หนึ่งในเรื่องสำคัญที่คู่รักควรรู้ คือ เรื่องของสินสมรส สินส่วนตัว และหนี้สิน
สินสมรส-สินส่วนตัว คืออะไร ?
- สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากแต่งงานแล้ว เช่น บ้าน รถ เงินเดือน รวมถึงทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมาหลังแต่งงาน
- สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายมีมาก่อนแต่งงาน เช่น บ้านที่ซื้อมาก่อนแต่ง เงินเก็บส่วนตัว หรือมรดกที่ได้รับมาก่อนแต่งงาน สินส่วนตัวจะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของแต่ละคน
หนี้สินก่อนและหลังแต่งงาน
- หนี้สินก่อนแต่งงานเป็นหนี้ส่วนบุคคลของแต่ละฝ่าย เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้บ้าน หนี้สินเหล่านี้จะยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของแต่ละคน แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม
- หนี้สินหลังแต่งงาน เช่น หนี้สินที่เกิดจากการซื้อบ้านร่วมกัน หนี้สินจากการใช้ชีวิตประจำวัน จะเป็นหนี้สินร่วมกันของทั้งคู่
รู้จักประเภทหนี้ "คู่สมรส" รับ-ไม่รับผิดชอบร่วม
หากการแต่งงานเป็นตัวแบ่งระหว่างหนี้สินก่อนแต่งและหลังแต่งนั้น ข้อมูลจาก บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่า กไม่ใช่ทุกหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างแต่งงานจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน คู่สมรสควรเข้าใจในรายละเอียดของหนี้ประเภทต่าง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- หนี้ที่คู่สมรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน
1.หนี้จากการใช้จ่ายทั่วไป
หมายถึง หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายภายในครอบครัว รวมถึงค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเลี้ยงดูบุตร และค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัว โดยทั่วไปแล้วหนี้ประเภทนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคู่สมรส ทั้ง 2 ฝ่ายต้องช่วยกันดูแลและรับผิดชอบร่วมกัน
2.หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
สินสมรสคือทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส เช่น บ้าน รถ หรือทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการพินัยกรรมจากฝ่ายหนึ่งในระหว่างการสมรส ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้สินสมรส เช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือที่ดินเพื่อใช้ในชีวิตครอบครัว หรือหนี้จากการต่อเติมบ้าน ถือเป็นหนี้ที่คู่สมรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะหนี้เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันสร้างขึ้น
3.หนี้จากการทำธุรกิจร่วมกัน
หากคู่สมรสเปิดกิจการหรือทำธุรกิจร่วมกัน เช่น ร้านอาหาร หรือกิจการการค้าขายอื่น ๆ หนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจถือเป็นหนี้ร่วมกัน แม้ว่าหนี้บางส่วนอาจจะเกิดจากการกู้ยืมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากหนี้นั้นเกิดจากการใช้จ่ายภายในธุรกิจที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันดูแล ก็ถือเป็นหนี้ที่ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
4.หนี้จากการสัตยาบัน
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำการสัตยาบันหรือเป็นผู้ค้ำประกันให้กับอีกฝ่ายในการกู้เงินหรือทำธุรกรรมทางการเงิน แม้ว่าฝ่ายที่สัตยาบันจะไม่ได้เป็นผู้กู้โดยตรง แต่ตามกฎหมายแล้วถือเป็นหนี้ร่วมกัน เพราะการสัตยาบัน ถือเป็นการยอมรับการมีส่วนร่วมในภาระหนี้สินนั้น ๆ ดังนั้นฝ่ายที่ทำการสัตยาบันก็ต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกับคู่สมรส
- หนี้ที่คู่สมรสไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
1.หนี้สินก่อนสมรส
หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนการสมรสถือเป็นหนี้ส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส คู่สมรสไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมก่อนที่ทั้งคู่จะเข้าพิธีสมรส หากมีการค้างชำระหนี้ก่อนสมรส คู่สมรสไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้นั้น
2.หนี้จากการพนัน
หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินหรือใช้จ่ายในการพนันถือเป็นหนี้ส่วนตัวและไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เพราะการพนันไม่ได้เป็นการใช้จ่ายเพื่อครอบครัว หรือเพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกัน คู่สมรสไม่ต้องรับผิดชอบหนี้จากการพนัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการสมรสก็ตาม
3.หนี้จากบัตรเครดิตส่วนตัว
หนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตส่วนตัวเพื่อซื้อของใช้ส่วนตัว หรือจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น ค่าบริการหรือซื้อสิ่งของส่วนตัว ถือเป็นหนี้ส่วนตัวที่คู่สมรสไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เว้นแต่การใช้จ่ายนั้นจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตครอบครัว
4.หนี้จากสัญญาค้ำประกัน
หากคู่สมรสได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันหรือเป็นผู้รับรองหนี้ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกู้เงินหรือรับหนี้นั้นโดยตรง การค้ำประกันนี้ไม่ได้ทำให้ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการชำระหนี้ เว้นแต่จะมีการลงนามเป็นสัญญาหนี้ร่วมกัน
5.หนี้ที่กู้มาเพื่อมอบให้กับบุคคลที่สาม
หากมีการกู้เงินเพื่อมอบให้กับบุคคลที่สาม เช่น เพื่อน ชู้ หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัว หนี้จากการกู้เงินนี้ไม่ถือเป็นหนี้ร่วมของคู่สมรส หากหนี้นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับครอบครัว คู่สมรสไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบร่วมกัน
การเข้าใจประเภทของหนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคู่สมรสในการจัดการเรื่องการเงินและการตัดสินใจทางการเงินร่วมกัน การรู้จักแยกแยะหนี้แต่ละประเภทจะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาทางกฎหมายและการเงินที่อาจตามมาในอนาคต
หากไม่วางแผนการเงินที่ดีตั้งแต่ก่อนแต่งงาน อาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเงิน การแบ่งสินสมรสเมื่อหย่าร้าง หรือการแบกรับภาระหนี้สินที่มากเกินไป วิธีการจัดการหนี้สินและวางแผนการเงิน ควรเริ่มต้นตั้งแต่ ก่อนแต่งงาน เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา วางแผนการเงินร่วมกัน จัดทำงบประมาณ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สิน เช่น ทำสัญญาแต่งงาน เพื่อช่วยให้คู่สมรสมีความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย รวมถึงปรึกษาทนายความ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับสินสมรสเพื่อขอคำแนะนำ
เพราะการวางแผนการเงินที่ดีตั้งแต่ก่อนแต่งงาน จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตคู่
อ่านข่าวอื่น :
สหรัฐฯ ยอมรับแค่ 2 เพศ "ทรัมป์" ยกเลิกใช้ "X" บนเอกสารราชการ
ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมแต่งตั้ง "นายกฯแพทองธาร" มิชอบ