ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Burnout" สมองไม่ผิดปกติ "เศรษฐกิจยุคใหม่" แรงกดดันรอบด้าน

ไลฟ์สไตล์
25 ธ.ค. 67
17:13
174
Logo Thai PBS
"Burnout" สมองไม่ผิดปกติ "เศรษฐกิจยุคใหม่" แรงกดดันรอบด้าน

สภาวะหมดไฟ หรือ "Burnout" อาการยอดฮิตคนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี อาการที่สังเกตได้ชัด เช่น ไม่อยากตื่นมาทำงานในเช้าวันจันทร์, หมดไฟอ่อนล้าในการทำงาน, เบื่อหน่ายกับการสร้างสัมพันธ์ในที่ทำงาน, หรือถึงขั้นหมดอาลัยตายอยาก, ไม่อยากมีชีวิตอยู่, และมีความคิดอยากฆ่าตัวตายในที่สุด

ในทางจิตวิทยา (Psychology) หรือประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) บ่งชี้ว่า สภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจาก "ความผิดปกติภายใน" ได้แก่

  • สารเคมีในสมองที่ทำงานผิดปกติในส่วนของอมิกดาลา (Amygdala) ที่เชื่อมต่อกับ ฮิปโปแคมปุส (Hippocampus) ซึ่งส่งผลให้กระบวนการรับรู้ (Cognitive Functions) มีปัญหา

  • สมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ทำงานต่ำกว่าประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น

  • การทำงานผิดพลาดของ the bilateral ventromedial prefrontal cortex (vmPFC) และ Insular cortex ในสมองส่วนหน้าที่ไม่สอดประสานกัน

คำถามที่ตามมา คือ ความผิดปกติภายในเป็นเงื่อนไขเดียวที่ทำให้เกิดสภาวะหมดไฟจริงหรือไม่ หรืออาจเกิดจากเงื่อนไขภายนอก เช่น การจัดระเบียบสังคมเชิงโครงสร้าง (Structural Order) เช่น ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบ "เสรีนิยมใหม่" (Neoliberalism) ที่เข้ามากำกับและควบคุมชีวิตผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

"เสรีนิยมใหม่" สร้างสภาวะหมดไฟ "ทั่วโลก"

การวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ชี้ให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปัญหาขึ้นมา มีความเป็นไปได้ว่า ไม่ได้เกิดมาจากปัจเจกบุคคล แต่มาจากสังคม หรือชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุขภาวะทางจิต (Mental Health) มีที่มาจากโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอยู่ทั้งสิ้น “สภาวะหมดไฟ” ก็เช่นเดียวกัน

ข้อมูลจากหนังสือ The Burnout Society เขียนโดย บยอง-ชอล ฮัน (Byung Chul Han) นักปรัชญาเกาหลี เสนอว่า "เสรีนิยมใหม่" ที่ว่าด้วยการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยที่รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซง ทำให้ผู้คนในสังคมที่ต้องการจะอยู่ดีมีสุข มีงานทำ มีกินมีใช้ แรงงานนั้นจะต้องดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ในการทำงานให้ได้มากที่สุด (Self-optimisation) หากทำแบบ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ตลาดย่อมปฏิเสธ และหาบุคคลอื่นเข้ามาทดแทนส่งผลให้ตกงานในที่สุด

เมื่อต้องดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าสิ่งใดที่ได้รับมอบหมายจะยากเกินตัว หรือเกินความสามารถมากเพียงใด จำเป็นที่จะต้องหาวิธีการทำให้สำเร็จจนได้ หากไม่อยากตกงาน เพื่อการเอาตัวรอด (Survival) ในสังคมแบบเสรีนิยมใหม่

เพลงญี่ปุ่น ที่ชื่อว่า Hai Yorokonde ขับร้องโดย Kocchi no Kento เป็นภาพสะท้อนเรื่อง "การทำงานในปัจจุบัน" ที่เข้าใจง่าย ชื่อเพลงมีความหมาย ว่า "ทำด้วยความยินดี" เนื้อเพลงบรรยายถึงพนักงานชั้นผู้น้อยที่ทำงานอย่างแข็งขัน ทำทุกอย่าง ไม่ปริปากบ่น แม้ภายในใจลึก ๆ จะเก็บกดความรู้สึกไม่ดีไว้ก็ตาม และมีท่อนฮุกติดหูที่ร้องว่า "Get it, get it done, get it, gеt it done" หมายถึง "ทำอย่างไว ทำให้เสร็จอย่างไว"

ที่มา: WikiCommons

ที่มา: WikiCommons

ที่มา: WikiCommons

https://www.youtube.com/watch?v=jzi6RNVEOtA

เมื่อสภาวะทางการทำงานเป็นแบบนี้ ส่งผลให้เกิด "การใช้ร่างกายอย่างหนัก (Self-exploitation)" และรู้สึกว่าจะต้องแข่งขัน มีความเก่งมากขึ้นในทุกวัน จึงเป็นที่มาของสภาวะหมดไฟ เพราะเมื่อเสรีนิยมใหม่ต้องการแรงงานแบบ "Yes, We Can" ไม่มีช่องว่างให้ผิดพลาดและล้มเหลว ความเหนื่อยล้า (Exhause) อ่อนเปลี้ยเพลียแรง (Fatique) หรือความกดดัน (Stress) ย่อมเกิดขึ้นและสะสมในทุกวัน กว่าจะผ่านไปได้แต่ละมื้อ แต่ละเดย์ หมดโอกาสให้ทำงานแบบ "เช้าชามเย็นชาม"

ฮัน ชี้ว่า "เกาหลีใต้" เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า กำลังเผชิญกับสภาวะ "สังคมป่วยไข้" (Illness Society) จากการมีวิถีชีวิตที่ต้องทำให้สำเร็จ ล้มเหลวไม่ได้ ทำให้สุด และต้องทำให้โดดเด่น ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในเกาหลีใต้ มีมากเกือบ 2,000 ชั่วโมงต่อปี หรือพีคที่สุดอยู่ที่ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละเกือบ 12 ชั่วโมง นับเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

เมื่อคุณใช้บริการรถไฟใต้ดินของเกาหลีใต้ คุณจะเข้าใจว่า สังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรงคืออะไร … ตู้โดยสารเหมือนศูนย์รวมของคนที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอน [จากการทำงาน] ... เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้คนต่างระทมทุกข์ต่อความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส … สภาวะดังกล่าวกำลังกัดกินไปทั่วทั้งโลก
ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

การทำงานหนักไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้งานออกมาดี หรือสมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังหมายถึง การเติบโตในหน้าที่การงาน อีกด้วย ระบบตำแหน่งไม่ว่าที่ใดก็มีลักษณะเป็น "ยอดพีระมิด" ทั้งนั้น ตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก มีน้อยกว่าตำแหน่งระดับกลางและล่างที่เงินเดือนน้อย

ในอดีตตำแหน่งงานน้อย คนทำงานก็น้อย จึงทำให้เติบโตได้ง่าย แต่ในปัจจุบัน ตำแหน่งงานมีเพิ่มมากขึ้น แต่คนทำงานก็มากตามไปด้วย และต้องจบการศึกษาปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำ ทำให้การแข่งขันสูงลิ่ว ถ้าหากทำงานพลาดขึ้นมา คือ “จบเกม” สภาวะหมดไฟ จึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าแปลกใจ

คนจำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกทรมานกับสภาวะหมดไฟ … ผู้คนไม่สามารถจัดการกับความกดดันจากสภาวะแวดล้อมในที่ทำงานได้ แม้ไม่มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่พวกเขากลับรู้สึกว่า ตนเองทำได้ไม่ดีพอ… สังคมปัจุบันจึงเป็นสังคมในลักษณะ เราทำได้ทุกอย่าง (Can) มากกว่า เราต้องทำทุกอย่าง (Should)
ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

สังคมบีบ "หิวแสง" คนไม่เด่น-ดัง "พ่ายแพ้"

ดังจะเห็นจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้เกิดสภาวะหมดไฟได้ง่ายมาก แรงงานต้องทนทุกข์กับการทำงานให้สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่ออยู่เหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ และความอยู่รอด จึงต้องดึงศักยภาพของตนเองในทุก ๆ วัน ความเหนื่อยล้าสะสม หรือความคิดที่ว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่า เกาะกินจิตใจให้หมดไฟได้ง่าย

แต่การทำงานสุดความสามารถ ไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดในสังคมเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ หากจะเปลี่ยนจาก "รอดตาย เป็น "อยู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ" จะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็น "ผู้หิวแสง" อีกด้วย

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

ที่มา: ThaiPBS Media Stock

หนังสือ The Transparency Society และ Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies of Power เขียนโดย บยอง-ชอล ฮัน เสนอว่า การทำงานหนัก ทำเต็มที่ ทำอย่างสุดความสามารถ น่าชื่นชมก็จริง แต่แรงงานเหล่านั้นเป็น "มาตรฐาน" ของเสรีนิยมใหม่ ระบบเศรษฐกิจนี้ต้องการอะไรที่โดดเด่นมากกว่านั้น ผลลัพธ์ คือ การเกิดขึ้นของแรงงาน "Multi-skilled" หรือ "Multi-tasking" ที่ตำแหน่งงานเดียวต้องทำได้หลากหลาย ไม่จำกัดเพียงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง

เช่น ตำแหน่งงาน UX/UI Designer ที่ทำงานออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น นอกจากพวกเขาจะทำหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ได้แล้ว ยังต้องเขียนโปรแกรม แก้บัค (Bug) มีทักษะการออกแบบ การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ เข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานหรือจิตวิทยา เพื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ตนกำลังทำงานอยู่

สังคมในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจาก "หัวหน้าสั่งให้ทำ" สู่การโหยหาความสำเร็จด้วยตนเอง (From Discipline to Achievement) เพราะไม่มีใครมานั่งบังคับให้แรงงานต้องทำนั่นทำนี่ แรงงานมีหน้าที่ "หาทำ" ให้ตนเองมีความพร้อมในการแข่งขันได้ (Competitiveness) แรงงานจึงต้องมี "ความหิวแสง" อย่างถึงที่สุด เพื่อให้เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานในวงการหันมามอง มีแสงสปอตไลท์สาดส่องลงมาจากความโดดเด่น แตกต่างจากแรงงานทั่ว ๆ ไปในตลาด

แรงงานที่มีความเก่งเป็นเลิศ จำเป็นต้องอวยตนเอง (Self-flattery) หรือ โชว์ของดีที่มีในตัวเองทั้งหมด (Utter Self-illumination) เพื่อความโดดเด่นเหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ และทำให้อยู่ในฐานะตัวเลือกในตลาดแรงงานที่ดีที่สุด

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ เพราะยอดพีระมิดบรรจุคนได้จำกัด ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่มีแสงส่องไปถึง หรือใช้ความมานะอุตสาหะแล้ว ก็ได้เท่านี้จริง ๆ กลายเป็นผู้ที่ “เสรีนิยมใหม่” ไม่เหลียวแล อยู่ในฐานะ "คนพ่ายแพ้ (Loser)" และก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสภาวะหมดไฟหลายคนยอมแพ้ แต่อีกหลายคนก็ยังกัดฟันสู้อยู่บนความทุกข์ในจิตใต้สำนึกนี้

ผลร้ายของการหิวแสง ไม่อยากเป็นคนพ่ายแพ้ของแรงงาน ส่งผลกระทบถึง "การพัฒนาตนเอง (Self-improvement)" ที่ "ฝังหัว (Embedded)" เป็นแรงขับเคลื่อนตลอดเวลา แม้ในชีวิตส่วนตัว (Private)" ดังที่ พัค ชาน-อุค (Park Chan Wook) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวเกาหลีใต้ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า

การจะทำภาพยนตร์ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้สมองหนักอึ้งไปด้วยการคิดถึงแต่สิ่งนี้ … เวลาว่างก็เหมือนเวลาทำงาน

สภาวะหมดไฟ ทางออกเริ่มต้นได้จาก "ตนเอง"

สภาวะหมดไฟ มีผลมาจากเสรีนิยมใหม่ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ ความต้องการทำทุกอย่างออกมาให้ดีที่สุด และทำให้ได้หลากหลาย หากไม่เป็นไปตามนี้ หมายถึง ตกงาน แน่นอน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกันง่าย ๆ เพราะเป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่เกินตัวของคนในสังคมไปมาก

สิ่งที่แก้ไขได้ง่าย ๆ หากต้องการเอาชนะสภาวะหมดไฟต้อง "เริ่มจากตัวเรา" มีความเป็นไปได้หรือไม่ และทำได้อย่างไร ?

ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า แม้สภาวะหมดไฟจะแก้ไขได้ยากในเงื่อนไขภายนอก แต่ตัวเราบริหารจัดการตนเองได้ง่ายกว่ามาก จิตวิทยามีแก่นว่าด้วย "ปัจเจก" ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร สังคมจะเป็นอย่างไร สุดท้ายเราต้องบริหารจัดการระบบประสาทและสมองของเราเองอยู่ดี

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

สภาวะหมดไฟเป็นเรื่องเชิงสัมพัทธ์ (Relative) แต่ละคนมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์ ต้องทำงานออกมาให้ดีที่สุด หรือบางคนเพียงแค่ขี้เกียจ และอ้างหมดไฟ … เราต้องรู้ก่อนว่า มีอะไรที่เราจัดการได้ หรือจัดการไม่ได้ อะไรจัดการได้ ให้ทำให้ดี จะช่วยบรรเทาสภาวะนี้ได้มาก

ผศ.ดร.กุลยา กล่าวต่อว่า การลดสภาวะหมดไฟได้ดีที่สุด คือ การอยู่ในสถานะที่ตนเองนั้น "คุมได้" หมายถึง มีอำนาจจัดการทุกอย่างให้เป็นไปดั่งใจของตนเอง จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ประสบกับสภาวะหมดไฟ จะเป็นตำแหน่งงานในระดับล่าง ๆ หรือนิสิต นักศึกษา มากกว่าระดับหัวหน้างาน หรือ C-level ต่าง ๆ

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

บทความวิจัย Deconstructing Burnout at the Intersections of Race, Gender, and Generation in Local Government เขียนโดย ซินเธีย บาร์โบซา-วิลค์ (Cynthia J Barboza-Wilkes) และคณะ ชี้ว่า นอกเหนือจากตลาดแรงงานแล้ว ประเด็นเรื่องสีผิว เพศวิถี หรือ เจนเนอเรชัน เป็น กลุ่มอัตลักษณ์ที่เกิดสภาวะหมดไฟมากที่สุด เพราะไม่อยู่ในสถานะที่ควบคุมได้ของสังคม ชาวผิวสี LGBTQ หรือ Gen Z มักตกเป็นเป้าของการกดขี่จากผู้มีอำนาจเหนือกว่าเสมอ

ดังนั้น ในสังคมที่ผู้คน "เรียกร้องสิทธิ" กันอย่างมหาศาล ย่อมมีความหวังว่า หากพวกตนได้เป็นใหญ่ สามารถควบคุมได้ทุกอย่าง แม้ไม่มีประสบการณ์บริหาร ย่อมทำให้สภาวะหมดไฟหายไป เป็นการเริ่มต้นจากตนเองและค่อย ๆ รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

ที่มา: Chulalongkorn University

ถึงแม้ว่า เสรีนิยมใหม่ จะทำให้เกิดการแย่งชิงงานและสถานภาพของแรงงานไป แต่ระบบเศรษฐกิจนี้ได้ "สร้างอาชีพใหม่ ๆ" ขึ้นมาเป็นโอกาสให้แรงงานได้รับค่าจ้างอย่างมหาศาล ดังที่ยูเลต์ โรแปร์ (Juliet Roper) และคณะ เสนอไว้ใน บทความวิจัย Neoliberalism and Knowledge Interests in Boundaryless Careers Discourse ว่า องค์ความรู้ของแรงงานกว้างไกล ด้วยเสรีนิยมใหม่ และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อ เปิดโอกาสให้บรรดาผู้ที่ต้องการโดดเด่นในตลาดแรงงาน ได้ศึกษาหาความรู้ เพิ่มทักษะของตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด

การเกิดขึ้นของฟรีแลนซ์ (Freelance) หรือการเซ็นสัญญาจ้างระยะสั้น (Contract) ส่งผลให้แรงงานรับงานได้จำนวนมากขึ้น และบรรดาพนักงานประจำสามารถรับงานนอกได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศได้มากกว่าเดิม แม้ความมั่นคงจะไม่มี แต่เป็นสิ่งที่แรงงานต้องแลกมา และที่ผ่านมาไม่มีการนำเสนอในแง่มุมเชิงบวกนี้

บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล

แหล่งอ้างอิง

อ่านข่าว

แรก ๆ ไฟแรง หลัง ๆ ไฟมอด "Burnout" ภาวะหมดไฟในที่ทำงาน

ThaiPBS Podcast EP. 478: โรคหมดไฟในการทำงาน

เช็ก 3 อาการ ภาวะ "หมดไฟในการทำงาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง