ถึงตอนนี้ "ที่ดินอัลไพน์" มีผลทางกฎหมายเป็น "ธรณีสงฆ์" แล้ว หลังรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามคำสั่งเพิกถอน เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา และคำสั่ง ถูกส่งถึงมือ อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติผ่าน 4 ขั้นตอนด้วยกัน
แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ "กฤษฎีกา" ชี้ช่องว่า ไม่จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินรองรับถึง 7,700 ล้านบาท ตามมูลค่าที่ประเมินไว้ เพราะบางเงื่อนไข อาจเข้าข่ายที่จะออกเป็นกฎหมาย "โอนที่วัดหรือโอนที่ธรณีสงฆ์" ได้ ว่าแต่เงื่อนไขที่ว่านี้ นับรวมบริษัทและสนามกอล์ฟอัลไพน์ ด้วยหรือไม่?
ซึ่งไม่น่าจะเข้า "หลักการและเหตุผล" ในการตรากฎหมายโอนที่วัดให้บุคคลหรือนิติบุคคลได้ เพราะธรณีสงฆ์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทอัลไพน์และสนามกอล์ฟอัลไพน์ มีหลักคิดส่วนหนึ่ง จาก คำพิพากษาคดีจำคุก 2 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เหตุกระทำมิชอบโดยทุจริต และในขณะเดียวกัน "ถาวร เสนเนียม" อดีต รมช. มหาดไทย ก็ชี้ว่า กรณีของอัลไพน์ เข้าข่ายเป็นโมฆะ ฟ้องร้อง-เรียกค่าเสียหายจากรัฐไม่ได้ แต่จากภาพรวม กรณีอื่นบนที่ดิน 2 แปลงนี้ มีทางเยียวยาถึง 3 ทาง โดยรัฐไม่จำเป็นต้องตั้งงบประมาณชดเชยถึง 7,700 ล้านบาท
มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ยกให้วัดธรรมิการามวรวิหาร มีด้วยกัน 2 แปลง (ทั้ง 2 แปลงอยู่ที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี (แปลงแรก ประมาณ 730 ไร่ อีกแปลง 194 ไร่ ) แต่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดก ขายที่ดิน 2 แปลงนี้ให้ "อัลไพน์"
16 ม.ค.ที่ผ่านมา รองปลัดกระทรวงมหาดไทย "ชำนาญวิทย์ เตรัตน์" ลงนามคำสั่งเพิกถอนคืนที่ดินนั้น ตามพินัยกรรม คือให้วัด จึงมีสถานะเป็น "ธรณีสงฆ์" แล้ว และตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมที่ดิน แจกแจงไว้ มี 4 ข้อด้วยกัน
1. คือสั่งการไปยังกลุ่มภารกิจ-รับผิดชอบ (กลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน)
2. แจ้งที่ดินจังหวัดและแจ้งผู้ครอบครอง
3. แจ้งวัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
4.แนวทางเยียวยาที่วัดและกรมที่ดินจะทำได้
อะไรบ้างที่ทำได้ เมื่อที่ดินจาก 2 แปลงเดิม วันนี้แยกเป็น 2 แปลงหลักกับแปลงย่อยอีกเพียบ
1.วัดต้องตกลงกับผู้ครอบครอง (เช่าไหม?)
2.ออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ์
และสุดท้าย 3.คือ โอนที่ดินให้ ด้วยการตราเป็น พ.ร.บ.โอนที่ดินวัด
ถามว่า..ถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้ซื้อที่ดินนั้น จะผ่อนหมดแล้ว หรือผ่อนอยู่ อยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แน่นอนอยู่แล้ว จะเป็นคนในหมู่บ้านอัลไพน์ หรือหมู่บ้านราชธานี ทุกคนย่อมต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงต้องยื่นฟ้องกรมที่ดิน ต่อสู้คดี และเรียกค่าเสียหาย
นี่คือที่มาของ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ชี้ช่องนี้ให้รับทราบกัน มีหลายวิธีที่จะเยียวยา หนึ่งในนั้นคือการออกเป็นกฎหมายโอนที่วัดหรือธรณีสงฆ์ ให้บุคคลหรือนิติบุคคล
แต่เงื่อนไขของการตรากฎหมายโอนที่วัดหรือธรณีสงฆ์ให้บุคคลหรือนิติบุคคล ต้องพิสูจน์ชัดแล้วว่า คำสั่งทางปกครองนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ครอบครองโดยสุจริต ซึ่งรัฐต้องเยียวยา
นั่นหมายถึง กรมที่ดิน และวิธีหนึ่งที่ใช้กันมาโดยตลอด "กฤษฎีกา" ก็แนะว่า นั่นคือการออกกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ให้ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505
ตัวอย่าง พ.ร.บ.โอนที่ดินวัดและที่ธรณีสงฆ์
-ที่ดิน วัดอินทาราม จ.ชัยนาท ให้แก่กรมชลประทาน ปี 2529
-ที่ดิน วัดพญาญาติ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2564
-ที่ดิน วัดทุ่งกว้าง จ.แพร่ ให้แก่นางปรานี รอบจังหวัด ปี 2565
และจากที่ทีมข่าวลงพื้นที่ไป ก็มีคำยืนยันจาก นางมาลิสา กรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านราชธานี ก็จะใช้สิทธิ์ผู้ได้รับผลกระทบ ฟ้องศาลปกครอง โดยคำหนึ่งที่อ้างอิง คือ รัฐบาลต้องทำตามสัญญา
"อยากให้รัฐบาลมองเห็นถึงหัวใจของผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกหลอกให้มาซื้อที่ดินตรงนี้ โดยที่เค้าไม่รู้ และตอนนี้ผ่านไป 30 ปี ซึ่งบางคนอายุ 80 แล้วไม่ได้รอถึงวันเยียวยา และอยากให้รัฐบาลดูแลให้เต็มที่ ตามความเสียหายที่เป็นจริง"
หมู่บ้าน มีคณะทำงาน มีนิติบุคคล ที่แสดงความเห็น ประชาชน-ผู้ได้รับผลกระทบก็ติดตามเรื่องมาตลอด พูดคุยเจรจา กับวัดกับรัฐ มาตลอด แต่ข้อสังเกตจากที่พูด มีคำว่า "สัญญา" อะไรคือสัญญา ได้ยินว่า..ห้ามจำหน่าย-จ่ายโอน นั่นเท่ากับว่า รัฐ ก็มีแนวทางเยียวยาอยู่แล้ว ซึ่งกรณีแบบนี้ น่าจะเข้าเงื่อนไขออกกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ได้
ข้อสังเกตนี้ มาจาก "ถาวร เสนเนียม" อดีต รมช.มหาดไทย ตั้งคำถามนะ สนามกอล์ฟอัลไพน์ สมคบกันฮุบที่ดินไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น ถือว่า เป็นโมฆะ เพราะ "นิติกรรมไม่สมบูรณ์"
อ้างอิงตาม มาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ที่เขียนไว้ว่า "การใดมีวัตถุประสงค์ เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เป็นการขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ"
แต่ทั้งหมดนี้ ใช่ว่า วันนี้ พรุ่งนี้ เสร็จนะ ผิด หรือ ถูก ต้องมีการพิสูจน์ทราบ ด้วยเอกสารหลักฐาน กว่าจะทวงคืนเป็นธรณีสงฆ์ได้ ใช้เวลาไป 20 ปี การออกกฎหมายโอนที่วัด ต้องเข้า ครม. และสภาฯ จากกรมที่ดินรับผิดชอบแล้ว ครม.และสภาฯ ต้องมารับผิดชอบด้วย
อ่านข่าว :
เลขาฯ กฤษฎีกา ชี้ไม่มีงบฯ ปกติ เยียวยาที่ดินอัลไพน์
อธิบดีกรมที่ดิน ยันไม่กังวลรองปลัด มท.เซ็นเพิกถอน "ที่ดินอัลไพน์"