ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. และ สมาชิก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ.2568 อาจดูเหมือนเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วไป แต่ทว่าหนนี้หลายพื้นที่ก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งตัวบุคคลที่ลงสมัครและคนที่จะได้รับเลือก ทั้งเป้าหมายในการได้เป็น อาจไม่ใช่แค่นายก อบจ. แต่เป็นเสมือนภาพตัวแทนของพรรคการเมืองระดับชาติก็เป็นได้
“นครราชสีมา” เป็นอีกสนามหนึ่ง ที่หลายคนคาดหวังว่า จะได้เห็นการชิงชัย ของพรรคการเมืองใหญ่ ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทยพรรคประชาชน และกลุ่มอิสระ
อ่านข่าว : เกาะติดเลือกตั้ง อบจ. 68 กับไทยพีบีเอส เสียงท้องถิ่นชี้อนาคตประเทศไทย
แต่หลังครบกำหนดรับสมัครชิง นายก อบจ.แล้วกลับพบว่า มีผู้สมัครลงชิงตำแหน่งเพียง 4 คนเท่านั้น
“พรรคเพื่อไทย” นำโดย “กำนันป้อ” หรือ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่นับเป็นบ้านใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ส่ง “มาดามหน่อย” หรือ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยา ที่ลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ลงสมัครชิงนายก อบจ.นครราชสีมา
และจากการยื่นใบสมัคร ได้เบอร์ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากนายทักษิณ ชินวัตร มาเปิดตัวด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2567 พร้อมกับส่งผู้สมัคร ส.อบจ.อีก 41 คน ลงในพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้ฐานเสียงของ สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ทั้ง 12 คน คอยสนับสนุน
พรรคประชาชน ไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. แต่ส่งเฉพาะผู้สมัคร ส.อบจ.จำนวน 14 คน เน้นพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา ที่ส่งครบทั้ง 8 เขต ที่เหลือจะอยู่ต่างอำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง 3 คน อ.เทพารักษ์ อ.เมืองยาง และ อ.ขามสะแกแสง อำเภอละ 1 คน โดยมี นายฉัตร สุภัทรวาณิชย์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 เป็นหัวเรือใหญ่ และ ส.ส.เขต 2-3 คอยสนับสนุนอีกแรง
พรรคชาติพัฒนา นำโดย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคฯ พร้อมด้วยนายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรคฯ ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.อบจ.เขต อ.เมือง 8 ที่นั่ง หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา เสียพื้นที่เขตเมืองให้กับพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) ที่กวาดที่นั่ง ส.ส.เขตเมืองไปทั้ง 3 เขต
กลุ่มอิสระ ซึ่งมีผู้สมัครนายก อบจ. 3 คน ได้แก่ นายมารุต ชุ่มขุนทด เบอร์ 3 เจ้าของร้านกาแฟคลาสคาเฟ่ หลายสาขาในโคราช ที่ก่อนหน้านั้นหวังเปิดตัวในนามพรรคประชาชน แต่ต้องอกหัก จึงประกาศลงสมัครในกลุ่มอิสระ และมีการลงพื้นที่หาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยหวังฐานเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาชน เทคะแนนให้ เนื่องจากพรรคประชาชน ไม่ได้ส่งผู้สมัครนายก อบจ.
ส่วนผู้สมัครนายก อบจ.กลุ่มอิสระอีก 2 คน คือ นายทักษิณ เขื่อนกระโทก อดีตผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อชาติ ได้เบอร์ 1 และ ร.ต.อ.นิติรักษ์ ฟักกระโทก ข้าราชการบำนาญ ได้เบอร์ 4
นอกจากนี้ยังมีผู้สมัคร ส.อบจ.ในนามกลุ่มอิสระอีกหลายคน ที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ โดยหวังคะแนนเสียงจากพลังเงียบในพื้นที่ด้วย
วิเคราะห์ : ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน
อ่านข่าว : ศึกชิงนายก อบจ.เชียงใหม่ วัดพลัง พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน
ศึกสายเลือด “ภัทรประสิทธิ์” ชิงนายก อบจ. พิจิตร