เมื่อดูลักษณะโครงการ "บ้านเพื่อคนไทย" ที่เปิดให้จองตั้งแต่วันนี้ (17 ม.ค.2568) พบว่ามีความคล้ายคลึงกับโครงการบ้าน HDB ของสิงคโปร์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะแนวคิดที่มุ่งเน้นให้ประชาชนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาย่อมเยา และการพัฒนาชุมชนที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานไว้ในที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในด้านการบริหารจัดการและการควบคุมตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โมเดลของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
"HDB" หัวใจของที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์
การจัดการอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ สิ่งสำคัญ คือ สิงคโปร์แบ่งประเภทที่อยู่อาศัยออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ บ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Public Housing) และบ้านส่วนตัว (Private Housing)
บ้าน Public Housing เป็นบ้านที่จัดการโดย HDB หรือ Housing and Development Board ซึ่งเป็นองค์กรรัฐบาลของสิงคโปร์ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและสลัมในช่วงทศวรรษที่ 1960 HDB ได้สร้างแฟลตที่อยู่อาศัยจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งห้องเดี่ยวไปจนถึงห้องที่มีหลายห้องนอน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น สวนสาธารณะ ร้านค้า และโรงเรียน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมได้
ความสำเร็จของ HDB เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การที่รัฐบาลสิงคโปร์มีอำนาจควบคุมที่ดินส่วนใหญ่จากการเวนคืนที่ดิน ทำให้สามารถกำหนดราคาที่อยู่อาศัยได้ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนและพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการ HDB ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ปัจจุบันประชาชนกว่าร้อยละ 80 ของสิงคโปร์อาศัยอยู่ในแฟลตที่พัฒนาโดย HDB สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายการเคหะแห่งชาติที่สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกกลุ่มรายได้ ซึ่งทำให้สิงคโปรก้าวขึ้นมาเป็น 1 ในประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในโลก
ในทางกลับกัน บ้านส่วนตัว หรือ Private Housing เช่น คอนโดมิเนียมหรือบ้านเดี่ยว (Landed Property) มักจะสงวนไว้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย โดยการเป็นเจ้าของบ้านส่วนตัวในสิงคโปร์ถือเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม ราคาของคอนโดมิเนียมในเขตใจกลางเมือง (Core Central Region - CCR) สูงกว่า 32,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/ตารางเมตร (ประมาณ 750,000 บาท/ตารางเมตร) ซึ่งทำให้บ้านส่วนตัวกลายเป็นสิ่งที่เกินเอื้อมสำหรับครัวเรือนทั่วไปในสิงคโปร์
ความแตกต่างด้านการเข้าถึงที่อยู่อาศัยระหว่างบ้าน HDB และบ้านส่วนตัว เป็นภาพสะท้อนของความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่ง โดยคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่มักพึ่งพาโครงการบ้าน HDB ขณะที่ชนชั้นสูงเลือกซื้อบ้านส่วนตัว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความมั่งคั่งและเสถียรภาพทางสังคม ความต้องการบ้านส่วนตัวในสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติและคนสิงคโปร์ที่มีทรัพย์สินสูง (Ultra-High-Net-Worth Individuals - UHNWIs) มองว่าอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดในฮ่องกงหรือประเทศอื่น ๆ
เทียบราคาบ้าน HDB และบ้านส่วนตัว
บ้าน HDB ราคาขึ้นอยู่กับขนาดและทำเล ตัวอย่างเช่น แฟลต 2 ห้องนอนมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 300,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ขณะที่แฟลต 5 ห้องนอนอยู่ในช่วง 600,000-700,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (15-17.5 ล้านบาท)
ส่วนบ้าน HDB มือสองในทำเลดีอาจมีราคาสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (25 ล้านบาท) ซึ่งแสดงถึงความนิยมและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดรอง
บ้านส่วนตัว ราคาสูงกว่าบ้าน HDB หลายเท่า บ้านเดี่ยวขนาดเล็กเริ่มต้นที่ประมาณ 3-5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (75-125 ล้านบาท) และบ้านในทำเลหรูอย่าง Orchard Road หรือ Sentosa Cove อาจสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (750 ล้านบาท)
รัฐจูงใจคนให้อาศัยใน HDB
รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการจัดหาที่อยู่อาศัยคุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับประชาชน ด้วยการพัฒนานโยบายที่ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดราคาที่เป็นธรรม การให้เงินอุดหนุน การจัดสรรพื้นที่ชุมชน ไปจนถึงการออกมาตรการเพื่อป้องกันการเก็งกำไร ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและเสมอภาคในระยะยาว
1.ราคาที่เข้าถึงได้และเงินอุดหนุน
รัฐบาลสิงคโปร์จะกำหนดราคาขายบ้าน HDB ให้อยู่ในระดับที่ประชาชนรายได้น้อยถึงปานกลางสามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างเช่น ราคาของแฟลตขนาด 3 ห้องนอนเริ่มต้นที่ประมาณ 300,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าบ้านส่วนตัวหลายเท่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดสรรเงินอุดหนุนหลายประเภทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น
- CPF Housing Grant ให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกสูงสุด 80,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ซื้อ
- Enhanced CPF Housing Grant (EHG) ช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำโดยเฉพาะ
เงินอุดหนุนเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
HDB เสนอสินเชื่อสำหรับการซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2.6 /ปี ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่มักอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 ความยืดหยุ่นนี้ทำให้ประชาชนสามารถชำระเงินกู้ได้โดยไม่เป็นภาระหนักเกินไป อีกทั้งยังมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานถึง 25-30 ปี
3.การจัดสรรพื้นที่ที่หลากหลาย
หนึ่งในจุดเด่นของ HDB คือการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแบบ "ชุมชนครบวงจร" ซึ่งรวมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ในพื้นที่เดียวกัน เช่น โรงเรียนที่มีทั้งระดับประถม-มัธยม ตลาดร้านค้า มีศูนย์อาหาร มีซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่สีเขียวสวนสาธารณะและลานกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและใจ ระบบขนส่งสาธารณะ มีสถานีรถไฟฟ้า MRT และป้ายรถเมล์ในระยะเดินถึง การจัดการเหล่านี้จะช่วยลดเวลาเดินทางและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัย
4.การสร้างความหลากหลายทางเชื้อชาติ
เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ HDB ได้ออกนโยบาย Ethnic Integration Policy (EIP) ซึ่งกำหนดโควตาสำหรับแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถซื้อแฟลตในเขตใดเขตหนึ่งได้ แนวคิดนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดชุมชนที่แยกตัว (Segregation) ตามเชื้อชาติหรือศาสนา และสนับสนุนความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนที่แตกต่าง
5.การป้องกันการเก็งกำไร
รัฐบาลออกมาตรการเพื่อควบคุมการเก็งกำไรในตลาด HDB เช่น Minimum Occupation Period (MOP) ผู้ซื้อบ้านใหม่ต้องอยู่อาศัยในบ้าน HDB เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีก่อนที่จะขายต่อได้ และยังมีข้อจำกัดการขาย ชาวต่างชาติหรือผู้ที่มีสิทธิ์อยู่อาศัยถาวร (Permanent Residents - PRs) ต้องถือครองบ้าน HDB ในระยะเวลาที่นานกว่า และต้องปฏิบัติตามกฎเพิ่มเติม
บ้าน HDB สิงคโปร์ - บ้านเพื่อคนไทย ประเทศไทย
การจัดการที่อยู่อาศัยสะท้อนถึงความสามารถของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ สิงคโปร์โดดเด่นด้วยระบบ HDB ที่มีโครงสร้างเข้มแข็ง ขณะที่ประเทศไทยขณะนี้กำลังเริ่มต้นโครงการบ้านเพื่อคนไทย แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ แต่แนวทางและความท้าทายกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
1.นโยบายและการจัดการที่อยู่อาศัย
- สิงคโปร์
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ - รัฐบาลสิงคโปร์มีหน่วยงาน HDB ที่รับผิดชอบการพัฒนาและจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน
- ประเภทที่อยู่อาศัย แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ บ้านรัฐบาลหรือ "แฟลต" และ บ้านส่วนตัว คอนโดมิเนียม บ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง เช่น บ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮม มีจำนวนน้อยมากเนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่
- สิทธิ์การเป็นเจ้าของ ชาวสิงคโปร์และผู้พำนักถาวร (Permanent Residents) สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของ HDB ได้ ส่วนชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่อยู่อาศัยของ HDB
- ประเทศไทย
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
- ประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว 1 ชั้น คอนโดมิเนียม
- สิทธิ์ในการอยู่อาศัย สูงสุด 99 ปี
2.อัตราการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
- สิงคโปร์
- อัตราการเป็นเจ้าของบ้านของประชากรสิงคโปร์สูงถึงเกือบร้อยละ 90 สะท้อนความสำเร็จนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
- ประเทศไทย
- ข้อมูลจากเว็บไซต์บ้านเพื่อไทยระบุว่า โครงบ้านเพื่อคนไทย ให้สิทธิในการอยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 99 ปี ไม่ได้ระบุเรื่องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
- การโอนสิทธิ์ ห้ามโอนภายใน 5 ปี การโอนสิทธิ์จะทำได้เมื่ออยู่อาศัยเกิน 5 ปี โดยผู้รับโอนจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่โครงการกำหนด และการโอนมอบสิทธิ์ให้ทายาท สามารถทำได้และมีการตรวจคุณสมบัติและเงื่อนไขเช่นเดียวกัน
3.ราคาที่อยู่อาศัยและค่าเช่า
- สิงคโปร์
- สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีราคาซื้อหรือเช่าบ้านแพงที่สุดในเอเชีย โดยราคาบ้านเฉลี่ยสูงถึง 1.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 30 ล้านบาท)
- ค่าเช่าที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น นิวยอร์ก
- ตลาดถูกแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างบ้านรัฐและบ้านเอกชน ช่วยควบคุมราคาและรักษาเสถียรภาพ
- ประเทศไทย
- โครงการบ้านเพื่อคนไทย ผู้ที่ได้สิทธิ์ไม่จำเป็นต้องวางเงินดาวน์ และสามารถเริ่มต้นผ่อนที่ 4,000 บาท/เดือน
- การเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัญหา และการพัฒนามักเน้นตลาดกลางถึงบน
4.ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคต
- สิงคโปร์
- แม้จะมีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านสูง แต่สิงคโปร์ยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การเพิ่มอัตราภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านชาวต่างชาติ เพื่อควบคุมราคาที่อยู่อาศัย
- HDB วางแผนผังเมืองระยะยาว บูรณาการระบบขนส่งและพื้นที่สีเขียวกับการอยู่อาศัย
- ประเทศไทย
- รัฐบาลควรคำนึงถึงวินัยทางการเงินและนโยบายที่ยั่งยืน เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลวในโครงการบ้านสาธารณะในอนาคต
- โครงการบ้านเพื่อคนไทยยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ HDB
- การพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีความท้าทายเรื่องการกระจายโครงสร้างพื้นฐาน
โมเดล HDB ของสิงคโปร์อาจนำมาเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดราคา การป้องกันการเก็งกำไร และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต้องคำนึงถึงปัจจัยท้องถิ่น เช่น ศักยภาพด้านการเงินของประชาชน การบริหารนโยบายของรัฐ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การใช้กฎหมายควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันฟองสบู่ และการส่งเสริมโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการ "รถคันแรก"
ที่มา : Ministry of National Development (Singapore), ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)
อ่านข่าวเพิ่ม :
เปิดบ้านตัวอย่าง - ขั้นตอนการจองสิทธิ "บ้านเพื่อคนไทย"
เปิดจองสิทธิ์ "บ้านเพื่อคนไทย" 17 ม.ค.บ่าย 2 เช็ก 4 ทำเลทอง