ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มรสุมถาโถม "คนดัง-อินฟลูฯ" ต้องคดีสำคัญ คอตกเข้าเรือนจำ

อาชญากรรม
18 ธ.ค. 67
08:00
161
Logo Thai PBS
มรสุมถาโถม "คนดัง-อินฟลูฯ" ต้องคดีสำคัญ คอตกเข้าเรือนจำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"คุก" ไม่ได้มีไว้ขังคนจนอีกต่อไป ในช่วงปี 2567 มักเห็นภาพคนดังหลากหลายวงการ เช่น นักการเมือง ดารานักแสดง ไฮโซ อินฟลูเอนเซอร์ ทยอยเดินเข้าคุกในคดีความผิดต่างกรรมต่างวาระ เช่น คดีฉ้อโกง คดีพนันออนไลน์ คดีฟอกเงิน รวมถึงคดีร่วมกันฆ่าฯ

ชีวิตพลิกกลับจาก "เจ้าหญิง" เปลี่ยนเป็น "จำเลย"

"แยม-ธมลพรรณ์" อดีตนักแสดงละครย้อนยุคที่หันหลังให้กับวงการบันเทิง หลังจากแต่งงานสร้างครอบครัวกับหนุ่มนักธุรกิจ แม้ไม่มีผลงานให้เห็นผ่านหน้าจอทีวีแล้ว แต่แยมยังคงอัปเดตชีวิตผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอและมักปรากฏภาพที่แสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ระดับลักซ์ชัวรี

ชีวิตพลิกผัน เมื่อแยมและสามีกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจกองบังคับการปราบปรามรวบตัวในเดือน ธ.ค.2565 ถูกดำเนินคดีในข้อหา "ร่วมกันเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจาร, ร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือชักชวนผู้อื่นให้พนันออนไลน์, สมคบเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน" พร้อมอายัดรถหรูหลายคัน เงินสดและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท หลังตำรวจตรวจสอบพบความเชื่อมโยงกับเว็บพนันออนไลน์

กระทั่งวันที่ 18 ก.ค.2567 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก "แยม" เป็นเวลา 5 ปี ในขณะที่สามีถูกตัดสินจำคุก 20 ปี

"แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" อินฟลูฯ ไลฟ์ขายทอง สู่คดีฉ้อโกง

อีกหนึ่งคู่สามี-ภรรยาที่ปรากฏภาพความร่ำรวยในโซเชียลฯ อยู่เป็นประจำ "ตั๊ก-กรกนก" และ "เบียร์-กานต์พล" เจ้าของธุรกิจอาหารเสริมและธุรกิจร้านขายทองชื่อ "ร้านเพชรทองเคทูเอ็น" ภายใต้บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด โดยนำทองคำมาไลฟ์ขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด จนมีผู้สนใจซื้อจำนวนมาก

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าที่ซื้อทองไปไม่สามารถนำทองไปขายต่อได้ เพราะร้านไม่รับซื้อ เนื่องจากเป็นทองไม่ได้เปอร์เซ็นต์และไม่มีใบรับรอง หรือรับซื้อในราคาต่ำหลายเท่าตัว จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งแม่ตั๊กและป๋าเบียร์ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ขายทองปลอม ส่วนของแถมที่ให้ลูกค้า เช่น ดอกไม้ทองคำ ไม่ใช่ทอง แต่ก็มีต้นทุน

ขณะเดียวกันก็มีผู้เสียหายแห่ไปร้านทองต้นเรื่อง เพื่อขายทองคืน และแจ้งความดำเนินคดีด้วย ร้อนถึงหน่วยงานต้องออกมาตรวจสอบทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

ตำรวจเข้าจับกุมแม่ตั๊กและป๋าเบียร์ที่บ้านพักย่านรามอินทรา ในเดือน ก.ย.2567 และอายัดทรัพย์สินอีกจำนวนมาก แต่ทั้ง 2 คนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตำรวจส่งศาลฝากขังและคัดค้านการประกันตัว พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดด้วย

วันที่ 15 พ.ย.2567 อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 คน คือ บริษัท เคทเอ็นโกลด์ จำกัด โดยนายกานต์พล ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1, นายกานต์พล หรือป๋าเบียร์ ผู้ต้องหาที่ 2, น.ส.กรกนก หรือแม่ตั๊ก ผู้ต้องหาที่ 3 ในฐานความผิด ร่วมกันฉ้อโกงฯ, นำเข้าข้อมูลเท็จ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคฯ และร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนี้ "แม่ตั๊ก" ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วน "ป๋าเบียร์" คุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เด็ด "ดิไอคอน" สะเทือน 3 บอสดารา

ต้นเดือน ต.ค.2567 เริ่มมีกระแสเกี่ยวกับบริษัท The iCON Group ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและความงาม ก่อตั้งโดย "พอล-วรัตย์พล" เจ้าของวลีดัง "ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย" บริษัททำธุรกิจขายสินค้าผ่านตัวแทนและเปิดคอร์สสอนขายออนไลน์ รวมถึงเชิญชวนให้สมัครสมาชิก แต่มีผู้เสียหายบางคนร้องเรียนว่าสินค้าไม่สามารถขายได้จริงตามที่โฆษณาไว้ โดยมีผู้เสียหายจำนวนมากทยอยเข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปราม

ในบรรดา "บอส" 18 คนของบริษัทดิไอคอนฯ นอกจาก "บอสพอล" ที่เป็นเจ้าของแล้ว สังคมยังจับจ้อง 3 บอสดารา คือ แซม-ยุรนันท์, กันต์-กันตถาวร และ มิน-พีชญา ที่มีชื่อเกี่ยวข้องและพบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับบริษัท

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นคนดังและมีชื่อเสียงของพวกเขา สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สนใจร่วมลงทุน แต่ภายหลังทั้ง 3 คนออกมาแถลงข่าวระบุว่าเป็นเพียงผู้รับจ้างเท่านั้นและขอยุติสัญญาทั้งหมดกับดิไอคอน

ต่อมาตำรวจขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาคดีดิไอคอนฯ หลายคน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 3 บอสดาราแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงบอสพอล นอกจากนี้ตำรวจยังตรวจยึดทรัพย์สินหลายรายการของผู้ต้องหาทั้งหมดที่เชื่อว่าน่าจะได้มาจากการกระทำความผิด รวมมูลค่ากว่า 219 ล้านบาท

กระทั่งวันที่ 17 ต.ค.2567 ตำรวจควบคุมตัว 17 บอสดิไอคอนฯ รวมทั้ง "แซม-กันต์-มิน" ส่งศาลฝากขัง ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาต เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวส่งเข้าเรือนจำทันที ส่วนบอสพอลส่งฝากขังในวันรุ่งขึ้น

สกัดจับ "ทนายตั้ม" คดีลวงเงินเจ๊อ้อย

ช่วงสายวันที่ 7 พ.ย.2567 ตำรวจสกัดรถยนต์หรูคันหนึ่งกลางถนนใน จ.ฉะเชิงเทรา แล้วแสดงตัวเข้าจับกุม "ทนายตั้ม" หรือนายษิทรา ทนายความชื่อดัง พร้อมภรรยา หลังศาลอนุมัติหมายจับข้อหาฉ้อโกง, ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินฯ

นายษิทรา ถูกนางจตุพร หรือ เจ๊อ้อย แจ้งความดำเนินคดีกรณีเงิน 71 ล้านบาทและกรณีเงิน 39 ล้านบาท โดยในคำร้องตำรวจระบุพฤติการณ์ของนายษิทรา ว่า เจ๊อ้อย ได้ว่าจ้างให้นายษิทราเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จากนั้นผู้ต้องหาได้หลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อและมอบเงินให้หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ

ทั้งการหลอกลงทุนขายล็อตเตอรีออนไลน์ อ้างจ่ายเงินค่าเขียนโปรแกรม จำนวน 2 ล้านยูโร หรือประมาณ 71 ล้านบาท, หลอกซื้อรถยนต์หรูราคา 12.93 ล้านบาท โดยได้ส่วนต่าง 1.53 ล้านบาท, ว่าจ้างบริษัทเขียนแบบก่อสร้างโรงแรม 9 ล้านบาท โดยได้ส่วนต่าง 5.5 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และผู้ต้องหามีการกระทำต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งเข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน

วันที่ถูกจับกุม นายษิทราอ้างว่ากำลังเดินทางไปปฏิบัติธรรม แต่ตำรวจระบุว่านายษิทราและภรรยามีพฤติการณ์จะหลบหนีออกนอกประเทศ โดยได้ควบคุมตัวมาสอบปากคำและในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 2 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกและคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตฝากขังและไม่ให้ประกันตัว ทำให้ทั้งนายษิทราและภรรยาถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

"ตี่ลี่ฮวงจุ้ย" ซินแสสายมู ลวงซื้อวัตถุมงคล

หลังจากเพจดังออกมาแฉว่ามี "หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง" หลอกผู้เสียหายทำพิธีปรับฮวงจุ้ยบ้านและลวงให้ซื้อวัตถุมงคลราคาแพง แต่ไม่ได้ของ จนทำให้สูญเงิน 66 ล้านบาท โดยผู้เสียหายได้แจ้งความกับตำรวจ สน.บางกอกน้อย ให้ดำเนินคดีกับนายธนวันต์ หรือ ตี่ลี่ฮวงจุ้ย

นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายคนอื่น ๆ ไปแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ จ.ชลบุรี รวมถึงเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งตำรวจพบว่ามีผู้เสียหายถูกหลอกมากกว่า 60 คน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท

ศาลอาญาออกหมายจับนายธนวันต์ ในความผิดฐานฉ้อโกงและฟอกเงิน โดยตำรวจเฝ้าติดตามพฤติกรรมและเข้าจับกุมตัวนายธนวันต์ ในเช้ามืดวันที่ 11 พ.ย.2567 ขณะกำลังออกจากสำนักงานของบริษัท ตี่ลี่ ฮวงจุ้ย จ.ปทุมธานี

ผู้ต้องหาให้การภาคเสธ ยอมรับว่าเป็นคนแนะนำให้ผู้เสียหายซื้อหินปูพื้นจากประเทศจีน เพื่อแก้เคล็ดเสริมดวงชะตาจริง แต่ไม่มีเจตนาฉ้อโกง พร้อมยอมรับว่าระยะหลังติดการพนัน จึงนำเงินที่ผู้เสียหายให้มาไปเล่นพนันจนหมด ทำให้ขาดสภาพคล่อง เจ้าหน้าที่คุมตัวส่งฝากขังศาลอาญาและคัดค้านการประกันตัว เพราะผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี รวมถึงคดีนี้มีผู้เสียหายหลายคนและมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก

คลิปลับ ส. อดีตโฆษกพรรคการเมือง ตบทรัพย์บอสพอล

กรณีคลิปเสียง "นักการเมือง ส." พูดคุยกับ "บอสพอลดิไอคอน" ในลักษณะเรียกรับทรัพย์ แม้นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ตนเอง และขู่ฟ้องกลับผู้ที่ทำให้เสียชื่อเสียง แต่หลังจากนั้นนายสามารถได้ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิก พปชร. และไม่มีใครพบตัวเขา

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ออกมาให้ข้อมูลว่า สืบสวนพบการโอนเงินระหว่างบอสพอลและนายสามารถ ตั้งแต่ช่วงปี 2564 ซึ่งพบว่ามีเงินในบัญชีของแม่นายสามารถ กว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่โอนจากบอสพอล ประมาณ 2.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการรับโอนเงินจากทางอื่น นอกจากนี้ยังพบการรับโอนจากบอสดิไอคอนฯ คนอื่นอีกหลายแสนบาท แม้ผู้ต้องหาจะอ้างว่าเป็นเงินทำบุญ แต่ดีเอสไอมองว่าพฤติการณ์อาจไม่ใช่เงินทำบุญ เพราะมีการจ่ายเงินทุกเดือนและเป็นไปตามวงรอบ

ขณะเดียวกันดีเอสไอพบว่า นายสามารถใช้เงินผ่านบัญชีแม่ของตัวเอง เพราะเมื่อบอสดิไอคอนฯ โอนเงินเข้าบัญชีแม่ แม่จะโอนต่อมายังบัญชีของนายสามารถ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน จึงได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับนายสามารถกับแม่ พร้อมตรวจค้นบ้านพัก แต่ไม่พบตัวนายสามารถ

จนวันที่ 25 พ.ย.2567 ตำรวจจับกุมนายสามารถได้ที่ จ.เชียงราย อ้างว่าเดินทางไปทำบุญที่วัดใน ต.แม่ยาว เจ้าหน้าที่ส่งตัวนายสามารถกลับมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ จากนั้นพนักงานสอบสวนดีเอสไอนำตัวนายสามารถและแม่ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวแม่ แต่ไม่ให้ประกันนายสามารถ ส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

บ้านใหญ่ "วิลาวัลย์" พัวพันคดีฆ่า "สจ.โต้ง" ปราจีนฯ

บิ๊กเนมการเมืองท้องถิ่นปราจีนบุรี "สุนทร วิลาวัลย์" หรือ โกทร ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าฯ "สจ.โต้ง" นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หลังเกิดเหตุยิง สจ.โต้ง เสียชีวิตในบ้านพักของนายสุนทร คืนวันที่ 11 ธ.ค.2567

คดีนี้ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คน รวมนายสุนทร พร้อมแจ้งข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พร้อมนำตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลจังหวัดปราจีนบุรีฝากขังผลัดแรก

ทนายความและญาติของนายสุนทรยื่นหลักทรัพย์ขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษสูงและผู้ต้องหายังมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล โดยให้ควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 7 คนไปคุมขังในเรือนจำกลางจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นเรือนจำความมั่นคงสูง

คดีสังหาร สจ.โต้ง แม้ผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นลูกน้องของนายสุนทร จะอ้างว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว แต่เบื้องต้นตำรวจให้น้ำหนักไปที่เรื่องการเมืองท้องถิ่น ซึ่งภายหลัง นายทักษิณ ชินวัตร ออกมาระบุว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมส่งภรรยาของ สจ.โต้ง ลงสมัครนายก อบจ.ปราจีนบุรี ขณะที่ตระกูลวิลาวัลย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผู้สมัครนายก อบจ.หรือไม่ แต่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าจะส่งคนในตระกูลลงชิงตำแหน่งนี้

ด้าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การทำคดีนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวล จากหลักฐานและข้อมูลจากพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ พบว่าไม่ใช่การบันดาลโทสะ แต่เป็นการวางแผนมาแล้ว

หมายเหตุ : สำหรับผู้ต้องหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด

อ่านข่าว

ย้อน "เหตุการณ์สุดช็อก" โลกต้องจำ ปี 2567

คดีดังสะเทือนไทย ปี 2567 "รถบัสไฟไหม้-ดิไอคอน"

ที่สุดแห่งปี แวดวงกีฬาไทย ปี 67 สุดคึกคัก

มหาภัยพิบัติ หายนะโลกปี'67 ป่วนสุดขั้วใกล้ตัว "มนุษยชาติ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง