมก็อาจถูกลักลอบจุดไฟเผา และเมื่ออ้อยถูกเผาจะต้องรีบตัดก่อนที่อ้อยจะเน่า โดยจะต้องส่งโรงงานภายใน 24 ชม.
4. พ่อค้าอ้อยซื้อเหมาอ้อย เนื่องจากบางคนมีความคิดว่า ต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด มิฉะนั้นก็ให้ราคาซื้ออ้อยสูงสู้พ่อค้าอ้อยรายอื่นไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของแปลงไปขายพ่อค้าอ้อยรายอื่นที่ให้ราคาดีกว่า
5. คนตัดไม่ใช่เจ้าของแปลง เจ้าของแปลงไม่มีกำลังพอจะตัดเอง กลายเป็น การตัดจึงอยู่บนแนวคิดที่ "ทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด" ไม่สนใจเรื่องอินทรียวัตถุในดินในระยะยาว ไม่ได้สนใจเรื่องระบบนิเวศน์แมลงในแปลงถูกทำลาย (เนื่องจากแปลงที่เผาจะมีปัญหาแมลงศัตรูพืชมากกว่าแปลงที่ไม่เผา เพราะไม่มีแมลงอื่นเหลือรอดมาช่วยจำกัดประชากร) เจ้าของแปลงต้องยอมอย่างเดียว
เปิดอุปสรรคใช้เครื่องจักรช่วยตัดอ้อย
ขณะที่ กรณีการใช้เครื่องจักรในการตัดอ้อยแทนก็มีข้อจำกัด เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่โตเป็นกอ การจะตัดโคนและแยกใบออกจากลำได้จะต้องสับและต้องเป่าแยกใบหลายรอบ รวมถึงเมื่อเจออ้อยล้มจะต้องจัดให้ต้นตั้งขึ้นมา ซึ่งการจะทำงานได้งานดีและทันเวลาจะต้องมีกำลังพอเครื่องจักรต้องใหญ่
นอกจากนี้ รถตัดอ้อยใหญ่ที่ทำได้ครบกระบวนการ ราคาอยู่ที่ 12 ล้าน ส่วนรุ่นกลาง ๆ หรือมือ 2 ราคาประมาณ 5-6 ล้าน มาซึ่งพร้อมข้อจำกัดและการตัดที่ช้าลง
รวมถึงรถตัดอ้อยขนาดใหญ่จะเข้าพื้นแปลงไร่อ้อยได้ แปลงไร่อ้อยจะต้องไม่มีคันนา รวมถึงระยะระหว่างแถวต้องกว้าง และต้องมีถนนที่ดีสามารถเข้าแปลงถึงได้ และต้องไม่มีหล่มทราย หล่มโคลน เนื่องจากหากรถตัดอ้อยติดหล่มจะต้องนำรถมาฉุดขึ้นทำให้เสียเวลาและสูญเสียรายได้เกือบครึ่งแสน
รวมถึงการเปิดแปลงใหม่เพื่อให้รถบรรทุก 10 ล้อ สามารถเข้าไปขนอ้อยได้ต้องใช้เวลาเพื่อให้รถบรรทุกสามารถจอดขนาบรถตัดอ้อยเพื่อให้เข้า-ออก ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น รถตัดอ้อยจึงมักที่จะไม่เข้าไปตัดในแปลงขนาดเล็กเนื่องจากเสียเวลา และอาจทำรายได้ไม่เพียงพอต่อการผ่อนค่างวดรถตัดอ้อยโดยจะต้องตัดให้ได้วันละ 200 ตันจึงจะเพียงพอในการผ่อนชำระค่างวดรถ
ขณะที่ แนวทางอื่น ๆ ทั้งกรณี รถตัดอ้อยเล็ก, เครื่องสางใบ, เครื่องตัดโคนติดรถไถ, เครื่องตัดวางกองติดรถไถ,รถคีบขึ้นรถบรรทุก ซึ่งกรณีนี้ เริ่มต้นด้วยการใช้รถไถเปิดประทุน แทรกตัวไปในป่าอ้อยแล้ว เพื่อให้เส้นไนลอนตีใบอ้อยจนขาดกระจาย ซึ่งเศษอ้อยจะลอยฟุ้งจนมองไม่เห็นและฝุ่นอาจเข้าตา ซึ่งค่อนข้างยากลำบากต่อคนขับรถไถ และหากกรณีเจออ้อยล้มกลางแปลงไร่อ้อยทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ ก็ต้องจ้างคนงานมาตัด ซึ่งค่าจ้างวันละ 300 บ.อาจไม่มาตัดอ้อย
จากนั้นหลังจากสางใบอ้อยก็มาใช้เครื่องตัดวางรายหรือเครื่องตัดรวมกอง แล้วใช้รถคีบมาคีบลงรถบรรทุก พร้อมคนเรียงอ้อยอีก 2 คนบนรถ โดยสรุปแล้วใช้แรงงานคนใกล้เคียงกับการใช้แรงงานคนแต่มีเครื่องทุ่นแรง
ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนในการตัดอ้อยสด ต้นทุนก็ไม่มีทางต่ำกว่า "ไฟแช็ค ราคา 6 บาท" ไปได้ หากมองในแง่ต้นทุนการตัดอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการเผาอ้อย ต้นทุนการตัดอ้อยเผาต่ำกว่าการตัดอ้อยสด แต่การเผาจะทำให้เสียอินทรียวัตถุในดิน เสียค่าปุ๋ยมากขึ้น ผลผลิตอ้อยต่อปีในปีต่อมาจะแย่ลง การไว้ตออ้อยได้น้อยลง ปัญหาแมลงและวัชพืชมากขึ้น และที่สำคัญ คือ การสร้างมลพิษ PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง
ฤดูหีบอ้อย สาเหตุชาวไร่ต้องเร่งตัด
นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาล เป็นโรงงานที่ใช้ระบบเครื่องจักรขนาดใหญ่ ใช้วงจรไอน้ำในการทำงาน เมื่อเริ่มเดินเครื่องแล้วจะต้องเปิดเดินเครื่องระยะยาวโดยไม่หยุดซึ่งต้องให้มีอ้อยป้อนเข้าอย่างต่อเนื่อง เต็มกำลังการผลิต มิฉะนั้นโรงงานจะขาดทุน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดจึงมีการกำหนดวันเปิดหีบอ้อยและวันปิดหีบ และทำให้ชาวไร่อ้อยจะต้องขายอ้อยในช่วงนี้เท่านั้น
รวมถึง ด้วยการที่อ้อยเป็นพืชไร่อายุยาว สามารถตัดขายปีละ 1 ครั้ง จึงต้องทำให้ชาวไร่อ้อยจะต้องส่งอ้อยเข้าโรงงานให้ทัน ซึ่งกรณีการเผาไร่อ้อย นั้นจึงมีทั้งผู้ที่จงใจ จำใจ และน่าเห็นใจ กรณีถูกลูกหลงไฟลามเข้าไร่ ซึ่งกรณีของการจงใจลักลอบเผานั้นผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
ทางแก้ “เผาไร่อ้อย”
อย่างไรก็ตาม นโยบายในการแก้ไขปัญหาเผาไร่อ้อย ขณะนี้มีหลายมาตรการ โดยมาตรการที่รัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การจำกัดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ไม่เกิน 25% และลดลงเรื่อย ๆ, การให้ชาวไร่ที่นำอ้อยสดมายังโรงงานจะได้คิวเทอ้อยก่อนอ้อยที่ไฟไหม้ นอกจากนี้ยังมี การให้เงินเพิ่ม/รางวัล แก่อ้อยสดสะอาดให้มีส่วนต่างครอบคลุมต้นทุน ซึ่งกรณีนี้โรงงานหลายแห่งได้เพิ่มเงินให้เอง
นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับรถตัดอ้อย และโครงการให้ยืมเครื่องสางใบ การรับซื้อใบอ้อยมาผลิตพลังงาน
รวมถึง เกษตรกรยังรวมแปลงเล็กที่ติดกันเป็นแปลงใหญ่ ร่วมกันวางแผนปลูกอ้อยและวางแนวแถวไปทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถตัดอ้อยด้วยรถตัดอ้อยได้
นอกจากนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.พยายามส่งเสริมมาตรกรลดเผาซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่อ้อย และเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการป้องปรามเพื่อลดการเผา เช่น
แนวทางการส่งเสริมชุดเครื่องจักรเก็บเกี่ยวลดการเผา โดยใช้โดรนประเมินผลผลิตและความหวานของอ้อยในแปลง เพื่อให้สามารถใช้รถตัดอ้อยแบบรวมแปลงเล็กหลาย ๆ แปลงรวมเป็นแปลงใหญ่ หรือ เครื่องสับกลบใบอ้อยในอ้อยตอ โดยเครื่องอัดใบอ้อยจะตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาด 1 นิ้ว ให้ง่ายต่อการขนย้ายและใช้เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากใบอ้อยเพื่อเพิ่มมูลค่า Bio-plastic, Bio-char, ปุ๋ย, และน้ำมันเชื้อเพลิง
รวมถึงการ วางแผนการขนส่ง (Logistic) ใบอ้อย เพื่อให้สามารถขยายพื้นที่รับซื้อใบอ้อยโดยโดรนอัตโนมัติ ซึ่งโดรนจะบินเก็บหลักฐานร่องรอยการเผา จากจุดความร้อนที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ ( AI) จะประมวลผลภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ช่วยจำแนกอ้อยสดและอ้อยเผาที่โรงงาน ซึ่งจากมาตรการต่าง ๆ และผลจากงานวิจัยได้ถูกนำมาใช้และขยายพื้นที่ตัดอ้อยสดมากขึ้นมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องเพิ่มคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งการติดตาม จับกุม ปรับ ขัง ผู้ที่จุดไฟวางเพลิง ซึ่งค่อนข้างยาก รวมถึงกรณีที่มีผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาเกี่ยวข้อง โดยสรุปแล้ว การที่โรงงานรับซื้ออ้อยสดราคาสูงและไม่รับซื้ออ้อยเผา จะช่วยลดการเผาก่อนตัดได้ แต่การเผาใบเคลียร์แปลงหลังตัด ยังคงจะเป็นปัญหาไปอีกระยะเพราะการรับซื้อใบอ้อยยังไม่ทั่วถึง และยังไม่คุ้มค่าในพื้นที่ที่ต้องขนส่งในระยะทางส่งไกล
รวมถึง ใบอ้อยนั้นย่อยสลายยาก โดยชาวไร่อ้อยหลายรายเลือกจะสับกลบและฝังลงดิน ซึ่งมีต้นทุนด้านค่าแรง ค่าเครื่องมือและค่าน้ำมัน เพื่อที่จะไม่ต้องเผาอ้อยและไม่สร้างมลพิษ และยังมีชาวไร่อีกจำนวนมากที่จะทิ้งใบไว้คลุมดินรักษาความชื้น และคุมวัชพืช แต่ก็ต้องมาแบกรับความเสี่ยงเนื่องจากใบอ้อยติดได้ไฟง่าย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาใบอ้อย คือ การช่วยกันสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้ใบอ้อย และหาทางลดค่าขนส่งใบอ้อย ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักวิจัยจากหลายภาคส่วนกำลังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่ บางอย่างก็สำเร็จแล้วรอนำไปขยายสเกล บางส่วนก็เริ่มทดลองจริงในบางพื้นที่ นอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อยแล้ว ก็ต้องสร้างตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย เช่นอาจเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากของเหลือทางการเกษตรที่ลดการเผา
อ่านข่าว : เบื้องหลังลงดาบ "ปิดโรงงานหีบอ้อย" รับซื้ออ้อยเผาเกินลิมิต
เปิดสาเหตุยอดอ้อยเผาพุ่ง ส่งสัญญาณก่อนเปิดหีบอ้อย
เปิดโทษเผาไร่อ้อยโทษคุก7 ปีปรับไม่เกิน 14,000 บาท