"ลายสือไทย" อักษรไทยไทยโบราณที่ "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ.1826 ซึ่งมีปรากฎในศิลาจารึก หลักที่ 1 หรือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามฯ ก่อนหน้านี้ไม่เคยพบจารึกหรือเอกสารโบราณอื่น ๆ ที่ปรากฎอักษรไทยมาก่อน
ตัวอักษรลายสือไทยในหลักศิลาจารึก "พ่อขุนรามคำแหง" ได้มีการวิฒนาการทั้งตัวอักษรและอักขรวิธี จนกลายมาเป็นตัวอักษรไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน
จากการรวบรวมข้อมูลจาก กรมศิลปากร และคู่มือการอ่านถ่ายทอดลายสือไทย (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ที่ได้อธิบายพร้อมยกตัวอย่าง "ลายสือไทย" ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ไว้ดังนี้
ศิลาจารึก "พ่อขุนราม" ถูกค้นพบ
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีลักษณะเป็นแท่งหินทรายแป้ง ทรงสี่เหลี่ยมยอดมน ศิลาจารึกนี้เป็นศิลาจารึกทรงสี่เหลี่ยมยอดมน เป็นจารึกหลักแรกที่ใช้ตัวอักษรไทย ภาษาไทยลงบนหลักหินทั้ง 4 ด้าน ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 3 และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด
ภาพจากเพจ : กรมศิลปากร - ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร อธิบายว่า ศิลาจารึกหลักนี้ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ.2376 โดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพบหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตร และจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร เมื่อครั้งผนวชและเสด็จธุดงค์ไปเมืองสุโขทัยเก่า
ในเวลาต่อมาจึงโปรดให้นำมากรุงเทพฯ หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว โปรดให้ย้ายไปตั้งไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึง พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ให้ย้ายไปอยู่ในตึกถาวรวัตถุ หน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ร่วมกับศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ในความดูแลของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร
พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายไปไว้ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล จนกระทั่ง พ.ศ.2509 จึงย้ายกลับไปไว้ที่ตึกถาวรวัตถุตามเดิม ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2511 อธิบดีกรมศิลปากร (นายเชื้อ สาริมาน) ให้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
รู้จัก "ลายสือไทย"
"ลายสือไทย" เป็นชื่อเรียกตัวอักษรในศิลาจารึก "ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" มีลักษณะแตกต่างไปจาก "อักษรขอม" และ "อักษรมอญ" ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม
กรมศิลปากร ระบุว่า ลักษณะสำคัญคือ เป็นตัวอักษรที่ลากขึ้นลงเป็นเส้นตรง รูปอักษรอยู่ในทรงเหลี่ยม เรียกว่าอักษรเหลี่ยม การเขียนเริ่มต้นจากหัวอักษร ลากเส้นสืบต่อกันไปโดยไม่ต้องยกเครื่องมือเขียนขึ้น วางรูปสระอยู่ในบรรทัดเดียวกับรูปพยัญชนะ และมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ เอก และ โท ใช้ประกอบการเขียนเพื่อให้อ่านได้ครบตามเสียงในภาษาไทย
ส่วนของรูปแบบ "ลายสือไทย" คู่มือการอ่านถ่ายทอดลายสือไทย (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) อธิบาย ว่า มีพยัญชนะ 39 รูป (และรูปพยัญชนะที่ไม่ปรากฎใช้ จำนวน 5 ตัว คือ ฌ ฑ ฒ ฬ ฮ) สระ 20 รูป แบ่งเป็น สระลอย 1 ตัว คือ สระอี (สระลอย คือ สระที่ออกเสียงได้เอง โดยไม่ต้องมีพยัญชนะมาประสม) และสระจม 19 ตัว (สระจม คือ สระที่ต้องออกเสียงประสมกับพยัญชนะ) ส่วนวรรณยุกต์มีเพียง 2 รูป คือ เอก และ โท มีรูปแบบแตกต่างจากวรรณยุกต์ไทยในปัจจุบัน ภาพตัวอย่างด้านล่าง
นอกจากนี้ ยังมีรูปเครื่องหมายพิเศษที่ใช้ในลายสือไทย จารึกพ่อขุนรามคำแหง ปรากฎอยู่ 1 อย่าง เรียกว่า "นฤคหิต" หรือ "นิคหิต" คือ รูปหยดน้ำซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนเสียง -ำ หรือ อัง ในภาษาบาลี ในภาษาไทย ปรากฎใช้ในลายสือไทย จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นรูปครึ่งวงกลม ใช้เป็นสระ -ำ และพยัญชนะตัวสะกด คือ อักษร ม. ตัวอย่างที่ใช้ นฤคหิต ภาพตัวอย่างด้านล่าง
ศิลาจารึก มีเนื้อความทั้งหมด 3 ตอน
กรมศิลปากร อธิบายว่า ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีเนื้อความทั้งหมด 3 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 กล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง ตอนที่ 2 พรรณนารายละเอียดของสุโขทัย ทั้งในสภาพภูมิศาสตร์ การปกครองและสังคม ตอนที่ 3 กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในด้านการประดิษฐ์อักษรไทยและการขยายพระราชอาณาเขต
ข้อความที่ปรากฏได้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ความอุดมสมบูรณ์ สิทธิและเสรีภาพของผู้คน ความเชื่อและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัยที่มีความสำคัญกับนานาชาติ
ความโดดเด่นและคุณค่าความสำคัญดังกล่าว องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็น เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ในทะเบียนนานาชาติ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2546
ส่วนหนึ่งของหนังสือ คู่มือการอ่านถ่ายทอดลายสือไทย (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง ทรงประดิษฐหลายสือไทยขึ้นนั้น สันนิษฐานว่าได้แนวคิดมาจาก "อักษรขอม" และ "อักษรมอญ" ซึ่งมีใช้ในบริเวณประเทศไทยมาแต่เดิม และมีพระราชประสงค์ คือ
ต้องการสร้างรูปแบบลายสือไทย (อักษรไทย) ให้มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เพื่อแสดงความเป็นไทยให้เด่นชัด รวมถึงให้มีแบบฉบับในการสั่งสอนอนุชนให้รู้จักบันทึกเรื่องราวด้วยอักษรไทย
เห็นได้ว่า "อักษรไทย" มีการวิฒนาการทั้งตัวอักษรและอักขรวิธี เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่สะท้อนถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ทั้งนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อความรู้และภาษาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในรากฐานของความเป็นไทยอีกด้วย
17 ม.ค. วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
"วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ตรงกับวันที่ 17 ม.ค.ของทุกปี มีจุดเริ่มต้นจากรัชกาลที่ 4 ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่โคกปราสาทร้าง จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2376 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 17 ม.ค.ของทุกปี เป็น วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
อ้างอิงข้อมูล : กรมศิลปากร, คู่มือการอ่านถ่ายทอดลายสือไทย (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
อ่านข่าว : จากกระดานดำสู่ไวรัลติ๊กต็อก "ครูเฟิร์น" ครูยุคใหม่ในวันครู 2568
เคลื่อนย้าย "เสือโคร่ง" ติดบ่วงแร้ว จากบึงฉวางไปดูแลที่ "ห้วยขาแข้ง"