วันนี้ (11 ม.ค.2568) สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ข้อความเตือนภัยในเฟซบุ๊กว่า มีรายงานจากผู้ใช้งาน พบแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการของเครื่องบนสมาร์ตโฟน โดยไม่สามารถลบแอปพลิเคชันออกจากเครื่องได้ และยังส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบเรื่องนี้
ไทยพีบีเอส ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า แอดมินเพจคุณลุงไอที ได้ติดตามและเรียกร้องการแก้ไขปัญหานี้มาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2566 โดยให้ข้อมูลว่า มี 2 แอปพลิเคชัน ที่มีเจตนาเชิญชวนกู้เงินและถูกติดตั้งอยู่ในสมาร์ตโฟนบางรุ่น ของ 2 ยี่ห้อ คือ oppo และ realme
แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Fineasy (ฟินอีซี่) ถูกติดตั้งมากับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของเครื่องโทรศัพท์ตั้งแต่แรกซื้อ แม้ให้ข้อมูลจัดการด้านการเงินแต่เน้นการเชิญชวนกู้เงินเป็นหลัก และมีการแจ้งเตือนเปิดสินเชื่อวันละหลายครั้ง แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนก็ค่อย ๆ ปรับรูปแบบแอปพลิเคชันให้เป็นเวอร์ชันเดียวกับเวอร์ชันใน App store
แต่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ แอปพลิเคชันที่ชื่อ "สินเชื่อความสุข" ที่ไม่ได้ติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการของเครื่องโทรศัพท์ แต่เมื่อซื้อมาแล้วทำการอัปเดตเครื่อง แอปพลิเคชันนี้จะถูกติดตั้งโดยอัตโนมัติ แม้จะถอนการติดตั้ง เมื่ออัปเดตใหม่ก็จะติดตั้งมาอีกอัตโนมัติ
ข้อสังเกตหนึ่งคือ แอปพลิเคชันจะปรากฏในสมาร์ตโฟนรุ่นราคาไม่สูง และไม่ใช่รุ่นล่าสุด คล้ายกับมีเป้าหมายเพื่อจูงใจลูกค้าบางกลุ่ม ผู้ทดลองใช้ระบุว่า วงเงินสินเชื่อที่ให้กู้ยืม คือ 10,000 บ.โดยผู้ใช้ต้องยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล พิกัดที่อยู่ และต้องกรอกชื่อ เบอร์โทรของคนใกล้ชิดหรือคนรู้จัก ยิ่งกรอกมากยิ่งมีโอกาสได้วงเงินสินเชื่อมากขึ้น
นายสุธน แซ่ลี้ แอดมินเพจ
ก่อนหน้านี้มีผู้เสียหายที่เปิดเผยข้อมูลผ่านพันทิปดอทคอมว่าได้ขอสินเชื่อไป 1 ครั้ง แต่พบว่าหลังเคลียร์ยอดหนี้เดิมแล้วจะได้รับเงินใหม่ผ่านบัญชีเข้ามาโดยที่ไม่ได้ขออนุมัติสินเชื่อใหม่แต่อย่างใด หากไม่ทราบ ไม่ใช้คืนตามกำหนดก็ติดค้างดอกเบี้ยสูงลิ่ว
มีผู้เข้ามาแสดงความเห็น เพิ่มเติมว่า ไม่ทันได้กดยื่นขอสินเชื่อเพียงแต่กรอกข้อมูลส่วนตัวลงไป มีการโอนเงินมาให้ 1,800 บ. และให้ใช้คืน 3,000 บ. ภายใน 7 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยถึง 1,200 บ.
บางคนระบุว่า คนใกล้ชิดถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ รวมถึงถูกข่มขู่ แม้ใช้หนี้แล้ว แต่ระบบกลับแจ้งว่าเปลี่ยนการใช้เงินคืนเป็นรายเดือนทำให้ต้องจ่ายคืนเพิ่มอีกมาก
ไทยพีบีเอสประสานไปยัง นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขอเวลาตรวจสอบแอปพลิเคชันดังกล่าว ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ และมีฟีเจอร์ส่วนใดเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ ส่วนใหญ่แอปพลิเคชันลักษณะนี้ไม่ได้อยู่ใน App Store
อ่านข่าว : รู้จัก "RAT" โจมตีสมาร์ตโฟน-แอปฯ ปลอมหน่วยงานรัฐดูดเงิน
สมาร์ตโฟนช่วยตรวจจับระดับความเมา ด้วยการฟังจากเสียงของผู้พูด
แพงสุดที่เคยขายมา Apple เปิดตัว iPhone 16 สมาร์ตโฟน AI เครื่องแรกของโลก