วันนี้ (9 ม.ค.2568) เพจเฟซบุ๊กสวนสัตว์นครราชสีมา KORAT ZOO เผยข่าวดี เนื่องในปีใหม่ 2568 พญาแร้ง "แม่มิ่ง" ให้ของขวัญปีใหม่อีกครั้ง โดยออกไข่ใบที่ 2 กลางป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา พญาแร้ง แม่มิ่ง และพ่อป๊อกวางไข่ใบที่ 2 สำเร็จ (ใบแรกของฤดูกาลนี้) สมหวังกับการรอคอยไข่พญาแร้งใบที่ 2 ของพ่อป๊อกแม่มิ่ง
สำหรับ “ป๊อก-มิ่ง” เป็นพญาแร้งคู่แรกที่นำกลับไปฟื้นฟูที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ปี 2565 และวางไข่ใบแรก และฟักเป็นตัวสำเร็จเดือน ก.พ. 2567 จนได้เป็นต้าว 51
อ่านข่าว บินได้แล้ว! ลูกพญาแร้งตัวเมีย “รหัส 51” ป่าซับฟ้าผ่า
ปัจจุบันโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ร่วมกับสวนสัตว์นครราชสีมา และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สร้างกรงเลี้ยงให้กับ ต้าว 51 ลูกพญาแร้งตัวแรกใกล้กับกรงใหญ่ของพ่อและแม่เพื่อเปิดโอกาสให้พญาแร้ง ได้จับคู่ผสมพันธุ์กับอีกครั้ง
อ่านข่าว 30 ปีฟื้นฟู “พญาแร้ง” คืนป่าห้วยขาแข้ง
รอลุ้นไข่ใบที่ 2 ฟักลูกพญาแร้ง
นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ว่าขณะนี้พญาแร้งต้าว 51 ลูกพญาแร้งตัวเมียตัวแรกที่เกิดในป่าห้วยขาแข้ง ตอนนี้มีอายุเกือบ 1 ปี
ขณะนี้ทีมนักวิจัยได้ทำกรงอนุบาลใหม่ให้ต้าว 51 และย้ายไปอยู่แล้ว 3 เดือน ซึ่งอยู่ใกล้กับกรงของพ่อและแม่ เพื่อให้พ่อและแม่จับคู่กันผสมพันธุ์กันใหม่ เนื่องจากพญาแร้งกว่าจะจับคู่ผสมพันธุ์กันได้ต้องมีอายุ 10 ปี
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นกว่าต้าว 51 จะโตจึงจับแยกจากพ่อและแม่ เพื่อกระตุ้นให้พ่อและแม่จับคู่กัน เพื่อผลิตลูกพญาแร้งชุดใหม่ จะได้มีน้องๆ มาเพิ่ม ในอนาคต อาจมีการแลกเปลี่ยนพญาแร้งจากอิตาลี เพื่อทำให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและสร้างเจนเนอเรชันใหม่คืนสู่ป่า
ต้าว 51 ปรับตัวเข้ากับป่าห้วยขาแข้งได้ดี ทั้งการใช้ชีวิต การกินอาหาร กินซาก และกำลังฝึกให้หากินซากเองในเรือนยอดของต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นคำตอบสำหรับโครงการนี้
อ่านข่าว มองรักผ่าน “ลูกพญาแร้ง” รับวาเลนไทน์ “ป๊อก-มิ่ง” พ่อแม่มือใหม่
สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2568 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 พ่อแม่พญาแร้งได้จับคู่กัน และปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมในห้วยขาแข้ง
โดยทั้ง 2 ตัวเริ่มมีพฤติกรรมอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพญาแร้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ จนออกไข่ใบที่ 2 สำเร็จแล้ว ทั้งนี้พญาแร้งออกไข่ครั้งละ 1 ฟอง