วันนี้ (6 ม.ค.2568) เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้ารวบรวมข้อมูลและสอบพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบสำนวน และตั้งคณะกรรมการสอบสวน หลังได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้ป่วยฉุกเฉินรายหนึ่งว่าเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2567 ได้โทรขอความช่วยเหลือไปยัง 1669 ซึ่งมีการประเมินแล้วว่าต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูงเข้าไปดูแล แต่กลับมีอาสากู้ภัยของมูลนิธิแห่งหนึ่ง เข้าไปประเมินอาการและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล โดยนำส่งผิดโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า ขณะนี้ได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งอาสามูลนิธิฯ ญาติผู้ป่วย ศูนย์ข้อมูลเอราวัญ และสายด่วน 1669 จนทราบว่าในกรณีที่เกิดขึ้น เป็นการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตามระเบียบ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน 2551 มาตรา 30, 31, 32 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
จากการตรวจสอบมูลนิธิเพชรเกษมมีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิถูกต้อง ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ปทุมธานี แต่การออกให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีการยื่นขอจดทะเบียน จึงไม่สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือด้านการแพทย์ในพื้นที่ได้
ด้านนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขา สพฉ. ระบุว่า ในการตรวจสอบข้อมูลการออกให้บริการของมูลนิธิเพชรเกษมครั้งนี้ ยอมรับว่าในระบบสายด่วนการโทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ 1669 มีข้อมูลรั่วไหล ทำให้มูลนิธิซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือข่ายพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับข้อมูลของผู้ป่วยและออกให้บริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบรายละเอียด
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยังระบุด้วยว่า ข้อมูลในปัจจุบันมีมูลนิธิที่ขอขึ้นทะเบียนเพื่อให้บริการช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 8 มูลนิธิ ประกอบด้วย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิอาสาหนองจอก (ศูนย์ราชพฤกษ์) มูลนิธิหงส์แดง มูลนิธิกูบแดง มูลนิธิจีเต็กลิ้ม ฮู้ก๊กตึ๊ง (พิรุณ) มูลนิธิสยามรวมใจ และมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร ซึ่งเพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ สพฉ.เตรียมประสานศูนย์เอราวัณ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ เผื่อออกหนังสือถึงมูลนิธิเพชรเกษมให้หยุดการออกปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ และจะนำข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ยื่นดำเนินการกับทางมูลนิธิเพชรเกษม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฏหมาย เช่น กรณีการลักลอบใช้คลื่นวิทยุ, การนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคณะกรรมการฯ จะใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย และจะทราบผลประมาณเดือน ก.พ.นี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวในระยะยาว สพฉ.ได้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับการรับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะเปิดใช้ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบรถมูลนิธิที่ออกให้บริการได้ตลอดเวลา
ในระหว่างนี้หากผู้ป่วยต้องการรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งประสาน 1669 และตรวจสอบข้อมูลของอาสา หรือมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่าทีมอาสาเป็นหน่วยบริการที่ได้รับรองมาตรฐานจาก สพฉ.แล้ว
อ่านข่าว : ร้องเรียน "กู้ภัยชุดแดง" ส่งผู้ป่วยโรคหัวใจผิด รพ. อ้างรถติด
ตั้งข้อสังเกต ส่งผู้ป่วยช้าทำเสียโอกาสในการรักษาหรือไม่ ?
สพฉ.เชิญกู้ภัยชี้แจง 6 ม.ค. - สอบปมเข้าถึงข้อมูลการแจ้งของผู้ป่วย