วันที่ 23 ม.ค.2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือน ม.ค.นี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในหลายพื้นที่อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีพื้นที่อื่นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ได้แก่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ภาคตะวันออก ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนและการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับและแจ้งเตือนให้ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศในพื้นที่ และให้สถานศึกษาปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 เน้นย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดูแล ติดตามและตรวจสอบให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างเข้มแข็ง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หากโรงเรียนใดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่าสีแดง) ได้ให้อำนาจแก่ผู้บริหารโรงเรียน สั่งปิดเรียนได้ทันทีเป็นเวลา 7 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย แล้วปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์หรือมอบหมายใบงาน ติดต่อกับครูทางออนไลน์แทน พร้อมเน้นย้ำผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้กำกับติดตามการดำเนินการตามมาตรการอย่างใกล้ชิด
ช่วงสัปดาห์นี้ จนถึงอย่างน้อยวันที่ 26 ม.ค.ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะ กทม.ปริมณฑล และภาคเหนือ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งหลายโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม.สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ มีโรงเรียน 57 แห่งปรับกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์และประกาศหยุดเรียนในช่วงสัปดาห์นี้ โดยเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.) จำนวน 8 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.กทม. เขต 1) จำนวน 7 แห่ง และสังกัด สพม.กทม. เขต 2 จำนวน 42 แห่ง
เลขาธิการ กพฐ. เน้นย้ำให้ผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ ติดตามระดับคุณภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิด สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซักซ้อมการปฏิบัติตนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ให้แก่นักเรียนและครู สังเกตอาการนักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และหากสถานการณ์ค่าฝุ่นอยู่ในระดับวิกฤตสามารถปิดเรียนได้ทันที เพื่อสุขภาพของนักเรียนทุกคนเป็นสำคัญ
โฆษก ศธ. กำชับฝุ่น PM 2.5 ยังไม่หมด งดกิจกรรมกลางแจ้ง
ขณะที่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำให้สถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศงดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าความเข้มข้นสูงถึงระดับวิกฤตสีแดงเข้ม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เช่น การจัดการเข้าแถวหน้าเสาธง การแข่งขันกีฬา วิชาลูกเสือ หรือกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง ให้เป็นกิจกรรมภายในอาคารแทน พร้อมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียนและครูเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 และหลีกเลี่ยงการออกจากอาคารในช่วงที่ฝุ่นละอองมีค่าความเข้มข้นสูง
ศธ.ได้ติดตามสถานการณ์อากาศและได้กำชับทุกต้นสัปดาห์มาโดยตลอด โดยสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่กำชับกับ สพป. และ สพม.ให้อำนาจโรงเรียนใช้ดุลยพินิจหยุดทำการเรียนการสอนโดยปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ได้ 100 % ส่วนโรงเรียนโซนกลางเมืองที่มี "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" มีมาตรการรับมือที่พร้อม สามารถทำการเรียนการสอนได้ปกติ โดยให้พิจารณายืดหยุ่นตามความจำเป็นยึดถือเรื่องสุขภาพของเด็กเป็นหลัก
ในส่วนโรงเรียนสังกัด ศธ.ในกรุงเทพฯ มีทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งช่วงนี้เด็กกำลังเตรียมตัวสอบปลายภาคและสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางโรงเรียนมีความจำเป็นไม่สามารถหยุดการเรียนการสอนได้เนื่องจากเวลาสอนไม่เพียงพอ ก็ขอให้งดกิจกรรมกลางแจ้งโดยให้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น
อ่านข่าว : โรงเรียน สังกัด กทม. ปิดเรียนแล้ว 21 แห่ง หลังค่าฝุ่นยังสูง