ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บช.น.ตอบประเด็นร้อน! เพราะอะไร ต้อง “จำกัดความเร็ว” บนถนนในกรุงเทพฯ

สังคม
24 ธ.ค. 67
15:59
10,566
Logo Thai PBS
บช.น.ตอบประเด็นร้อน! เพราะอะไร ต้อง “จำกัดความเร็ว” บนถนนในกรุงเทพฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รอง ผบช.น.แจง ทำไมต้องจำกัดความเร็วรถบนถนนใน กทม. ไม่เกิน 50-60 กม./ ชม. ต้องการลดอุบัติเหตุทางถนน และไทยยังเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่ยังไม่จำกัดความเร็ว ต่ำกว่า 60 กม. ในเขตเมือง จากของ 195 ประเทศทั่วโลก

วันนี้ (24 ธ.ค.2567) พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอส ถึงเหตุผลในการออกข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการจำกัดความเร็วและห้ามใช้เสียงในกรุงเทพมหานคร ตามประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 23 ธ.ค.2567 โดยสรุปสาระสำคัญคือ ห้ามรถทุกประเภทใช้ความเร็วเกิน 50 กม./ชม. ในกรุงเทพฯ ชั้นใน (ตามประกาศ) และห้ามใช้ความเร็วเกิน 60 กม./ชม. ในถนนทุกเส้นทาง ในกรุงเทพฯ ยกเว้น ทางด่วนและถนนหลักเชื่อมปริมณฑล 13 เส้นทาง (ตามประกาศ)

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า ระบุว่า แต่เดิมมีข้อบังคับอยู่แล้ว จำกัดความเร็วถนนในกรุงเทพฯ ชั้นในไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือโซนเขตพระราชฐาน แต่การออกข้อบังคับใหม่ ได้เพิ่มเติมคือ “ถนนหน้าพระลาน”

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

ส่วนถนนสายอื่นในกรุงเทพฯ ก่อนนี้บังคับกำหนดความเร็ว จากไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นล่าสุดไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหตุผลหลักก็คือ ต้องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ เน้นวินัยจราจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

อ่านข่าว : มีผลแล้ว จำกัดความเร็วรถไม่เกิน 60 กม./ชม.ถนนทุกสาย กทม.เว้น 13 เส้นทาง

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นอันดับต้นของเอเชีย และฝ่ายเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้มีแค่ตำรวจ ได้ศึกษาพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาก่อนนี้แล้ว มีเหตุผลและความจำเป็นที่อยากให้กรุงเทพมหานคร จำกัดความเร็วเหมือนต่างประเทศ

ตอนนี้ 195 ประเทศทั่วโลก ได้บังคับใช้ความเร็วในเขตเมือง เหลือน้อยกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังมีเหลือเพียง 14 ประเทศในโลกนี้ ที่ยังไม่บังคับใช้เรื่องความเร็วในเขตเมือง รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย

พล.ต.ต.ธวัชกล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่สงกรานต์หรือเทศกาล ที่ทำให้ถนนโล่งก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ตามหลักก็คือการออกประกาศ เพื่อต้องการลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัย โดยการบังคับใช้จะยกเว้นกับถนน 13 เส้น ที่เชื่อมปริมณฑล ที่ไม่ได้บังคับใช้เพราะเห็นว่า ยังใช้ความเร็วในขีดความสามารถ ที่จะบังคับรถให้ปลอดภัยได้ จึงให้คงไว้ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่รวมกับเส้นทางด่วน ทางยกระดับ ที่จะมีกฎหมายจำกัดความเร็วไว้เฉพาะอยู่แล้ว ส่วนรถจักรยานยนต์ ถือว่าถูกบังคับอยู่ในข้อบังคับนี้เช่นเดียวกัน

พล.ต.ต.ธวัช ระบุด้วยว่า อยากให้ช่วยกันรณรงค์และสร้างวินัยด้วยกัน ถ้าเราไม่แก้เรื่องความเร็ว ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาบ้านเราเขาก็ต้องการเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การจราจร ความปลอดภัยทางถนน นี่ก็เป็นเหตุผลหลักด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประชาชนอาจสับสนว่าต้องอย่างไรกันแน่ แต่ถ้าเราอยากเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุ เราต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งทางเราไม่ได้อยากบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย

สำหรับการจับความเร็วก็ไม่ใช่ลักษณะที่ตำรวจจะไปขวางรถหรือจับความเร็วเราก็จะใช้เทคโนโลยีกล้องเข้ามาช่วยการทำหน้าที่

ส่วนข้อสังเกตที่ว่า ตำรวจอาจบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ทั่วถึง กับรถที่ขับเกินความเร็วกำหนด พล.ต.ต.ธวัช กล่าวว่า เมื่อกฎหมายออกมา ถ้าเราบังคับไม่ได้ก็ไม่รู้จะออกมาทำไม ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือและต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เราสูญเสียกันมามากแล้วและช่วง 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ ที่มีการเดินทาง ก็มักจะเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียมาก เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทยที่อยู่ในกรุงเทพฯ

มุมมองสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ คือ การใช้ความเร็ว, ฝ่าไฟแดง, ขี่ย้อนศร, เปลี่ยนเลนกระทันหัน ล้วนเป็นข้อหาที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเรื่องความเร็ว ซึ่งเรื่องความเร็วเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ส่วนเรื่องเมาแล้วขับเป็นอันดับ 3 และอันดับ 2 คือการเปลี่ยนเลน นี่เป็นข้อมูลวิเคราะห์ออกมาจากการที่เราไปสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ จึงนำมาสู่กระบวนการของการป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. (รับผิดชอบงานจราจร)

นอกเหนือนี้ ยังใช้การตักเตือนร่วมด้วย รวมถึงการสร้างความรับรู้การตระหนักรู้ร่วมกันเราอยากให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายหรือออกใบสั่ง ทางตำรวจใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจจับ และมีเครื่องออกใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ ซึ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการพัฒนาเมือง

“ขอฝากไปถึงผู้ที่ไม่สนใจในกฎหมายความเร็ว ใครฝ่าฝืนกฎกติกาซึ่งกฎหมายออกมาแล้ว ผมเชื่อว่าไม่มีใครโต้แย้ง เพราะกฎหมายออกมาบังคับใช้ ร่วมกัน เป็นเรื่องของความปลอดภัย ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากท้าทาย แต่ถ้าจะท้าทาย ขอให้ไปทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ท้าทายได้ในสิ่งที่มันไม่ผิดกฎหมาย

เรื่องของการกำหนดตัวเลขความเร็วจำกัดที่ 50 และ 60 เป็นถือว่าตัวเลขที่เหมาะสมแล้วสำหรับในกรุงเทพฯ และกว่าที่จะเคาะได้ ฝ่ายเกี่ยวข้องใช้เวลานาน คิดกันแล้วคิดกันอีก เกรงว่าประชาชนจะไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายส่วนรวมต้องได้ประโยชน์ เราดูเหตุผล ความจำเป็นรวมถึงดูหลักวิศวกร และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจราจร ความปลอดภัยทางถนนร่วมด้วยช่วยกันวิเคราะห์”

นอกจากนี้ เราต้องมองถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกใบนี้ ดูความเป็นจริงด้วย แล้วเราจะอยู่อย่างไร จะอยู่เป็น 14 ประเทศไปแบบนี้ หรือจะอยู่เป็นประเทศสุดท้ายจนถึงจะคิดเปลี่ยนแปลง และจริง ๆ แล้วความเร็วที่บังคับจะ 80 ลงมาเหลือ 60 ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากถึงที่หมาย ก็ไม่น่าห่างกันเกิน 5 ถึง 10 นาที มันเป็นตัวเลขที่เหมาะและเหมาะสมกับบริบทของบ้านเรา

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง