วันนี้ (13 ม.ค.2568) บ้านพักที่แยกเป็นหลัง ๆ ที่เปิดบริการเป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุบ้านลลิสาเนอร์ซิงโฮม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสถานประกอบการบ้านพักคนชราเอกชนจำนวนหลายสิบแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดดูแลผู้สูงอายุ โดยคิดค่าใช้จ่ายตามโปรแกรมหรืออาการป่วยของผู้สูงอายุ
อาทิ โปรแกมดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต และอัลไซเมอร์ โดยคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ หลังละ 60,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการว่าจะอยู่หลังละ 1 คน หรือ 2 คน ซึ่งหากอยู่ 2 คน ก็จะเสียค่าบริการคนละ 30,000 บาท/เดือน
บุญศิริ มหากันธา ผู้สูงอายุชาวเชียงใหม่ อดีตข้าราชการครู บอกว่าการตัดสินใจมาอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งนี้ ใช้เงินบำนาญเดือนละ 20,000 บาท และเงินจากญาติและบุตรหลานช่วยกันสมทบ จ่ายค่าบริการเดือนละกว่า 30,000 บาท เพื่อแลกกับการได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากที่บ้านไม่มีคนดูแล
อธิพร พูลสวัสดิ์ ผู้บริหารศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บ้านลลิสาเนอร์ซิ่งโฮม บอกว่า ผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ที่นี่เกือบทั้งหมดเกิดจากปัญหาขาดคนดูแล สถานประกอบการแห่งนี้ จึงเน้นให้ผู้เข้ารับบริการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ได้รับอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพจากอาการป่วย โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
ขณะที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพา เซโกะแคร์ ในพื้นที่ ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในเชียงใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากญาติและบุตรหลานที่ไม่มีเวลาดูแล นำผู้สูงอายุเข้าใช้บริการเนื่องจากไม่อยากให้อยู่เพียงลำพัง และต้องการให้มีคนดูแลอย่างใกล้ชิด จึงต้องยอมแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูง โดยศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพาแห่งนี้ คิดค่าบริการตามโปรแกมหรือตามอาการป่วยของผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นที่ 21,900 บาท/คน/เดือน
ราคาที่พักต่อเดือนในหลักหมื่นบาท เป็นข้อจำกัดสำคัญของผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ ไม่มีเงินบำนาญ ไม่มีเงินออม หรือไม่มีลูกหลานดูเเล คนกลุ่มนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพาสถานที่ดูเเลที่เป็นสวัสดิการของรัฐซึ่งปัจจุบันมีไม่เพียงพอ
ขณะที่ประชากรไทย 66 ล้านคน กว่าร้อยละ 20 เป็นผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน ที่รัฐต้องมีสวัสดิการดูเเล ซึ่งด้านที่อยู่อาศัย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ สำรวจพบว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เปิดบริการรวม 916 โครงการ
แบ่งเป็นเนอร์สซิงโฮม (Nursing Home) จำนวน 832 โครงการ และ Residence จำนวน 84 โครงการ โดยส่วนใหญ่โครงการดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนรวมกันถึง 516 โครงการ รองรับได้จำนวน 31,851 หน่วย/เตียง
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ นักวิชาการอิสระด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมือง เเละ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า จำนวนเเละราคาจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลที่จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้มีสวัสดิภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต
ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง น่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการเอกชน แต่ปัจจัยเรื่องค่าเช่า อัตราค่าเช่าพักที่ค่อนข้างสูง ยังเป็นข้อจำกัดให้ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับการดูแล การลงทุนโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุที่มาจากภาครัฐ น่าจะแก้ปัญหาจุดนี้ได้ดีกว่า และยังสามารถเพิ่มจำนวนหน่วยการพักอาศัยได้มากกว่า หากรัฐบาลจริงจังกับการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยอย่างแท้จริง
อ่านข่าวอื่น :