วันนี้ (21 ม.ค.2567) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีแนวคำวินิจฉัยการเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัย คือ ที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนด เมื่อต้องการให้ตกแก่วัดก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้สอบถามจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะต้องชดเชยให้ผู้เสียหายที่ได้ที่ดินมาโดยสุจริต อีกทั้งต้องดูคำสั่งทางปกครองว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่
นายปกรณ์ กล่าวถึงงบฯ ที่จะนำมาชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ว่า ยังไม่ทราบว่าจะนำงบประมาณมาจากส่วนใด และไม่ได้ตั้งงบฯ ปกติไว้ จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่ามีแหล่งเงินจากที่ใดบ้าง พร้อมกล่าวว่าแม้วงเงินในการเยียวยาจะสูง แต่ตนเองคิดว่ามีหลายวิธีที่จะแก้ไข ซึ่งต้องรอแนวทางแก้ไขจาก รมว.มหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดิน
ประเด็นปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่าถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสีย และหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบสุจริตต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากันในทางกฎหมาย มีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน
เมื่อถามว่าความเห็นของกฤษฎีกาเมื่อปี 2545 ที่เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติโอนเป็นที่ดินเอกชนสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การโอนที่ดิน ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไร และการออก พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ทำกันบ่อยอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว
อ่านข่าว : อธิบดีกรมที่ดิน ยันไม่กังวลรองปลัด มท.เซ็นเพิกถอน "ที่ดินอัลไพน์"