ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สินค้าจีน” กระทบไทย ถูกรุกคืบหรือเราไม่ปรับตัว

เศรษฐกิจ
20 ธ.ค. 67
08:08
1,637
Logo Thai PBS
“สินค้าจีน” กระทบไทย ถูกรุกคืบหรือเราไม่ปรับตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทุกวันนี้ตามท้องตลาดในประเทศไทย เราพบเห็นสินค้าที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และแทบจะทุกประเภท ตั้งแต่สินค้าราคาแพง อย่างรถยนต์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ฯลฯ

ไปจนถึงสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า สมุด ดินสอ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ถึงอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้ เครื่องปรุงรส ฯลฯ

หากมองแบบทั่วไป อาจคิดได้ว่า ชนิดและประเภทของสินค้าจำนวนมาก ทำให้เกิดความหลากหลาย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

แต่หากมองในแง่ธุรกิจ เศรษฐกิจ การนำเข้าส่งออก การลงทุน และการแข่งขันทางการค้า ฯลฯ สินค้าจากจีนก็ส่งผลกระทบทางเชิงบวกและเชิงลบต่อหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะสินค้าจากจีนเท่านั้น ที่นำเข้ามาแข่งขันในตลาดของไทย ยังมีสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่น ที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทยด้วย

โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 24.4) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 10.8) สหรัฐฯ (ร้อยละ 6.7) ไต้หวัน (ร้อยละ 5.7) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 5.6)

ไทยนำเข้าสินค้าอะไรจากจีนบ้าง

ปัจจุบันสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมีหลายประเภท
1.เครื่องจักรกล เช่น เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต เครื่องจักรการเกษตร และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
2.อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ เครื่องเสียง ผู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ และชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์
3.ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เสริมยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนภายในรถ ฯลฯ
4.วัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น เพดาน ท่อน้ำ ฯลฯ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เช่น อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ อุปกรณ์ห้องน้ำ กระจก ฯลฯ

5.สินค้าเกษตร ผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฯลฯ ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร ผักและผลไม้ต่าง ๆ อุปกรณ์ทำการเกษตร เครื่องมือทำสวน เครื่องมือทำการเกษตร
6.วัสดุเคมีและพลาสติก สารเคมี เช่น สารเคมีสำหรับอุตสาหกรรม สารเคมีทำความสะอาด สารเคมีในการผลิตอุตสาหกรรม
7.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้า เส้นใยสิ่งทอ ฯลฯ
8.เครื่องใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ เตียง เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ฯลฯ

9.อุปกรณ์กีฬาและของเล่น อุปกรณ์ฟิตเนส ของเล่นเด็ก ฯลฯ
10.เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น เครื่องสำอางที่ใช้สำหรับหน้า ผิว ผม ยา ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารเสริม ฯลฯ
11.อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องตรวจสุขภาพ อุปกรณ์ผ่าตัด เครื่องตรวจวัดทางการแพทย์
12.สินค้าสำเร็จรูป เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ

อ่านข่าว : คดีดังสะเทือนไทย ปี 2567 "รถบัสไฟไหม้-ดิไอคอน"

5 อันดับสินค้านำเข้าจากจีน

ขณะที่ ปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ ระบุสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน 5 อันดับ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า 43.9 เปอร์เซ็นต์ ผักผลไม้สดปรุงแต่ง 10 เปอร์เซ็นต์ เสื้อผ้า-รองเท้า 9.3 เปอร์เซ็นต์ เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1 เปอร์เซ็นต์ ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9.0 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 นับตั้งแต่ปี 2557 แทนที่ญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าแต่ละประเภทจากประเทศจีน ข้อมูลจากกรมศุลกากร และกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2022 ระบุว่า

1.เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2.อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่านำเข้าประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3.สินค้าการเกษตร มูลค่าการนำเข้าประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4.วัสดุก่อสร้าง มูลค่าการนำเข้าประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5.ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการนำเข้า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6.เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่าการนำเข้า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
7.เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลค่าการนำเข้า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
8.เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม มูลค่าการนำเข้าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
9.สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป มูลค่าการนำเข้าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
10.สินค้าสำเร็จรูป มูลค่าการนำเข้าประมาณ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผลกระทบที่เกิดกับผู้ผลิตสินค้าไทย

การนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจำนวนมากและหลากหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน

1.สินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน มีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่ามาก ค่าแรงถูกกว่า รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ที่เน้นส่งเสริมการส่งออก ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่า สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย

ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศไทย ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ เลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า แม้ว่าสินค้าจีนบางชนิด อาจมีคุณภาพใกล้เคียงกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย

2.หน่วยงานของรัฐบาลไทย ไม่มีการคุ้มครองผู้ผลิต หรือนักลงทุนในประเทศไทย ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศจีน มีการผลิตและนำเข้าในปริมาณมาก ขณะที่มีราคาต่ำ จนเกิดการล้นเกินของตลาด (Overcapacity) ทำให้ผู้ผลิตในประเทศ ไม่สามารถแข่งขันราคาได้ หลายรายต้องปิดกิจการ หรือหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

3.เมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า ที่ผลิตและนำเข้าจากจีนจำนวนมากขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในไทยขาดแรงจูงใจ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือปรับปรุงคุณภาพเพื่อแข่งขันได้ในระยะยาว ทำให้การผลิตในประเทศไทย ไม่สามารถยกระดับได้

4.หากมีการนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนมากขึ้นในระยะยาว อาจทำให้สินค้าจีนบางชนิดครองตลาดไปโดยปริยาย ทำให้ผู้ผลิตในไทยขาดโอกาสในการเติบโต และขยายตลาด และหากไม่มีการแข่งขันที่เพียงพอ ผู้ผลิตอาจไม่ได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

5.การนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนมาก ทำให้การผลิตสินค้าบางชนิด ต้องปรับลดต้นทุน ลดคุณภาพวัตถุดิบ กระทั่งไปถึงลดการจ้างงาน ทำให้มีคนตกงาน

6.การขาดดุลการค้า ระหว่างมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยกับจีน เพราะเมื่อนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่าสูงกว่าการส่งออกสินค้าไทย จะทำให้ไทยต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

อ่านข่าว : ย้อน "เหตุการณ์สุดช็อก" โลกต้องจำ ปี 2567

โรงงานปิดกิจการกว่า 600 แห่ง

เดือน ส.ค.2567 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.2567) มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ 667 โรง มีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการ 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 54 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานที่ปิดตัวลงใน 7 เดือนแรกของปีนี้ กับโรงงานที่ขอตั้งใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน

ส่วนสถิติการปิดโรงงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ในขณะที่มีการเปิดโรงงานใหม่ (รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบแล้ว) เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง

อย่างไรก็ตามแม้จำนวนการปิด-เปิด โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย จะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอย่างชัดเจน หรือสะท้อนว่า ได้รับผลกระทบจาก “สินค้าจีน” โดยตรงก็ตาม แต่มักเป็นตัวเลขที่ถูกนำมาอ้างถึง เนื่องเพราะสินค้าที่นำเข้าจากจีนมีแทบทุกประเภท และส่วนใหญ่ก็ตรงกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย

“ดร.สินติธาร” วิเคราะห์ปัญหาสินค้าจากจีน

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์บน Facebook ไว้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ระบุว่า หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูก ทะลักเข้าไทยเสมือน “ปัญหาน้ำท่วม” การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า ทำไม “น้ำ” (สินค้าจากจีน) จึงล้น และน้ำเหล่านี้ไหลผ่าน “แม่น้ำ” (ช่องทางการขาย)สายไหนบ้างมาที่ไทย

ในฐานะคนที่เคยทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์ม และวิเคราะห์การค้า-การลงทุนระหว่างประเทศมานาน อยากชวนแกะประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ ที่คิดว่ามีความซับซ้อนสูง เพราะมีหลายปัญหาถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน

เริ่มจาก 6 แม่น้ำ ที่เป็นเส้นทางสำคัญที่สินค้าไหลเข้าประเทศ (ตามภาพแผนผังประกอบ)

1.Trader คนไทย (offline/online) - ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อขายในร้านค้าทั่วไปในไทย หรือผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazada และ Tiktok เพื่อขายให้ผู้บริโภคไทย
ผลกระทบ : อาจมีผลเสียต่อผู้ผลิตในประเทศ เพราะต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่อย่างน้อยรายได้ยังอยู่กับคนไทยที่นำสินค้าเข้ามาขาย

2.Crossborder sellers - ผู้ขายในต่างประเทศ ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย โดยไม่ต้องจดทะเบียนในประเทศ
ผลกระทบ : เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศ อาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ

3.Trader ต่างชาติแปลงตัวเป็นไทย - ผู้ขายต่างชาติ เปิดธุรกิจและร้านค้าออนไลน์ในไทย แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้านำเข้าจากจีน
ผลกระทบ : ผู้ขายต่างชาติในร่างไทยเหล่านี้ ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย และมักหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือธุรกิจในท้องถิ่นในหลายมิติ (และปัญหานี้ก็ไม่ได้อยู่แต่ในภาคการค้าเท่านั้น แต่กระทบหลายอุตสาหกรรม)

หลายกลวิธีเลี่ยงกฎหมาย-ภาษีของไทย

4.Factory 2 consumer โมเดล - แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Temu อาจช่วยให้โรงงานในจีนสามารถ bypass ร้านค้า ขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย ถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด
ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศ อาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาถูกมาก นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ อาจยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มี “ผู้ขาย” ชัดเจน

โจทย์สำคัญคือ จะสังเกตได้ว่า ปัญหาสำคัญของช่องทาง 2-4 คือ การไม่บังคับใช้กฎกติกาที่มีของไทย ทั้งเรื่องมาตรฐานสินค้า ภาษีต่าง ๆ ฯลฯ กับคนขายต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ (Cross border) กลายเป็นว่า กฎกติกาของไทย ทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียเอง

หัวใจคืออย่างน้อยควรสร้าง Level playing field ทางกฎกติกา ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่มีอยู่แล้ว กับธุรกิจและคนขายต่างชาติ ที่อยู่ในและนอกประเทศ ทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค, ภาษี และ พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว

เท่าที่เข้าใจบางส่วนเป็นปัญหาเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่ต้องมีการอุดรอยรั่ว แต่บางส่วนเป็นแค่เรื่องการบังคับใช้กฎที่มีอยู่แล้ว

อ่านข่าว : มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"

แนะปรับตัวสร้าง Value added ได้มากขึ้น

5.China +1 โมเดล - สงครามการค้าทำให้บริษัทข้ามชาติ เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่เคยส่งออกจากโรงงานในจีน ไปอเมริกาตรง เปลี่ยนเป็นส่งจากจีนมาไทยก่อน แล้วค่อยไปอเมริกา ในกรณีนี้ ไทยนำเข้าวัตถุดิบ หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีน เพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การนำเข้าประเภทนี้ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ อาจทำให้เกินดุลกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น (เช่น สหรัฐฯ) จึงไม่ควรดูแต่ดุลการค้าไทย-จีนเท่านั้น อาจได้ภาพไม่ครบ และหากกีดกันสินค้าประเภทนี้ อาจมีต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยสูง

โจทย์สำคัญ : ในอนาคตต้องพยายามดึงการผลิตให้มาอยู่ในประเทศให้มากที่สุด และพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้สร้าง Value added ได้มากขึ้น จะได้ลดการนำเข้า, เพิ่มมูลค่าให้การส่งออก, สร้างงาน-รายได้ในประเทศ (เช่น อุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย)

6.แพลตฟอร์มต่างชาติ - แพลตฟอร์มเป็นของคนสัญชาติใด จดทะเบียนในไทยหรือไม่ เรื่องนี้ชอบถูกผสมเข้าไปกับประเด็นที่ว่า คนขายเป็นคนไทยหรือเปล่า และผู้ผลิตสินค้าอยู่ในไทยหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคนละประเด็นกัน

โจทย์สำคัญ: ความจริงประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่แพลตฟอร์มเป็นสัญชาติไหน เพราะแพลตฟอร์มไทย ก็อาจนำสินค้าเข้ามาจากจีน หากต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และแพลตฟอร์มต่างชาติก็มีคนขายสัญชาติไทย

สิ่งสำคัญไม่ใช่การขาย แต่เป็นการทำตามกฎหมาย-เสียภาษี

หัวใจ คือไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์สัญชาติไหน หากมีธุรกิจในไทยก็ควร :
- ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
- จ่ายภาษีในไทย
- และจะให้ดีต้องช่วยพัฒนา SMEs ไทยด้วย โดยเราควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติ ที่มีสาขาในหลายประเทศ เป็นช่องทางช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย พัฒนา SMEs ให้กลายเป็น exporter ได้เจาะตลาดใหม่ๆ อย่างที่หลายประเทศก็ทำมาแล้ว

แต่ประเด็นที่แก้ยากที่สุด และเป็น “ต้นน้ำ” ของปัญหาก็คือ สภาวะกำลังผลิตเกินในประเทศจีน (Oversupply/Overcapacity) ทำให้ต้องระบายส่งออกสินค้าในราคาถูกสู่โลก ซึ่งทำให้ไปแข่งกับสินค้าส่งออกไทยในตลาดอื่นอีกด้วย

เสมือนน้ำที่ล้นเขื่อน ต่อให้เราพยายามกั้นแม่น้ำต่าง ๆ สุดท้ายน้ำก็จะไหลมาอยู่ดี ในช่องทางใหม่ๆ ต่อให้ปิดรูรั่วทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ก็ต้องยอมรับว่า หลายสินค้าจากจีนก็อาจจะต้นทุนถูกกว่าไทยอยู่ดี

เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลก ที่ไม่ได้แก้ได้ง่าย ๆ หลายธุรกิจหาตลาดส่งออกใหม่, สร้างแบรนด์, และ ขยับขึ้น value chain เพื่อไม่ต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกโดยตรง แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนทำได้

ส่วนบางประเทศเลือกใช้กำแพงภาษีหรือมาตราการป้องกันการทุ่มตลาดในบางสินค้า แต่ก็ต้องระวัง เพราะหากทำผิดพลาด อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจในประเทศ และทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอีก

ข้อวิเคราะห์ของ ดร.สันติธาร ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ทั้งในแง่การนำเข้าสินค้าจากจีน ช่องทางการขาย การผลิต และการบังคับใช้กฎหมายของไทยเอง ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย และมีทั้งเอื้อให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขาย รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย

SMEs แนะตั้งองค์กรสร้างอำนาจต่อรอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสินค้าจีน และทุนจีนที่มารุกตลาดประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งสมาพันธ์ฯ เคยเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้แก้ปัญหานี้ ด้วยการเจรจาตกลงระหว่างไทย-จีน ให้มีการทบทวนอัตราภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี โดยให้คำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบการไทย

พร้อมกำชับผู้ค้า ขาย หรือนำเข้าสินค้าจากจีน ให้ทำการค้าอย่างถูกกฎหมาย ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ให้สร้างนวัตกรรมและแบรนด์ เพื่อขยายการเติบโตการค้าออนไลน์ โดยไม่ให้ถูกรุกฝ่ายเดียว

และควรจัดตั้งองค์กร Public Private Partnership ขับเคลื่อนความร่วมมือรัฐ เช่น องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) และตลาดภาคเอกชน ช่วยกันซื้อ ช่วยกันขาย สินค้าเกษตร OTOP SME เป็นต้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับสินค้านำเข้า

30 กลุ่มธุรกิจสะท้อนปัญหา-ภาพรวมผลกระทบ

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน 30 กลุ่มธุรกิจ ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมต่าง ๆ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกล และโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SMEs ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้าของสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพและราคา

โดยผู้ประกอบการได้เสนอปัญหา และผลกระทบในภาพรวม ที่ส่งผลต่อสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคบริการและการลงทุน ปัญหาด้านมาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้า การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการ และภาคการผลิต ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย และผู้บริโภคชาวไทย

และให้ข้อเสนอแนะการเพิ่มความเข้มงวด ในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การใช้มาตรการทางภาษี เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย ด้านการผลิตและศักยภาพการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สินค้าและธุรกิจไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ การปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย

แก้ปัญหา “สินค้าจีน” อย่างไร ไม่ให้กระทบไทย

การแก้ปัญหาสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากเกินไป ทำได้หลายวิธี โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการเปิดรับสินค้านำเข้า และการคุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ

1.การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ
การสนับสนุนผู้ผลิตไทย : รัฐบาลควรส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น ด้วยการให้สิทธิประโยชน์หรืออุดหนุนการผลิต เช่น การลดภาษี หรือให้เงินสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทยที่มีคุณภาพ
พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม : ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง

2.การกำหนดกฎหมายและนโยบายการนำเข้า
การตั้งภาษีการนำเข้า : การปรับภาษีนำเข้าให้เหมาะสมกับการคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ เพื่อไม่ให้สินค้าจีนที่มีราคาถูกเกินไปทำลายตลาดภายในประเทศ

มาตรการกีดกันการนำเข้าที่ไม่เป็นธรรม : หากพบว่า การนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน เป็นการทุ่มตลาด หรือมีราคาต่ำเกินไป รัฐบาลสามารถใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด เพื่อคุ้มครองธุรกิจในประเทศ

3.การสร้างตลาดใหม่และส่งเสริมการส่งออก
ขยายตลาดการส่งออกของไทย : พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ
การทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) : การทำข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย และลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน

4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความแตกต่าง
พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่ม : พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากสินค้าจีน โดยเน้นสินค้าพรีเมียม หรือสินค้าที่เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาแบรนด์: สร้างแบรนด์ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่า

5.การส่งเสริมการศึกษาและทักษะการทำงาน
อบรมทักษะการทำงาน : ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ เพื่อให้คนไทยทำงานในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาสินค้าจากจีน

6.รณรงค์ให้คนไทยเลือกซื้อสินค้าของไทย : ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวม ตั้งแต่ต้นทางของปัญหาที่ว่า “สินค้าจีน” รุกตลาดไทย กระทบกับผู้ผลิตและผู้ค้าที่อยู่ในประเทศไทย การแก้ปัญหาอาจมองได้ทั้งสองมุมมอง ทั้งในแง่ผู้บริโภค ที่ผู้ผลิตไทยควรผลิตสินค้า ให้มีคุณภาพดี และแตกต่างจากสินค้าจีน และจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม

ประกอบกับรัฐบาลไทย ควรให้การดูแลปัญหาอย่างจริงจังมากกว่านี้ ทั้งการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน, การส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าของไทย และการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากจีนอย่างจริงจัง ที่ไม่ปล่อยให้สินค้าคุณภาพต่ำ แต่อ้างว่าราคาถูก เพียงอย่างเดียว เกลื่อนตลาดอยู่เช่นทุกวันนี้

อ่านข่าว : คืนดาวกลับฟ้า "คนบันเทิง-ดารา" เสียชีวิตปี 2567

มรสุมถาโถม "คนดัง-อินฟลูฯ" ต้องคดีสำคัญ คอตกเข้าเรือนจำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง