วันนี้ ( 13 ม.ค.2568) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า ประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนจับตาดูในปีนี้ คือการเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ วันที่ 20 ม.ค.นี้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย
โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายทางการค้า และนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่อาจจะมีผลกระทบกับหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีแรกอาจได้เห็นหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะถูกปรับขึ้นภาษี จึงอาจทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกยังมีทิศทางที่ดี
คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.4-2.9% ขณะที่การส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.8-1.2% ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ
ประธานหอการค้ากล่าวอีกว่า แม้ช่วงครึ่งปีแรกจะไม่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล แต่ในครึ่งปีหลัง ภาคเอกชนยังมีความกังวลใน 2 ประเด็น คือ เม็ดเงินที่รัฐ บาลจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยให้ชะลอตัวลงได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องหามาตรการเข้ามาช่วยเสริมรายได้ของรัฐ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
ถือเป็นความท้าทายที่สุดของรัฐบาลในการหารายได้เพิ่ม คงต้องตามดูว่ารัฐบาลจะหาวิธีไหนที่จะทำให้รายรับเพิ่มขึ้น ทางออก คือ หากรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% อาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะต้องค่อย ๆ ปรับขึ้นจาก 7% เป็น 8%
การปรับขึ้นภาษี รัฐบาลต้องศึกษาว่าเหมาะสมกับเวลาหรือไม่ เพราะหากมีผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้
นายสนั่น กล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลเศรษฐกิจในระยะยาว กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ควรประสานการทำงานร่วมกันในการหาเม็ดเงินเพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการหารายได้เข้ามาเติมเต็มให้กับภาครัฐ เพื่อช่วยกันหาทางออก ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่มีกระสุน ยิ่งในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ รัฐบาลควรนำโครงการ คนละครึ่ง หรือโครงการ คูณสองออกมาใช้เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นการดึงเงินจากกระเป๋าของผู้ที่มีกำลังซื้อ ให้ออกมาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้
“โครงการคูณสองเป็นมาตรการที่กกร.ยื่นเสนอให้รัฐบาลดำเนินเพราะมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เช่นประชาชนใช้จ่ายเงินจำนวน 5,000 บาท รัฐบาลจะสมทบเงินเพิ่มอีก 5,000 บาท ซึ่งมาตรการลักษณะนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วยังเป็นการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐในปริมาณมาก ถือเป็นการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”
ส่วนเสถียรภาพทางการเมือง หลังจากมีกระแสข่าวว่า จะมีการปรับคณะรัฐมน ตรี (ครม.) ครั้งใหญ่ในเดือนเม.ย. นี้ ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาล มองว่ารัฐบาลยังมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาคเอกชนเชื่อว่ารัฐบาลยังทำงานได้ต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่นโยบายยังคงเส้นคงวา ต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่น ขณะที่ไทยเองยังมีมาตรการต้อนรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ
จับตา 5 ประเด็น จุดพลิกผันเศรษฐกิจไทย
ด้าน ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทยฯ ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.7% จากแรงกดดันของสงครามการค้าที่กลับมาเร่งตัวขึ้นและความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกอาจขยายตัวเพียง 2% ชะลอลงจากปีก่อน
แม้ในครึ่งปีแรกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่ความชัดเจนเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะกดดันการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการส่งออกสินค้าที่ยังมีอยู่ท่ามกลางการตีตลาดที่รุนแรงและขยายวงมากขึ้นจากปัจจัย Oversupply ในจีน
สำหรับภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ที่ 39 ล้านคน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่า จะกลับมาขยายตัวตามแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เติบโต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต
ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่จะทยอยดำเนินการในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีโมเมนตัมและเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความจำเป็นที่ภาครัฐอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงไทยฯ ชี้ว่า ปี 2568 จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญ (Inflection point) ของเศรษฐกิจไทย โดยมีความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้ารอบใหม่ ที่ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง และเสี่ยงได้รับผลกระทบ
โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุตสาหกรรม ที่อาจถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 40%-60%ขณะที่เศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ ถึง 48% ของจีดีพี ทำให้จำเป็นต้องเร่งผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบมากขึ้น เพื่อพลิกศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น
ศูนย์วิจัยกรุงไทยฯยังชี้อีกว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ภายใต้ Perfect Storm ที่รถยนต์สันดาปยากจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง โดยคาดว่า ยอดผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2568-69 อยู่ที่ 1.47-1.53 ล้านคัน/ปี ลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตกว่า 15% จากปัจจัยด้านกำลังซื้อครัวเรือนไทย กระแส EV และการแข่งขันด้านราคารุนแรง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะพลิกโฉมด้วย Man-made Destination เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่และเพิ่มเม็ดเงินท่องเที่ยวให้สะพัดมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่ม Man-made ในไทย ปี 2568 จะอยู่ที่ราว 58,300 บาท/คน/ทริป สูงกว่ากรณีนักท่องเที่ยวทั่วไปกว่า 19%
และท้ายที่สุด ปลดพันธนาการที่เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับสูง หนี้ครัวเรือนที่เมื่อรวมกับหนี้นอกระบบสูงถึง 104% ของ GDP ซึ่งต้องยกระดับรายได้ และ Safety Net ของครัวเรือนอย่างเป็นระบบ สอดรับกับมาตรการ คุณสู้ เราช่วย จะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ก้าวทันกระแสโลกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ อาทิ Regulatory Guillotine เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
“ปี 2568 เป็นจุดพลิกผัน หรือ Inflection Point ของเศรษฐกิจไทย ที่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในการตั้งคำถามและหาแนวทางในการยกระดับรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดจากนโยบายระยะสั้นที่ได้ช่วยกระตุกเศรษฐกิจไทยไปแล้วไปปี 2567 ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
อ่านข่าว:
ท่องเที่ยวไทยปี68 ส่อเสื่อมมนต์ขลัง ทีทีบี แนะรัฐยกระดับดึงนักเที่ยวกลุ่มใหม่
น้ำมัน อาหาร-เครื่องดื่มขึ้น ดันเงินเฟ้อปี67 พุ่ง 0.4%
TDRI ชี้เศรษฐกิจไทยปี68 “ไม่ตายแต่ไม่โต” มรสุมการค้า-สงครามทำโลกปั่นป่วน