นับตั้งแต่ มิคาอิล คาเวลาชวิลี (Mikheil Kavelashvili) อดีตศูนย์หน้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่หันมาเอาดีทางการเมือง เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ "จอร์เจีย (Georgia)" ความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย
ไม่ว่าจะเป็น การประท้วงของมวลชนที่ต่อต้านพรรค "Georgia Dream" เสียงข้างมากในสภา ที่ส่งอดีตทีมชาติจอร์เจียขึ้นเป็นผู้นำ, มวลชนที่ต่อต้านการยกเลิกเข้าร่วมสหภาพยุโรป หรือ EU ทั้งที่มีการผลักดันและสร้างมาตรฐานมาช้านาน ซึ่งได้ดำเนินการมากกว่า 17 วัน และมีการก่อจลาจลเกิดขึ้นอีกด้วย
รวมไปถึง การคว่ำบาตรของ สส. บางส่วน ที่ไม่พอใจผลการลงคะแนนเสียงประธานาธิบดีในครั้งนี้ หนึ่งในนั้น คือ ซาโลเม ซูราบิชวิลี (Salome Zourabichvili) อดีตผู้นำที่ออกโรงเคลมว่า "เราเป็นผู้นำที่มีความชอบธรรมเพียงผู้เดียว" ไม่ใช่นักฟุตบอลที่ไหนก็ไม่รู้
เหตุใดการเมืองของจอร์เจียจึงวุ่นวายมากมายถึงเพียงนี้ หรือแท้จริง คือความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้น เป็นเพียงปลายทางที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง "แบ่งขั้วทางการเมือง (Political Polarisation)" ที่สั่งสมมาช้านาน
อ่านข่าว: "มิคาอิล คาเวลาชวิลี" อดีตศูนย์หน้า "แมนฯ ซิตี้" สู่ปธน. จอร์เจีย
"การแบ่งขั้วทางการเมือง" ความวุ่นวายที่สั่งสมมานาน
บทความวิจัย Divided Georgia: A Hostage to Polarization เขียนโดย อาร์ชี เกจชิเซ (Archil Gegeshidze) และ โธมาส เดอ วาล (Thomas de Waal) เสนอว่า การแบ่งขั้วทางการเมืองของจอร์เจียนั้น มีที่มาจากกระบวนการสร้างรัฐชาติ (Nation-state Building) ยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ด้วยความขัดแย้งเรื่อง "ระบอบการปกครอง (Regime)" จะเดินรอยตามโซเวียตแบบอำนาจนิยม หรือจะนำเข้าเสรีนิยมประชาธิปไตย
แน่นอนหากเลือกอำนาจนิยม เท่ากับว่าถือหางโซเวียต (Pro-soviet) หากเลือกเสรีนิยมประชาธิปไตย เท่ากับว่าถือหางตะวันตก (Pro-western) ซึ่งในช่วงปี 1990 ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ คือ อำนาจนิยม สตีเฟน โจนส์ (Stephen Jones) นักวิชาการด้านยุโรปตะวันออกศึกษา อธิบายว่า ชาวจอร์เจียตอนนั้น เชื่อมันใน "ผู้นำสุดแข็งแกร่ง (Strong Leader)" มากกว่าการเลือกตั้ง ประเทศจะเจริญก้าวหน้า ผู้นำต้องมีความสามารถ กลับกัน หากมีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไร้ประสิทธิภาพ ผู้คนพร้อมต่อต้านทันที
ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งยังมีประเด็นเรื่องของ "ศาสนา" เข้ามาซ้อนทับอีกขั้น เพราะส่วนใหญ่ที่ถือหางโซเวียต คือ คริสต์ศาสนิกชนนิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ส่วนที่ถือหางตะวันตกจะเป็นฆราวาสนิยม (Secular) หรือ คริสต์ที่ไม่เคร่ง และเมื่อเป็นทั้งอำนาจนิยมและคริสต์สายเคร่ง การดำเนินนโยบายย่อมวางอยู่บนความไม่หลากหลายอย่างมาก เช่น การไม่ยอมรับ LGBTQ การเลือกปฏิบัติต่อศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะ อิสลาม การไม่ยอมรับกระแสตะวันตก หรือที่หนักสุด คือ การทำสงครามกับเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จอร์เจีย
การใช้อำนาจรัฐที่เข้มงวดเช่นนี้ แรงกดดันทางการเมืองย่อมมหาศาล เกิดการลุกฮือทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะ ผู้เชื่อมั่นในคุณค่าตะวันตก ที่อยากเห็นประเทศมีการพัฒนาตามมหาอำนาจในทวีป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ไม่ยอมง่าย ๆ แม้จะถูกปราบปรามไปมากก็ตาม
การเมืองจอร์เจียถูกครอบงำโดยรัฐบาลที่ถือหางโซเวียตมาช้านาน และประสบปัญหาคอร์รัปชันมหาศาล จนกระทั่ง การเปลี่ยนผ่านมาถึง เมื่อปี 2004 มิคาอิล ซาคาชวิลี (Mikheil Saakashvili) ได้รับตำแหน่งผู้นำประเทศจากคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 96 สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในจอร์เจีย เขามีอุดมการณ์ค่อนข้างเสรีนิยม และเชิดชูคุณค่าตะวันตก เป็นที่ถูกอกถูกใจฝ่ายถือหางเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างมาก
ซาคาชวิลี สร้างความสัมพันธ์อันดีกับ สหภาพยุโรป (EU) และ สหรัฐอเมริกา มีความร่วมมือทางทหารกับ NATO บ่อยครั้ง แต่ที่ได้ใจที่สุด คือ การปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ส่งผลให้ประเทศมีคะแนน Corruption Perceptions Index เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากลำดับท้าย ๆ ทะยานสู่ลำดับ 49 ที่ 53 คะแนน ในปี 2023 เหนือกว่าบรรดาอดีตสหภาพโซเวียตทั้งหลาย เหนือกว่ารัสเซียด้วยซ้ำไป
ผลงานเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ ทำให้ซาคาชวิลี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัย ประเทศมีการริเริ่มปลูกฝังคุณค่าแบบตะวันตกหลายอย่าง เช่น การมีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมมากขึ้น การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม การปลูกฝังให้ประชาชนเคารพความหลากหลายของสังคม รวมไปถึงความต้องการเข้าร่วม EU ที่บ่งชี้ว่า จอร์เจียต้องการเป็นตะวันตกอย่างแท้จริง ถือเป็นช่วงเวลา 8 ปี ที่เขาทำให้จอร์เจีย "ออกจากร่มเงาโซเวียต" แบบทำให้คอมมิวนิสต์ไม่เหลือร่องรอย
ปมขัดแย้งใหม่ คุณค่าตะวันตก ปะทะ "เดินตามปูติน"
ปมขัดแย้งแบ่งขั้วเชิงอุดมการณ์ของจอร์เจีย ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายอย่างมาก แต่การเมืองเป็นเรื่องของ "ทีใครทีมัน (Take Turn)" จริงอยู่ที่ฝ่ายถือหางโซเวียต มีลักษณะอำนาจนิยม และเคร่งคริสต์ศาสนา ครองพื้นที่ทางการเมืองมาช้านาน แต่พอฝ่ายถือหางตะวันตก ที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย และเคารพความหลากหลาย ได้ครองอำนาจรัฐ ก็ได้สวนกลับโดยการสร้างคุณค่าตะวันตกให้ฝังแน่นในสังคม
แต่ขั้วขัดแย้งนี้ กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากการเกิดขึ้นของพรรค Georgia Dream ที่มีอุดมการณ์ค่อนข้างแปลกใหม่ เพราะไม่ได้ถือหางอำนาจนิยม แต่กลับถือหาง "บุคคล" คือ "วลาดิเมียร์ ปูติน" สุดยอดผู้นำแห่งรัสเซีย แบบออกนอกหน้า
การเดินตามปูติน ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะ Georgia Dream ไม่ปฏิเสธคุณค่าตะวันตก โลกาภิวัตน์ หรือประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ไปกันได้กับอำนาจนิยม ผู้นำเบ็ดเสร็จมาจากการเลือกตั้งไม่แปลกอะไร เพียงแต่บางอย่างยอมไม่ได้จริง ๆ อย่างการเข้าร่วม EU เพราะถือว่าเป็น "ขี้ข้าฝรั่ง" มากเกินไป ความเป็นจอร์เจีย ความเป็นตัวตนของประเทศจะหายไปด้วย
ทำให้ระบุได้ยาก หากจะกล่าวว่า Georgia Dream คือคู่ขัดแย้งใหม่ของฝ่ายถือหางตะวันตก และผู้คนบางส่วนหันมาเลือกพรรคนี้ เพราะว่า "ปกป้อง" ความเป็นจอร์เจียมากกว่า และไม่ได้หัวโบราณเกินไปที่จะไม่เปลี่ยนแปลงใด ๆ
ส่งผลให้การเลือกตั้ง สส. ในปี 2012 2016 และ 2020 พรรคได้รับเสียงข้างมากมาโดยตลอด และเมื่อมีเสียงในสภามากพอ จึงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดการเลือกตั้งประธานาธิบดี (Presidency) จากแต่เดิมที่ใช้ "การเลือกตั้งโดยตรง" มาสู่ "การเลือกตั้งผ่านรัฐสภา" หมายความว่า Georgia Dream มีโอกาสที่จะ "ล็อบบี้" ให้ประธานาธิบดีเป็นบุคคลของตนเองได้
บทความวิจัย DEMOCRATIC BACKSLIDING IN GEORGIA AND THE ROLE OF THE RIVALRY BETWEEN THE GEORGIAN DREAM AND THE UNITED NATIONAL MOVEMENT เขียนโดย อร์คุน คาลิซคาน (Orcun Caliskan) เสนอว่า การเกิดขึ้นของ Georgia Dream ทำให้จอร์เจียเข้าสู่สภาวะ "ประชาธิปไตยถดถอย (Democratic Backsliding)" อย่างถึงที่สุด เพราะทำให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน "หมดความหมาย" โดยต้องเลือก สส. ที่มาจากแต่ละพื้นที่เพื่อไปเลือกผู้นำอีกที ซึ่งในพื้นที่นั้น เลือกผู้แทนบนฐานความใกล้ชิดมากกว่าอุดมการณ์ ทำให้มีคำถามด้าน "เสียงคุณภาพ" ตามมา
แต่จนแล้วจนรอด ในที่สุด การเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2024 มิคาอิล คาเวลาชวิลี ซึ่งเป็นบุคคลที่พรรค "ปั้นมากับมือ" จากการเป็น สส. มาก่อน จะได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่ผู้นำประเทศ พร้อมกับการออกตัวแรงเรื่อง นำจอร์เจียออกจากการเข้าร่วม EU ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายนิยมตะวันตกมหาศาล แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้ถือหางรุนแรง เลือกที่จะสงวนท่าที และยอมรับชะตากรรม
นักฟุตบอล กับปัญหาเรื่อง "กึ๋น" ทางการเมือง
ดังจะเห็นได้ว่า การเมืองจอร์เจียมีความซับซ้อนในความขัดแย้ง โดยเฉพาะ ในยุคใหม่ ที่พรรค Georgia Dream เกิดขึ้น ทำให้เส้นแบ่งมิตร-ศัตรู แบบเดิม มีความสับสนไปอีกขั้น เพราะแม้ว่าพวกเขาจะเข้าหาปูติน และต่อต้านการเข้าร่วม EU แต่ไม่ได้ปิดกั้นคุณค่าแบบตะวันตกแต่อย่างใด ทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ลำบากไปอีกขั้น
แต่ประเด็นที่พอจะตอบโต้คาเวลาชวิลีได้ คือ "การศึกษา" ของเจ้าตัว จอร์เจียเป็นอีกประเทศที่ไม่ได้กำหนด "คุณสมบัติ สส." ว่าต้องเรียนจบระดับปริญญาบัณฑิต หรือการศึกษาขั้นพื้นฐานใด ๆ เรียกได้ว่า ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เป็นขวัญใจของผู้คนในพื้นที่ ย่อมสามารถที่จะเข้าไปมีที่นั่งในสภา ได้อย่างไม่ยากเย็น
กระแสที่เกิดขึ้น คือ "การเมืองเซเลบ" หรือ "Celebrity Politics" ที่ผู้คนไม่ได้เลือกผู้นำที่ความสามารถ ประสิทธิภาพการบริหาร หรือผลงานทางการเมือง แต่เลือกเพราะ "ถูกใจ" ล้วน ๆ และที่มักถูกใจประชาชนส่วนใหญ่จะเป็น "ผู้ออกสื่อบ่อย ๆ" เราจึงได้เห็นอาชีพแปลก ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งมากมาย โดยเฉพาะ "นักกีฬา" ซึ่งก็เป็นปัญหาตามมาถึง ความคุ้นชินในระบบ ความเข้าใจนโยบายหรือเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ทางการเมือง
คาเวลาชวิลี เหมือนกับนักฟุตบอลทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องปากกัดตีนถืบ ใช้ฝีเท้าแลกเงินมาทั้งชีวิต ทำให้เกิดคำครหาว่า ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะ "Kingmaker" หรือ "มีผู้ผลักดัน" มากกว่าที่จะมาจากความชอบธรรมของประชาชนโดยแท้จริง
ทั้งนี้ ในยุคของ คาเวลาชวิลี จะนำพาจอร์เจียไปในทิศทางใด จะตามรอยอดีตสหภาพโซเวียตที่ยึดมั่นในคุณค่าเดิม เช่น เบลารุส หรือจะผ่อนปรน อยู่ร่วมกับคุณค่าตะวันตกได้อย่างไม่เคอะเขิน เช่น คาซัคสถาน หรือ อาเซอร์ไบจาน หรือจะสร้างจอร์เจียให้มีคุณค่าแบบใหม่ในสากลโลกกันแน่