วันนี้ (25 ธ.ค.2567) จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่คณะรัฐมนตรีมีมติปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม วันละ 7-55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 ถึง 400 บาท เดิมอัตราวันละ 330 ถึง 370 บาท โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย สสรท.
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส ระบุว่าด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทนั้นช้าไป เนื่องจากค่าครองชีพที่ล้ำหน้าไปก่อนแล้ว ซึ่งเรื่องนี่รู้มานานแล้วจากนโยบายหาเสียงของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย โดยในปีแรก 400 บาท หลังจากเป็นรัฐบาล และจะขยับเป็น 600 บาทในปี 2570 ซึ่งขณะที่หาเสียงพรรคการเมืองรู้แล้วว่าสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่จนถึงขณะนี้กว่าจะทำได้ใช้เวลาร่วมปี ในขณะที่ราคาสินค้ารับรู้ทั่วกันว่าได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งการปรับค่าแรง 400 บาท ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร และไม่ได้ทำให้คุณภาพของคนใช้แรงงานดีขึ้นกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกร้องให้มีค่าจ้างเท่ากัน 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าเท่ากันทั้งในเขตเมืองและชนบท เมื่อค่าแรงต่างกันก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลหาเสียงไว้จะปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ แต่วันนี้ทำเพียงเฉพาะบางพื้นที่ เพื่อให้หลุดพ้นจากข้อครหา ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้
ซึ่งงานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่เกี่ยวพันกับบุคคลคนเดียวค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21,000 บาท และที่เลี้ยงครอบครัวได้ 2-3 คน อยู่ที่ 32,000 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยวันละ ประมาณ 700 บาท ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
นายสาวิทย์ ยังระบุว่าวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล คือ มองในเรื่องของความสามารถในการจ่ายค่าแรงของนายจ้างเป็นหลัก แต่กลับไม่ได้มองการใช้ชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคม มีประชาชน 67 ล้านคน โดย 41 ล้านคนเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงาน และถ้าแก้ปัญหาคนกลุ่มใหญ่ไม่ได้ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ซึ่งวันนี้เห็นภาพชัดเจนว่าปัญหาเชิงสังคม อาชญากรรม แล้วเป็นปัญหาจากโครงสร้าง ทั้งความยากจนเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง
ในกระบวนการจัดการวิธีการออมเป็นการสร้างนิสัยของประชาชนด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องให้มีเพียงพอต่อเลี้ยงคนในครอบครัวก่อน เศรษฐกิจถึงจะไปได้ ถ้าคนยากจน หนี้เศรษฐกิจครัวเรือนสูง และจะพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไร
นอกจากนี้ นายสาวิทย์ ยังกล่าวว่าหลายประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงทุกปี เนื่องจากต้องการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งด้วยการลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ต้องสร้างการบริโภคภายในให้เกิดขึ้น เศรษฐกิจถึงยั่งยืน
ธนิต โสรัตน์ อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ
ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ อดีตประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีการปรับค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. เป็น 230-370 บาท และในวันที่ 12 เม.ย. เพิ่มเป็น 400 บาทเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ในบางอำเภอ ใน 10 จังหวัด
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งถ้าเท่ากันจะเป็นการเหลื่อมล้ำ จะทำให้การลงทุนกระจุกอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางเหมือนในอดีต จะไม่กระจายไปยังพื้นที่ภูมิภาค
นอกจากนี้ยังใช้สูตรการคิดค่าจ้าง คิดจาก ผลิตภาพแรงงานแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ตัวแปรเชิงคุณภาพ โดยได้มีการพูดคุยกันมาตลอด รวมถึงเชื่อมโยงกับประเด็นการเมือง
ซึ่งสูตรที่ใช้ปัจจุบันเปิดช่องตัวแปรตัวแปรเชิงคุณภาพ ซึ่งเปิดช่องไว้ว่าค่าแรงจะปรับขึ้นเท่าไหร่ แต่สามารถยืดหยุ่นได้
สำหรับ 23 ธ.ค.คุยกันหลายประเด็น ทั้งฝ่ายนายจ้างต้องการตัวเลขที่เป็นตามสูตร และลูกจ้างเองก็พยายามที่จะผลักดัน 400 บาท และที่สุดแล้วก็มีการหาข้อสรุปร่วมกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องมีตัวเลขที่ทุกฝ่ายยอมรับกัน ในส่วนของเงินเฟ้อ ตกลงได้ที่ 2% ซึ่งในความเป็นจริงเงินเฟ้อของประเทศไม่ถึง 0.8%
อ่านข่าว :
ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด สูงสุด 400 ใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ