ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

22 ธ.ค.67 "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

Logo Thai PBS
22 ธ.ค.67 "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี
22 ธ.ค.2567 "วันเหมายัน" ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปีนี้ มีช่วงเวลากลางวันเพียงประมาณ 11 ชั่วโมง 19 นาที

ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า เป็น วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) หรือ Winter Solstice เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และมีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดของปี เนื่องจากดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ผู้สังเกตบนโลกจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น และตกโดยเฉียงไปทางทิศใต้ ไม่ผ่านกลางศีรษะ 

สำหรับคนไทย เรียกวันนี้ว่า "ตะวันอ้อมข้าว" เนื่องจาก เห็นเหมือนดวงตะวันอ้อมนาข้าวในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด

สำหรับวันเหมายันปีนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.37 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.56 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) มีช่วงเวลากลางวันเพียงประมาณ 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ ยังนับเป็นวันย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาว ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว และมีช่วงเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

ปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์

ในรอบ 1 ปี เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้

1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศในซีกโลกใต้

2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน เป็นวันที่ ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว

3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 22 กันยายน เป็นวันที่ ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้มีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน นับเป็นวันเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้  

4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"  นับเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

อ่านข่าว ปิดด่านไทย-เมียนมา อหิวาตกโรคระบาดเมียวดี ป่วย 300 ตาย 2 คน

22 ธ.ค.67 "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ทำไมถึงเรียก "ตะวันอ้อมข้าว"

ทอ.ส่ง F-16 บินพิสูจน์-สกัดอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง