ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัญญะการเมือง "พิธีสาบานตน" ทรัมป์ เกมมหาอำนาจ "เขย่าโลก"

ต่างประเทศ
23 ม.ค. 68
15:38
182
Logo Thai PBS
สัญญะการเมือง "พิธีสาบานตน" ทรัมป์ เกมมหาอำนาจ "เขย่าโลก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับพิธีสาบานตน (Inauguration Day) ของ "โดนัลด์ ทรัมป์"​ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่หวนคืนสู่ทำเนียบขาวในรอบที่ 2 จะเห็นได้ว่า บุคลิกของเขา ไม่ได้แตกต่างจากสมัยแรก ยังคง ก้าวร้าว ดุดัน และรุกราน หรือที่เรียกว่า " Aggressive " และไม่ยอมอ่อนข้อ จึงทำให้คำสาบานดูทรงพลัง น่าเกรงขาม สามารถซื้อใจมวลชน ซึ่งเทคะแนนเสียงให้ ดังวาทกรรมดังกล่าว

  1. เราจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนที่เคยเป็นอีกครั้ง

  2. ยุคทองของอเมริกานับหนึ่งตั้งแต่บัดนี้

  3. นับแต่นี้ อเมริกาผู้เสื่อมถอยตามโลกาภิวัตน์ จะไม่มีอีกต่อไป

  4. เราไม่มีทางลืม มาตุภูมิ รัฐธรรมนูญ และพระผู้เป็นเจ้า ของพวกเรา

  5. นานาประเทศทั่วโลกจะอิจฉาริษยาเรา

อย่างไรก็ตาม แม้พิธีการดังกล่าวจะใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง แต่พิธีการนี้ กลับได้รับความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก มีการจับตามองทั้งก่อน ระหว่าง และหลังพิธีการ สำนักข่าวต่างประเทศต่างเฝ้ารายงานอย่างที่เรียกว่า "เกาะติด" อย่างใกล้ชิดทุกสถานการณ์ และเยาวชนเจนอัลฟา (Alpha) ที่เริ่มสนใจการเมือง ก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น  

แน่นอน พิธีการนี้นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะที่ ประธานาธิบดีคนนี้ คือ สัญลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจแล้ว การขยับแต่ละครั้งของ "ทรัมป์" โดยเฉพาะ "คำพูด" ด้านนโบายใหม่ ๆ ไม่ได้ซ่อนสัญญะอย่างเดียว หากยังมีนัยทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกและภูมิภาคต่างๆ ซึ่งไม่อาจละเลยได้แม้แต่เสี้ยววินาที

VIP "มหาอำนาจ" สัญญะสาบานตน "เขย่าโลก"

ThaiPBS Online สัมภาษณ์ ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (The Institute of Security and International Studies: ISIS) และอาจารย์ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้อำนวยการ ISIS กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ "ประเทศมหาอำนาจ (Great Power)" อย่างสหรัญอเมริกาที่ครองความเป็นเจ้าอาณาจักรมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที 2 ซึ่งผู้คนทั่วทุกมุมโลกจะให้ความสนใจต่อการสาบานตน ในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ และสามารถอ่านนัยทางการเมืองที่สืบได้จากคำกล่าวของเขาได้ 3 ประเด็น คือ

การอ่านสัญญะ (Symbolic) ที่ "จงใจ" ของประธานาธิบดีและทีมงาน ที่ต้อง การสื่อสารให้ประชาชนสหรัฐฯ รวมทั้งโลกได้เป็นที่ประจักษ์ อย่าลืมว่า การให้สัตยาบันเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ (Speech) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งปกติจะมีการเตรียมการ เขียนสตริปต์ หรือตระเตรียมประเด็นล่วงหน้าได้

ข้อสังเกตสำคัญที่ทรัมป์เน้นย้ำบ่อยมาก คือ การจัดการปัญหาผู้อพยพ หรือการเห็นว่าชายแดนเป็นปัญหา แสดงว่า ในสมัยที่สองของทรัมป์ หลัก ๆ ต้องการจัดการประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งการขยายดินแดน (Territory Expansion) เหล่านี้ คือ การส่งสัญญาณบางอย่างที่ทรัมป์อยากบรรลุเชิงนโยบายให้สำเร็จ

ประเด็นต่อมา การเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ หมายถึง การเปลี่ยน "ผู้นำโลก" และ ประธานาธิบดีแต่ละคนมีวิถีทางและกระบวนการกำหนดนโยบายที่แตกต่างกัน แม้จะมาจากพรรคเดียวกันก็ตาม หมุดหมายสำคัญทางการเมืองของสหรัฐฯ จะเป็นเช่นไร จึงสามารถทำให้เราจับแนวทางได้ว่าประธานาธิบดีต้องการบอกกับสาธารณชน ว่า นโยบายจะเป็นไปเช่นใดผ่านพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

ประเด็นที่ทั้งโลกกังวลกัน เช่น การเป็นปรปักษ์ต่อจีน ในพิธีการ ทรัมป์กล่าวถึงดินแดนมังกรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือ นายหาน เจิ้ง รองประธานาธิบดีจีน รองประธานาธิบดี ตัวแทนของ สี จิ้นผิง มาร่วมพิธี ตรงนี้ ก็บอกอะไรได้หลายอย่าง ว่าจีนเป็น Big Issue ที่ต้องกังวลหรือไม่

ประการท้ายสุด เราอาจสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอำนาจสถาปนา ในที่นี้ คือ พรรครีปับลิกัน (Republican Establishment) ของทรัมป์ว่าเป็นกลุ่มใด โดยสังเกตได้จาก "แขกผู้มีเกียรติ" ในพิธีว่าเชิญใครมามากที่สุด ธุรกิจวงการใดมามากที่สุด เพราะบรรดาแขกเหล่านี้ล้วนเป็น "Lobbyist" หรือผู้สนับสนุนที่คอยเป็นลมใต้ปีกให้พรรคการเมืองอยู่เนือง ๆ หรือกระทั่ง "มุ้ง" ในพรรคแบบใด ที่มามากหรือมาน้อย ก็สามารถบอกได้ว่าผู้นำของพรรคเลือกจับขั้วการเมืองฝ่ายใดภายในพรรค

"เราจะเห็นได้ว่า Tech Titans เช่น อีลอน มัสค์ ของ Tesla, เจฟฟ์ เบโซส์ ของ Amazons หรือกระทั่ง โจว จื่อ ชิว ของ TikTok ที่มีประเด็นกับสหรัฐฯ ยังได้รับโอกาสให้เข้าร่วมงาน แสดงว่า ทรัมป์ต้องให้ความสำคัญกับวงการนี้เพื่ออะไรบางอย่าง อีกทั้ง บรรดามุ้งในพรรครีปับลิกันสายกลาง (Moderate) ไม่ค่อยมา มาแต่สายโหด (Extremist) หมายความว่า การเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลกจะมีความสุดโต่งมากยิ่งขึ้น และอาจจะดำเนินนโยบายหันกลับมาเน้นตัวเอง (Isolate) มากยิ่งขึ้น"

เมื่อเข้าใจองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างในการอ่านสัญญะพิธีสาบานตน จะเข้าใจได้ว่า เหตุใด การใช้อำนาจค่ำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ครั้งแรก ๆ ของทรัมป์ จึงเลือกที่จะลงนาม "ออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO)" หรือ เกี่ยวกับประเด็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ผู้อำนวยการ ISIS ชี้ว่า เพราะสหรัฐฯ เห็นว่าการอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ กลับทำให้ลดทอนอำนาจของสหรัฐฯ ในฐานะ "โลกบาล" หรือผู้นำไปมาก ทั้งในด้านการจำกัดขอบเขตอำนาจ ต้องทำตามกฎระเบียบของ WHO ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหน หรือกระทั่งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่สหรัฐฯ ต้องควักเนื้อจ่ายให้องค์การเพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้

"สหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศ ทั้งหลายจำนวนมหาศาล และสมาชิกภาพอื่น ๆ ในองค์กรไม่ค่อยออกค่าใช้จ่ายหรือออกน้อยกว่ามาก (Free-riders) แถมยังขอเงินในการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อีกด้วย จริง ๆ ไม่ได้มีเพียง WHO แต่ความร่วมมืออื่น ๆ ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะออก เช่น Paris Agreement, COP หรือ WTO"

แม้แต่การลงนาม "อภัยโทษ" กองกำลังก่อความวุ่นวายในทำเนียบขาวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไม่เพียงทำเพื่อการ "เอาใจ หรือ ซื้อใจ" เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึง "การใช้อำนาจ (Exercising Power)" เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ของฝ่ายบริหาร เหนืออำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรม

"รัฐศิลป์" ผลประโยชน์ชาติ "เศรษฐกิจมาก่อน"

แม้จะเข้าใจได้ว่า พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เต็มไปด้วยสัญญะทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับกระบวนการกำหนดนโยบายของประธานาธิบดีในอนาคต โดยเฉพาะการเน้นย้ำในการกลับมา "ยิ่งใหญ่" ของดินแดนแยงกี้  "นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy)" ของสหรัฐฯ ในสมัยที่สองของทรัมป์ ซึ่งเป็นเวทีโชว์อำนาจที่เห็นได้ชัดที่สุด จะเป็นไปในทิศทางใด

ผู้อำนวยการ ISIS เสนอว่า ให้พิจารณากระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ เป็น "รัฐศิลป์ (Statecraft)" ที่ส่งผลทั้งในและนอกประเทศแบบหนึ่ง จากแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ การ "แบกคนเดียวไม่ไหว" ของสหรัฐฯ (Overstretched Superpower) นอกจากเรื่องการจ่ายเงินให้องค์การระหว่างประเทศที่มาจำกัดอำนาจของตนเองแล้ว ยังมีการขาดดุลการค้ามหาศาลให้แก่ประเทศพันธมิตรต่าง ๆ

เช่น ในสมัยที่ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ ช่วงที่ 4 เสือแห่งเอเชีย (เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์) เจริญรุ่งเรืองในช่วงกลางสงครามเย็น ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงท้ายสงครามเย็น หรือแม้แต่จีนและรัสเซียหลังสงครามเย็น

แม้จะมีมาตรการป้องกันการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศอื่น ๆ เช่น Plaza Accord ที่กดดันให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีแข็งค่าเงินเยนและมาร์คในปี 1985 เพื่อให้สหรัฐฯ ได้เปรียบดุลการค้ามากขึ้น การขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า Generalized System of Preferences (GSP) หรือ เพิ่มอุปสรรคสินค้านำเข้าจากประเทศที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึง Section 301 of the Trade Act 1974 ว่าด้วยการตั้งกำแพงภาษีหรือไม่ใช่ภาษี (Tariff or Non-tariff Barriers) สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

แต่ไม่ได้นำพา เพราะหลังจากจีนและรัสเซียพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น ก็กลายมาเป็นคู่แข่งคอยแย่งตลาดสหรัฐฯ อยู่เนือง ๆ ทำให้คนสหรัฐฯ เริ่มหันมามองว่า การเปิดเสรีทางการค้า ที่ผ่านมาอาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่สหรัฐฯ สูญเสียไป

การคุมโลกาภิวัตน์ไม่ได้ ส่งผลให้การปกปักษ์สถานะมหาอำนาจของสหรับฯ เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เราจึงได้เห็นเมืองอุตสาหกรรมทางตอนกลางของประเทศ รกร้างกันเป็นแถบ ๆ เช่น ดีทรอยด์ (Detroit) รัฐมิชิแกน (Michigan) ที่เคยได้รับสมญานามว่าเป็น "อุตมรัฐแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์" ผลจากการย้ายฐานไปยังดินแดนที่ค่าเช่าทางเศรษฐกิจและค่าแรงที่ถูกกว่า ทำให้กลายเป็น "นรกบนดิน" ของแรงงานไปเสียอย่างนั้น

ตอนไปเยือนดินแดน Midwest ในสหรัฐฯ เรียกได้ว่า ยิ่งกว่าชนบทในประเทศไทย ถนนลูกรังทั้งนั้น เรียกว่า บ้านนอก ก็ไม่ผิด ตรงนี้ เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ทั้งสิ้น

ดังนั้น ผู้อำนวยการ ISIS จึงชี้ว่า รัฐศิลป์ที่สำคัญที่สุดของทรัมป์ คือ รัฐศิลป์แบบ "สัจนิยม (Realism)" หมายถึง ต้องหันกลับมามองตนเอง เน้นรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งทำได้โดยการเชิดชูวิธีการ "เศรษฐกิจต้องมาก่อน (Economic First)" ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ Silicon Valley เกิดขึ้นมาพัฒนายุทธภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

การเป็นมหาอำนาจของโลกได้นั้น โรเบิร์ต กิลพิน (Robert Gilpin) เคยบอกว่า ต้องครอบครององค์ความรู้และความทันสมัยของเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ

ผู้อำนวยการ ISIS ย้ำว่า ขณะนี้ Silicon Valley เปลี่ยนมือมาเป็น Tech Titans เพราะความมั่นคงเปลี่ยนภูมิทัศน์ จากเดิมที่มีสงครามสองขั้วอำนาจ เน้นอุตสาหกรรมหนักมาเป็นความมั่นคงไซเบอร์ เน้นพัฒนาซอฟท์แวร์แทน ถือว่าสร้างความได้เปรียบทางเทคโนโลยีต่อประเทศอื่น ๆ และคาดหวังการได้ดุลการค้า

Tech Titans นอกจากจะเป็น Lobbyist ก็ยังเป็นหัวเรือในการสร้างเศรษฐกิจแข็งแกร่งให้ทรัมป์ มูลค่าตลาดคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีสหรัฐฯ ทำกำไรเห็น ๆ หากร่วมมือกับรัฐบาล จึงไม่แปลกใจที่ อีลอน มัสค์ เคยทะเลาะกับทรัมป์แทบเป็นแทบตาย ยังมาร่วมมือกันได้ หรือแม้แต่ TikTok ที่เคยจะถูกแบน

ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ อธิบายว่า รัฐศิลป์ที่อิงกับหลักการหันกลับมามองตนเองผ่านการคิดเชิงเศรษฐกิจ ถือว่ามาแทนที่รัฐศิลป์แบบเดิม ที่นักวิชาการหลายคนเคยอาจวิจารณ์ว่าค่อนข้าง "ไร้เดียงสา (Naive)" ที่เป็นแบบ "เสรีนิยม (Liberalism)" มาปรับใช้กับการสร้างระเบียบโลกที่เน้นหลักการค้าเสรี ประชาธิไตย สิทธิมนุษยชน เน้นความช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ดั่ง "พ่อพระ" ที่มีแต่เสียกับเสียของสหรัฐฯ การส่งทหารไปตายในสงครามต่าง ๆ ไม่ว่าจะตั้งแต่สงครามเกาหลี เวียดนาม จนถึงอิรักและอัฟกานิสถานที่ผ่านมา

การเลือกปกป้องตนเองด้วยการเมืองภายใน (Domestic Politics) ไม่ว่ารัฐบาลใดๆๆ ต้องทำเป็นเรื่องปกติ แต่สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าโลกกระทำ ถือว่าเรื่องใหญ่

ผู้อำนวยการ ISIS ระบุว่า สภาวะไร้ผู้นำในระเบียบโลก หรือที่เรียกว่า "G-zero" อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ได้มีความพร้อมที่จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ แต่อย่างใด

"EU ก็เริ่มหันขวามากยิ่งขึ้น มีความไม่ลงรอยกันในสมาชิกภาพ เห็นจากการเกิด Brexit หรือ BRICS ที่มหาอำนาจในการรวมกลุ่ม คือ จีน อินเดีย และรัสเซีย ก็ยังไม่ได้มีเอกภาพ เพียงแค่เสนอตัวเป็นทางเลือกเศรษฐกิจ มากกว่าการเสนอระเบียบโลกหรือองค์กรโลกบาลใหม่ (Global Governance) อย่างน้อย จีน ที่ถือพันธบัตรและตราสารหนี้สหรัฐฯ มากที่สุดในโลก ไม่มีทางจะปล่อยให้สหรัฐฯ พ่ายแพ้จากการเป็นโลกบาลแน่ ๆ ทำได้มากที่สุดคือ กวนประสาท และ ท้าทาย สหรัฐฯ"

เขย่า"ทรัมป์" ไทยต้องมีของ-ยืมมือต่างประเทศ 

แม้ในพิธีสาบานตนทำให้เกิดการคั้งคำถาม ถึงนโยบายต่างประเทศที่จะเกิดขึ้น และหากเป็นจริง โลกอาจถึงคราวระส่ำ โดยเฉพาะ ประเด็นด้านโลกบาล ที่มีคำถามต่อความเข้มแข็ง และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น นานาประเทศจึงไม่สามารถที่จะเล่นเกมแบบเดิม คือ เป็น Free-riders คอยดูดผลประโยชน์จากสหรัฐฯ ฝ่ายเดียวได้

โดยเฉพาะ ประเทศไทย ที่มีลักษณะเป็น "รัฐเล็ก ๆ (Small State)" ในเวทีโลก จะสามารถตระเตรียมการรับมือสหรัฐฯ ในรัฐศิลป์แบบ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" นี้อย่างไร

ผู้อำนวยการ ISIS ระบุว่า สำคัญที่สุดประเทศไทยต้อง "มีของ" เสียก่อน จึงจะสามารถ "โชว์ของ" ให้ทรัมป์ได้เห็น โดยวิธีการที่รัฐเล็ก ๆ มักใช้กัน คือ ยืมมือกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) เพื่อเป็น "ตัวกลาง" ในการเจรจาสันติภาพต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึง "ความเป็นผู้นำ" ในภูมิภาค ASEAN

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ใช่ว่าไม่รู้จัก ASEAN เพราะมีการกล่าวถึงปัญหาในเมียนมาร์ และอุยกูร์ รวมไปถึงแม่โขงด้วย และไทยสามารถเล่นบทบาทผู้เจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อสร้างภาพพจน์ผู้นำภูมิภาคที่ดีให้ทรัมป์เห็น สร้างแต้มต่อในการเจรจาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

"ยอมรับตามตรงว่า ภาพพจน์ของไทยเอนเอียงและพึ่งพาไปทางจีนค่อนข้างมาก เกินกว่าทศวรรษ จะให้ภาพลักษณ์แบบนั้นเปลี่ยนในทันทีลำบาก เราอาจต้องพิจารณาโอนอ่อนมาทางมาทางสหรัฐฯ ให้ได้บ้าง อย่างน้อย ๆ เรามีสถานะพันธมิตรทางความมั่นคงร่วมกัน ถือโอกาสใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่ สถานการณ์แบบนี้เป็นโอกาสดีที่จะปรับสมดุลในนโยบายต่างประเทศไทย และในที่สุดจะเป็นผลดีแก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยเองด้วย" ผู้อำนวยการ ISIS ทิ้งท้าย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง