ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"บ้านเพื่อคนไทย" เรือธงรัฐบาล ใครได้-ใครเสีย?

เศรษฐกิจ
17 ม.ค. 68
14:33
1,953
Logo Thai PBS
"บ้านเพื่อคนไทย"  เรือธงรัฐบาล ใครได้-ใครเสีย?
โครงการ "บ้านเพื่อคนไทย" นโยบายของรัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" ใน 4 พื้นที่ทำเลทอง เอกชนห่วงเอื้อนักลงทุนแนะรัฐมีมาตรการตรวจทานคนจองสิทธิรัดกุม ขณะที่ รายได้ 50,000 บาท สูงเกินไปไม่ตอบโจทย์กลุ่ม First Jobber

วันนี้ (17 ม.ค.2568) วันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลจะเปิดตัวโครงการ "บ้านเพื่อคนไทย" ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน มีโอกาสได้ถือครองและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สำหรับโครงการบ้านเพื่อคนไทย ได้นำร่องบนพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใน 4 พื้นที่ 

1.บางซื่อ กม.11
2.เชียงราก
3.สถานีธนบุรี
4.สถานีเชียงใหม่

99 ปี สัญญาเช่าระยะยาว

นายอธิป พีชานนท์ นายกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าวว่า ด้วยลักษณะวัตถุประสงค์ของโครงการ เชื่อมีเจตนาที่ดีที่จะช่วยให้คนที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเองได้ในช่วงแรกของชีวิต หรืออาจจะทำงานมาสักระยะแล้วแต่รายได้ไม่ได้มากพอก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีที่อยู่อาศัย

แต่ลักษณะการถือครองเป็นการเช่าระยะยาว การเรียกว่าคอนโดมิเนียมอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุด จะไม่มีกรรมสิทธิ์ห้องชุดใดๆ เหมือนกับการเช่าที่อยู่อาศัยแต่เป็นการเช่าระยะยาว ซึ่งรัฐบาลให้สิทธิเช่าถึง 99 ปี ซึ่งถือว่ายาวมากและไม่เคยมีมาก่อน เพราะโดยตามกฎหมายที่อยู่อาศัยให้สิทธิการเช่าเพียง 30 ปี แล้วต้องไปจดทะเบียนต่อเป็นทอดๆ ไป แต่ครั้งนี้รัฐบาลทำเป็นกฎหมายเฉพาะให้เฉพาะโครงการนี้ เพราะกฎหมายหลักยังไม่ได้ถูกแก้ 

อธิป พีชานนท์ นายกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

อธิป พีชานนท์ นายกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

อธิป พีชานนท์ นายกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

หวั่นนักลงทุนฉวยโอกาส

แต่สำหรับโครงการนี้ต้องคัดกรองกลุ่มคนให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เพราะหากไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้นต้องอาจจะมีนักลงทุนแฝงตัวเป็นนอมินี ใช้ชื่อคนอื่นในการจองสิทธิ โดยมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง จะทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มนักลงทุน ซึ่งต้องระวัง เพื่อไม่ใช่ทำโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน

รวมทั้งต้องมีเงื่อนไข หรือสัญญาที่ชัดเจน ห้ามเช่าต่อ หรือเช่าช่วง รวมทั้งการขายต่อ หลังจากที่รัฐบาลประกาศหลังจากที่อยู่อาศัยครบ 5 ปี สามารถขายต่อได้ ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะระยะเวลาสั้นเกินไป ดึงดูดให้นักลงทุนยอมเข้ามา ยอมถือครอง 5 ปี แล้วขายต่อ เพราะด้วยทำเลที่ตั้ง โอกาสขายต่อหลังครบ 5 ปี ได้กำไรสูง ซึ่งมีโอกาสเยอะมาก

นายอธิป ยังระบุว่าส่วนคุณสมบัติเรื่องรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน อาจยังสูงไป เพราะกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองในการหาที่อยู่อาศัยเองไม่ได้ ไม่ใช่คนที่มีรายได้สูงขนาดนี้ กลุ่มคนเหล่านี้สามารถจัดหาที่อยู่เองได้ ควรจะมีการลดเพดานเงินเดือนลงมา ควรจะเหลือ 30,000 บาทต่อเดือน

ในความคิดเห็นส่วนตัวที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ที่เริ่มทำงาน เงินเดือนมาถึงขนาดนี้อยู่แล้ว ซึ่งคงไม่เกิน 30,000 บาท

แนะรัฐมีมาตรการตรวจทานคนจองสิทธิรัดกุม

ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลต้องการสนับสนุนคนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ในการหาที่อยู่อาศัย ควรมุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อย่าเปิดโอกาสให้คนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ มาแย่งสิทธิกับคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ และต้องมีการตรวจทานคนที่เข้าอยู่กับที่จองสิทธิต้องเป็นคนเดียวกัน ซึ่งควรวางเงื่อนไขตั้งแต่การเริ่มเข้าจองสิทธิ การเข้าที่อยู่อาศัย และตลอดของอายุสัญญา ที่ต้องมีความรัดกุม

นอกจากนี้ นายอธิป กล่าวว่า สำหรับบ้านเพื่อคนไทยจะสำเร็จได้และปราศจากข้อครหาได้ ต้องมีการแก้ไขเงื่อนไขเรื่องการขายหลังอาศัยเมื่อครบ 5 ปี ซึ่งควรจะกำหนดให้นานกว่านั้น อาจจะ 10 ปี หรือนานกว่านั้น และถ้าจะขาย ก็ต้องขายคืนให้ภาครัฐ เพื่อให้คนอื่นได้มีสิทธิต่อ จะเป็นประโยชน์มากกว่าการไปขายเก็งกำไรกันเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย

ผ่อน 4 พันบาทแค่เริ่มต้น

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงการผ่อนชำระบ้านในโครงการบ้านเพื่อคนไทยในราคาเดือนละ 4,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 2.5% ไม่เกิน 1,000,000 บาท แต่ถ้าบ้านมีราคาเกิน 1,000,000 บาทก็จะผ่อนแพงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าส่วนกลาง ซึ่งจะมีกำลังในการผ่อนหรือไม่ก็คือปัญหาเช่นกัน

ส่วนคนที่มีรายได้ 50,000 บาท มองว่าเป็นรายได้ที่มากกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งครอบครัว อีกทั้งประชาชนทั่วประเทศสามารถจองได้ และไม่ได้มีการกำหนดในด้านเรื่องของอายุ ซึ่งเมื่อจับฉลากแล้วคนที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ จะได้สิทธิจำนวนเท่าไหร่ 

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

โอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพราะราคาบ้านแพง

อาจจะเป็นความเข้าใจผิดว่าคนรุ่นใหม่ ต้องการจะซื้อบ้าน แต่ในความเป็นจริงคนรุ่นใหม่ไม่ว่ายุคสมัยไหนไม่ต้องการจะซื้อบ้าน แต่จะไปซื้อรถ หรือไปทำอย่างอื่น แต่เมื่ออายุใกล้ๆ 30 ปี หรือมีครอบครัว ตั้งตัวได้แล้ว ถึงมีแนวคิดที่จะซื้อบ้าน

อีกทั้งราคาบ้านทั้งมือ 1 และมือ 2 ไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เช่น ในพื้นที่ กม.11 มีบ้านและคอนโดมิเนียมกว่า 1,000 ยูนิต ราคา 1,000,000 - 3,000,000 บาท ที่รอการขาย รัฐบาลควรจะมีการสนับสนุนและจะให้ดอกเบี้ย 2.5% ซึ่งเป็นการช่วยผู้ประกอบการ และยังทำให้มีเงินหมุนเวียนในตลาดด้วย

นายโสภณ ยังกล่าวว่า รัฐบาลควรนำที่ดินดังกล่าวไปพัฒนาด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ มากกว่าการสร้างบ้านเพื่อให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และการได้ประโยชน์จากการจับฉลากเป็นเหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อส่วนรวม

อ่านข่าว :

“บ้านเพื่อคนไทย” ยุคเศรษฐกิจขาลง “Gen ใหม่” เช่า มากกว่า ซื้อ

ภาคอสังหาริมทรัพย์ ถกผลกระทบ "บ้านเพื่อคนไทย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง